พนักงานรุ่นใหม่ต้องมี Purpose

พนักงานรุ่นใหม่ต้องมี Purpose

ธุรกิจยุคใหม่ต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองว่า วันนี้ Purpose หรือเจตนารมณ์ขององค์กรคืออะไร? คงไม่ใช่เรื่องการทำกำไรสูงสุดอีกต่อไป

“ผมตั้งใจจะทำงานแค่หนึ่งปีแล้วลาออกไปเป็นนักลงทุน”

“อยากทราบว่า ผมต้องทำอย่างไร ใช้เวลาแค่ไหน ถึงจะได้เงินเดือนเป็นแสน”

“หนูไม่ชอบงานที่นี้ ไม่สร้างสรรค์เลย ขอลาออกไปอยู่บ้านก่อน แล้วค่อยหางานใหม่”

คำถามเหล่านี้สะท้อนมุมมองความคิดของเด็กรุ่นใหม่ว่า พวกเขาไม่ต้องการทำงานที่ต้องอดทนเรียนรู้ ฝึกทักษะเพื่อก้าวขึ้นเป็นหัวหน้า หรือใช้เวลายาวนานกว่าจะสำเร็จเป็น CEO บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกแล้ว

มันใช้เวลานานเกินไป พวกเขาต้องการความสำเร็จที่รวดเร็ว

หนุ่มสาวรุ่นใหม่ นอกจากจะมองถึงผลตอบแทน เงินเดือน ตำแหน่ง ที่สูงกว่าตลาด เขาและเธอยังต้องการทำงานที่มีความหมาย มีผลกระทบต่อสังคม สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี มีโอกาสแสดงฝีมือในการทำงานโดยไม่ถูกบดบังจากเงารุ่นพี่ หรือมีเจ้านายหลายระดับ การทำงานแบบเก่าที่เต็มไปด้วยระบบ ขั้นตอน รอการอนุมัติ เต็มไปด้วยข้อบังคับ ระเบียบที่ยุ่งยากเกินการปฏิบัติ เป็นสิ่งที่แรงงานรุ่นใหม่รับไม่ได้ และไม่ทน

ผมได้คุยกับ CEO ของบริษัทสตาร์ทอัพด้านเดลิเวอรี่รายหนึ่ง ซึ่งบริษัทเพิ่งเริ่มจัดตั้ง ยังมีผลขาดทุนอีกหลายปี ไม่มีโบนัส ไม่ปรับเงินเดือน สวัสดิการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่มี แต่องค์กรนี้กลับมีคนหนุ่มสาวที่เพิ่งจบการศึกษาต้องการเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเหล่านี้อยากทำงานในบริษัทสตารท์อัพแห่งนี้?

คำตอบที่ได้รับทำให้ผมประหลาดใจ เพราะผู้บริหารหนุ่มบอกว่า นอกจากเงินเดือนที่ต้องสูงพอที่จะไม่อายเพื่อนในระดับเดียวกันแล้ว บริษัทต้องมี Purpose หรือเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาส ช่วยคนตัวเล็กที่ไม่มีกำลังสู้กับเถ้าแก่ใหญ่ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คนรุ่นใหม่มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงและสร้างคุณค่าให้กับสังคม

พวกเขาให้ความสำคัญกับ Purpose บริษัท พอๆกับผลตอบแทนทางการเงิน

เช่นเดียวกับแรงงานรุ่นใหม่ในบริษัทสตาร์ทอัพโดยเฉพาะในแวดวงดิจิทัล หรือฟินเทค ผู้ก่อตั้งและสมาชิกร่วมทีมต่างทุ่มเทสรรพกำลัง อดหลับอดนอน ตั้งใจคิดค้นนวัตกรรมแบบใหม่ที่พวกเขาเชื่อมั่นว่าจะสร้างความแตกต่างให้กับโลก เขามั่นใจว่าสิ่งที่ค้นหา จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการทำธุรกิจอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แม้ว่าจะไม่มีใครเชื่อพวกเขาเลยก็ตาม

ศรัทธาของคนรุ่นใหม่ต่อการทำงาน เป็นสิ่งที่องค์กรไม่อาจละเลยได้อีกต่อไป

Future of Work ของธุรกิจที่มีพนักงานเจเนอเรชั่นใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น เจ้าของบริษัทต้องปรับธุรกิจให้ตอบสนองต่อความต้องการของ “พนักงานพันธุ์ใหม่” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่แค่ปรับสวัสดิการ ยกระดับฐานเงินเดือนให้สูงขึ้น หรือแค่ตกแต่งออฟฟิศให้สวยงาม น่าทำงาน แต่ต้องสร้างแรงจูงใจใหม่ กระตุ้นพลังกายพลังใจพนักงานอายุน้อยไฟแรงเหล่านี้ให้ “ภาคภูมิใจ” ในคุณค่าของตน และมี “ความสุข” ในการทำงาน

ถ้ามองตามทฤษฎีแรงจูงใจของ เฟรดเดอริค เฮอร์ชเบอร์ก (Frederick Herzberg) นักจิตวิทยาชื่อดัง กล่าวว่าการจูงใจคนให้ทำงานต้องประกอบไปด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือ Hygiene Factor ซึ่งเป็นปัจจัยที่กล่าวถึงสิ่งที่จับต้องได้ เช่น เงินเดือน ความมั่นคงในการทำงาน นับเป็นพื้นฐานที่องค์กรต้องมีให้กับพนักงาน แต่ Hygiene Factor อย่างเดียวก็ไม่สามารถจูงใจให้คนทำงานดีขึ้น ต้องมีส่วนที่สองคือ Motivation Factor อันเป็นปัจจัยกระตุ้นทางด้านจิตใจให้คนทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การได้รับการยอมรับ ความท้าทายของงาน และความสุขในองค์กร

องค์กรยุคใหม่ที่มีแรงงานหนุ่มสาวเข้ามาทำงานมากขึ้น ต้องทำมากกว่าการปรับ Hygiene Factor ให้แข่งขันในตลาดแรงงานได้ เจ้าของต้องสร้าง Motivation Factor ที่แข็งแรงชัดเจนขึ้น สื่อสารให้พนักงานเข้าใจถึง Purpose ของบริษัทในการเติบโตอย่างมั่นคง ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม และสังคมรอบข้าง มีความโปร่งใส ชัดเจน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกและสร้างชุมชนให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจยุคใหม่ต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองว่า วันนี้ Purpose หรือเจตนารมณ์ขององค์กรคืออะไร? คงไม่ใช่เรื่องการทำกำไรสูงสุดอีกต่อไป หากแต่จะเป็นสร้างประสบการณ์การทำงานที่มีความหมาย เพื่อกระตุ้นพนักงานพันธุ์ใหม่ให้เกิดความภูมิใจ มีความสุขในการทำงาน จึงจะเกิดการทุ่มเท และอดทนทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนของบริษัทในอนาคต

องค์กรพันธุ์ใหม่ต้องสร้าง Purpose ใหม่ให้ชัดเจนครับ