หนุน วิจัยนวัตกรรม ถอนพิษเศรษฐกิจหลังโควิด-19 | วาระทีดีอาร์ไอ

หนุน วิจัยนวัตกรรม ถอนพิษเศรษฐกิจหลังโควิด-19 | วาระทีดีอาร์ไอ

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็น การพึ่งพาภาคท่องเที่ยวที่มากเกินไป ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

ความท้าทายเชิงโครงสร้าง ในเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ทำให้กำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง รวมไปถึงความน่าดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลง ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะเติบโตเหมือนในอดีต

เพื่อฟื้นคืนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น 

การวิจัยและพัฒนาจะช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศได้ จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในระดับที่ต่ำเกินไป

โดยในปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ร้อยละ 1.11 ขณะที่จากข้อมูลของ UNESCO พบว่ากลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนเช่นเดียวกับประเทศไทย และประเทศที่มีรายได้ระดับสูงมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 1.41 และ 2.43 ตามลำดับ 

นอกจากนี้ ในด้านการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐในแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา แม้ว่า งบประมาณดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.7 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็น 2.6 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แต่ล่าสุด งบประมาณถูกปรับลดลงเหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการหดตัวกว่าร้อยละ 43 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565   

การที่งบวิจัยและพัฒนาถูกปรับลดลงมากเช่นนี้ ส่วนหนึ่ง เป็นผลจากการที่ประเทศจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อรับมือกับโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกัน ก็สะท้อนว่า ผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาก็ยังไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากพอ 

การลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐที่น้อยเกินไปยังสะท้อนได้จาก สัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐต่อภาคเอกชน จากเดิมอยู่ที่ระดับ 28:72 ในปี พ.ศ. 2558 ลดเหลือเพียง 21:79 ในปี พ.ศ. 2562 

ทั้งนี้ บทบาทของภาครัฐในการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่น้อยเกินไปเช่นนี้ ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่ภาครัฐมีบทบาทหลักในการลงทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น 

เนื่องจากการลงทุนวิจัยและพัฒนามีต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ การที่ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนเงินทุนที่เพียงพอแก่ภาคเอกชนเพื่อชดเชยกับความเสี่ยง ทำให้ภาคเอกชนขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนวิจัยและพัฒนา

นอกจากเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐที่น้อยเกินไปแล้ว ความเชื่อมโยงของการลงทุนวิจัยและพัฒนาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนยังมีน้อยมาก

รายงานการสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ระหว่างปี 2560-2562 ผู้เขียนพบว่า เงินลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐเกือบทั้งหมด ยังจัดสรรให้แก่หน่วยงานวิจัยของรัฐ ขณะที่การวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ มีเพียงร้อยละ 0.48-0.75 ของมูลค่าการลงทุนวิจัยภาคเอกชน 

การที่ภาครัฐและภาคเอกชนมีความเชื่อมโยงกันน้อย ส่งผลให้เงินลงทุนวิจัยของภาครัฐไม่มีแรงมากพอที่จะกระตุ้นภาคเอกชนให้ลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้น ดังนั้น จึง "ยาก" ที่ประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ร้อยละ 2 ของ GDP หรือประมาณ 3.7 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2570 ตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง

ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ภาครัฐมีบทบาทหลักในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้บทเรียนและประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทยได้ ดังนี้

สหราชอาณาจักร กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศที่ร้อยละ 2.4 ของ GDP ภายในปี พ.ศ. 2570 โครงการหนึ่งที่นำมาใช้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน ได้แก่ โครงการ Catapult Network ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างหน่วยงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด

 เพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม และงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้จริงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิตมูลค่าสูง (High Value Manufacturing) การบำบัดด้วยเซลล์และยีน (Cell and Gene Therapy) 

โครงการดังกล่าวสามารถกระตุ้นการลงทุนวิจัยและพัฒนาได้มากขึ้น จากเงินลงทุนเริ่มต้นโดยรัฐในโครงการ Catapult Network ในปี พ.ศ. 2562-2563 ราว 236 ล้านปอนด์ สามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนได้เพิ่มกว่า 2 เท่า หรือราว 508 ล้านปอนด์ 

สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้หน่วยงานวิจัยของรัฐต้องแบ่งงบประมาณวิจัยและพัฒนาส่วนหนึ่งในแต่ละปี เพื่อนำไปใช้ในโครงการ Small Business Innovation Research (SBIR) ซึ่งให้ทุนสนับสนุนแก่ SMEs ในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐและนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 

ในปัจจุบัน เงินสนับสนุนโครงการ SBIR อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของงบประมาณวิจัยและพัฒนาของภาครัฐทั้งหมด หรือราว 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  ตัวอย่างบริษัทที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวและประสบความสำเร็จในระดับโลก 

เช่น บริษัท Qualcomm ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปประมวลผลรายใหญ่ของโลก บริษัท Illumina ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม บริษัท Symantec ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านความมั่นคงปลอดภัยไอที และ บริษัท EnChroma ซึ่งเป็นผู้ผลิตแว่นตาสำหรับผู้ที่เป็นตาบอดสี

เพื่อให้นวัตกรรมเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ภาครัฐควรมีบทบาทนำในการเร่งลงทุนวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น โดยกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน โดยเฉพาะการให้ทุนสนับสนุนสร้างนวัตกรรมแก่ SMEs เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในระยะยาว  

แนวทางการสนับสนุนอาจดำเนินการผ่านหน่วยงานให้ทุนที่มีอยู่ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) รวมทั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iTAP) 

หรือการจัดตั้งหน่วยงานให้ทุนใหม่ที่มุ่งให้ทุนแก่เอกชนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่มีความคล่องตัวสูง ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว มุ่งให้ทุนงานวิจัยที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนสูง มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถตอบโจทย์ท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมได้จริง.

หนุน วิจัยนวัตกรรม ถอนพิษเศรษฐกิจหลังโควิด-19 | วาระทีดีอาร์ไอ

คอลัมน์ : วาระทีดีอาร์ไอ 
วรากร อาวุธปัญญากุล
นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
[email protected]