การปกครองท้องถิ่นเวียดนามก้าวหน้ากว่าไทย? | ชำนาญ จันทร์เรือง

การปกครองท้องถิ่นเวียดนามก้าวหน้ากว่าไทย? | ชำนาญ จันทร์เรือง

ผู้อ่านเมื่อเห็นชื่อหัวข้อบทความนี้อาจจะงงๆ ว่าเป็นไปได้หรือ เพราะขึ้นชื่อว่าประเทศสังคมนิยมย่อมที่จะจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชน มากกว่าในฝ่ายเสรีประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

ผมขอเรียนว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นบางส่วนเท่านั้น เพราะการปกครองท้องถิ่นนั้น นอกเหนือจากมิติทางการเมืองแล้ว ยังมีมิติทางด้านอื่นอีกมาก อาทิ เศรษฐกิจ สังคม การเงิน การคลัง ส่วนแบ่งรายได้ ฯลฯ 

แน่นอนว่าในด้านสิทธิทางการเมืองการปกครองทั่วไปของประเทศสังคมนิยมจะเป็นการปกครองที่เรียกว่าโคงสร้างขนานระหว่างพรรคกับรัฐ คือ พรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จนไม่สามารถแยกพรรคกับรัฐออกจากกันได้ 

เพราะผู้บริหารและสมาชิกสภาฯในทุกระดับต่างเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเวียดนามก็เป็นเช่นนั้น  แต่เป็นที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่าในการปกครองท้องถิ่นของเวียดนาม นั้น  การได้มาซึ่งผู้บริหารหรือสภาท้องถิ่นจะผ่านการเลือกตั้งในรูปแบบที่รัฐสามารถควบคุมได้ คือ จัดให้มีการเลือกตั้งจริงในหน่วยการปกครองท้องถิ่นต่างๆ แต่ในการเลือกตั้งนั้นไม่มีการแข่งขัน 

ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ และต้องได้รับการรับรองจากพรรคคอมมิวนิสต์ก่อน จึงจะสามารถสมัครเข้าเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นได้

โครงสร้างการปกครองของเวียดนามนั้นน่าสนใจมาก เพราะมีแบ่งเป็น 2 ระดับ(two-tiered government system) คือ ราชการส่วนกลาง(central government)กับราชการส่วนท้องถิ่น(local government) เท่านั้น ซึ่งต่างจากของไทยที่มีราชการส่วนภูมิภาคด้วย

การปกครองส่วนท้องถิ่นของเวียดนามแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 

1.ระดับจังหวัด (provinces) ประกอบด้วย provincesและcities (under the central government)
2.ระดับเมือง (district) ประกอบด้วยcities (under provinces),urban disricts,towns และ rural districts
3.ระดับคอมมูน (commune) ประกอบด้วย wards,town districts และ communes ซึ่งจำนวนจังหวัดได้เพิ่มขึ้นจาก 40 จังหวัดในปี1986 เป็น 61 จังหวัดในปี1997 และ ล่าสุดเป็น 64 จังหวัดในปี 2004 (ข้อมูลจาก Vu Thanh Tu Anh : Vietnam –Decentralization Amidst Fragmentation)

หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองท้องถิ่นที่สำคัญ คือ สภาประชาชน/คณะกรรมการประชาชน/ศาลประชาชนและตัวแทนประชาชน ซึ่งสภาประชาชนและคณะกรรมการประชาชนมีอำนาจหน้าที่ในการร่วมตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในท้องถิ่น เช่น ความปลอดภัยของท้องถิ่น ความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ศิลปะวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ ประเด็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณหรือรายได้ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น ซึ่งเวียดนามมีกฎหมายงบประมาณของรัฐ(State Budget Law)ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1996 และแก้ไขล่าสุด ปี 2002 โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการแบ่งงบประมาณออกเป็นสองส่วนใหญ่คืองบประมาณส่วนกลางและงบประมาณส่วนท้องถิ่น 

แหล่งที่มาของรายได้ของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น (ข้อมูลปี 2002 จากนรุตม์ เจริญศรี : ระบบการปกครองท้องถิ่นประเทศประชาคมอาเซียน –ข้อมูลปี 2014 จากWorld bank )

งบประมาณส่วนกลาง – อากรจากการนำเข้าและส่งออก/ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้า/ภาษีสรรพสามิตจาดสินค้านำเข้า/ภาษีเงินได้นิติบุคคล/ ภาษีและรายได้อื่นๆจากน้ำมันดิบ/ รายได้จากการให้กู้จากรัฐบาล (governmental lending) และผลการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากปัจจัยทุน(capital contributions)/ ความช่วยหลือที่ไม่ได้รับคืน(non-Refundable Aids)สำหรับรัฐบาลกลาง/ ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ(fees and charges)/รายได้ที่ไม่ได้ใช้จากปีงบประมาณก่อน ฯลฯ

