Quick Commerce จุดเปลี่ยนเกมค้าปลีก | ต้องหทัย กุวานนท์

Quick Commerce จุดเปลี่ยนเกมค้าปลีก | ต้องหทัย กุวานนท์

ข่าวล่าสุดของ Grab กับการเข้าซื้อกิจการ Jaya Grocer ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีจำนวนสาขากว่า 40 สาขา ในประเทศมาเลเซีย ทำให้นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจค้าปลีกในอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

ดีลใหญ่นี้เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆภายหลังจากที่ Grab นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เมื่อปลายปีที่ผ่านมา  มูลค่าดีลนี้ถูกประมาณการณ์ว่าอาจสูงถึง 13,000 ล้านบาท การเข้าซื้อ Jaya Grocer ในครั้งนี้ แน่นอนว่าจะช่วยขยายธุรกิจเดลิเวอรี่ของ Grab ให้เติบโตอย่างรวดเร็วจากเดิมที่มีอัตราการเติบโตกว่า 60 % 

การขยายบริการการจัดส่งสินค้าอุปโภคการของซูเปอร์แอพอย่าง Grab ในตลาดอาซียนดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโลกที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่า Quick Commerce จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีของธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดของธุรกิจค้าปลีก

บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ Redseer ประเมินว่าตลาด Quick Commerce หรือการบริการจัดส่งสินค้าโดยทันที จะเติบโตถึง 10-15 เท่าภายในอีกห้าปี  ในยุโรป ยักษ์ใหญ่เดลิเวอรี่อย่าง Delivery Hero เข้าซื้อกิจการธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้บริการ Quick Commerce อย่าง Gorillas ด้วยมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญ 

ส่วนในเอเชีย ตลาด Quick Commerce ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใน ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีในญี่ปุ่น Z Holdings ซึ่งเกิดจาการควบรวมของ Line และ Yahoo ก็เพิ่งประกาศตัวลงเล่นในธุรกิจ Quick Commerce อย่างเต็มรูปแบบ 

ในอินเดีย Dunzo สตาร์ทอัพ Quick Commerce ที่ให้บริการการจัดส่งแบบ On-demand ก็ประกาศขยายการให้บริการไปในอีก 20 เมืองหลังจากระดมทุนรอบใหม่ไปกว่า สองร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ  ผู้คนในวงการอีคอมเมิร์ซมองว่า Quick Commerce กำลังจะบูมถึงขีดสุด และจะมาขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก 

ความคุ้นชินของการใช้บริการเดลิเวอรี่ในช่วงสถานการณ์ระบาด Covid-19 ทำให้การสั่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตผ่านเดลิเวอรี่แอพ เข้ามาตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้โฉมหน้าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเปลี่ยนแปลงไป แต่จะส่งผลถึงธุรกิจค้าปลีกในภาพรวมด้วย 

 เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม โครงสร้างธุรกิจและการแข่งขันก็จะต้องปรับเปลี่ยนตาม เกมค้าปลีกจากนี้ไปน่าจะเป็นการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างยักษ์ค้าปลีกเดิมที่ต้องเร่งเดินเกมให้ทัน เพื่อแข่งขันให้บริการเดลิเวอรี่และผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ที่ต้องเร่งขยายโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้รองรับดีมานด์และการจัดส่งที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้

เช่น ต้องมี ศูนย์กระจายสินค้าที่กระจายอยู่ในพื้นที่หลัก มีการจัดตั้งสาขาที่ไม่มีหน้าร้านแต่เอาไว้ให้บริการการจัดส่งออนไลน์อย่างเดียว เร่งขยายเครือข่ายไรเดอร์ผู้ให้บริการอย่างรวดเร็ว  และทั้งหมดนี้น่าจะนำไปสู่การเร่งซื้อกิจการเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน

ในสมรภูมิการแข่งขันที่กำลังดุเดือดขึ้น ผู้ให้บริการเดลิเวอรี่จำเป็นที่จะต้องมีสต๊อคสินค้าของตัวเองเพื่อสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีมาร์จินที่แข่งขันได้

ส่วนยักษ์ค้าปลีกดั้งเดิม ก็จำเป็นต้องพัฒนาการให้บริการเดลิเวอรี่ให้มีความรวดเร็วและตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายมากขึ้น

แต่ไม่ว่าเกมนี้ใครจะเข้าวิน ประโยชน์ก็คงจะตกอยู่กับผู้บริโภค กับทางเลือกที่หลากหลายและบริการที่ตอบโจทย์มากขึ้นกว่าเดิม