งบประมาณท้องถิ่น – ภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดิน/ภาษีทรัพยากรธรรมชาติ(ยกเว้นน้ำมันดิบ)/ภาษีจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต(License Tax)/ภาษีการโอนที่/ภาษีการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร/ภาษีการใช้ที่ดิน/ภาษีการให้เช่าที่ดิน/รายได้จากการขายหรือการให้เช่าดำเนินงานของอาคารของรัฐ/ค่าจดทะเบียน/รายได้จากสลากกินแบ่ง/

รายได้จากการให้ยืมและผลการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากปัจจัยทุน(capital contributions)/เงินให้กับท้องถิ่น/ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ(fees and charges)/รายได้จากการใช้ที่ดินสาธารณะ/รายได้จากธุรกิจและส่วนบุคคล/รายได้ที่ไม่ได้ใช้จากปีงบประมาณก่อน/รายได้จากรัฐบาลกลาง/การบริจาคจากคนในท้องถิ่นเพื่อนำไปก่อสร้างสาธารณูปโภค/การบริจาคตามความสมัครใจ ฯลฯ 

งบประมาณร่วมกันระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น – ภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้า(ยกเว้นสินค้านำเข้า)/ภาษีเงินได้นิติบุคคล(ยกเว้นจากเงินรายได้ที่ไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากพื้นที่ใด เช่น ไปรษณีย์ โทรคมนาคม ไฟฟ้า เป็นต้น)/ภาษีการโอนกำไรกลับประเทศ(Profit Remittance Tax)/ค่าธรรมเนียมปิโตรเลียม ฯลฯ 

ที่น่าสนใจและน่าผลักดันให้มาใช้ในประเทศไทยก็คือ ภาษีรายได้ส่วนบุคคล(Personal Income Tax) ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยยังไม่มีส่วนแบ่งในภาษีนี้แต่อย่างใด

การปกครองท้องถิ่นเวียดนามก้าวหน้ากว่าไทยหรือไม่

การที่จะกล่าวว่าใครก้าวหน้าหรือล้าหลังกว่าใคร นั้น คงต้องนำปัจจัยหลายอย่างมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งในที่นี้ผมจะขอนำมาเปรียบเทียบใน 3 ประเด็นคือ คน งาน และเงิน

คน – การได้มาซึ่งผู้บริหารและสมาชิกสภาฯของเวียดนามนั้น ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง เพราะต้องผ่านการคัดเลือกจากพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน และการเลือกตั้งเป็นเพียงการให้การรับรองเท่านั้น

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับของไทยแล้วจะชั่วจะดี ก็ยังมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แม้ว่าจะข้อกังขาเรื่องบ้านเล็กบ้านใหญ่ การซื้อสิทธิขายเสียง ฯลฯ 

งาน – เรื่องของงานหรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นเวียดนามนั้นเหนือกว่าไทยอย่างเห็นได้ชัด เพราะทำได้แทบทุกเรื่องที่อยู่ในท้องถิ่น แม้กระทั่งการรักษาความปลอดภัยหรือความมั่นคงในพื้นที่  

แต่ของไทยนั้นทำได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในกฎหมายจัดตั้งฯและกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่สามารถทำได้ ที่แย่กว่านั้นคือแม้ว่าจะบัญญัติไว้ว่าทำได้ หากหน่วยงานอื่นทำแล้วท้องถิ่นก็ทำไม่ได้อีก เว้นแต่จะเป็นการทำเสริมโดยต้องแจ้งให้หน่วยงานนั้นก่อนว่าจะให้ทำหรือไม่

เงิน – ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าเวียดนามก้าวหน้ากว่าอย่างมาก มีกฎหมายกำหนดรายได้และงบประมาณชัดเจน และมีที่มาของรายได้จากหลายแหล่ง เช่น ภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่มีส่วนแบ่งกับส่วนกลาง(ไทยไม่มี) ฯลฯ  

แต่ของไทยมีรายได้น้อยมาก มีส่วนแบ่งรายได้จากงบประมาณแผ่นดินไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งเป็นงบฝากจ่ายเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นของท้องถิ่นจริงๆประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น) และงบประมาณปี 2566 ที่จะถึงนี้ยังตัดงบอุดหนุนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ออกไป 12,000 ล้านบาท ไปตั้งไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขโดยไม่คืนวงเงินให้แก่ท้องถิ่นแต่อย่างใด

จากที่กล่าวมาทั้งหมดคงพอสรุปได้แล้วนะครับว่าใครก้าวหน้ากว่าใคร.