วิกฤติยูเครน-น้ำมันพุ่ง โอลิมปิกปักกิ่ง! (ตอน 2) | วิกรม กรมดิษฐ์

วิกฤติยูเครน-น้ำมันพุ่ง โอลิมปิกปักกิ่ง! (ตอน 2) | วิกรม กรมดิษฐ์

หลังจากพิธีเปิดการแข่งขันกีฬากีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาวของจีนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา การที่ วลาดิมีร์ ปูติน เดินทางมาแสดงท่าทีเป็นมิตรกับจีน ในช่วงที่รัสเซียกำลังเจอแรงกดดัน ของสหรัฐ นาโต ยุโรปตะวันตกขณะที่ สี จิ้นผิง ก็ดูเหมือนจะประกาศตัวชัดเจนว่ายืนอยู่ข้างรัสเซีย

เหตุการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เรื่องของวิกฤติยูเครน โดยมีประเทศหลักที่เกี่ยวข้องได้แก่ ยูเครน รัสเซีย สหรัฐอเมริกาและจีน และยังมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคนไทยหลายๆ คนอาจจะยังไม่เข้าใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ทุกท่านลองทบทวนความทรงจำแล้วนึกย้อนกลับไปถึงสมัยปี ค.ศ. 1962 ที่จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้นเผชิญหน้ากับ นีกีตา ครุชชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต กรณีวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาถึงขั้นมีการประกาศสงคราม และเหตุการณ์นี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ร ะหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและประเทศคิวบา

ชาวรัสเซียเรียกเหตุการณ์นี้ว่าวิกฤตการณ์แคริบเบียน โดยเหตุการณ์นี้เริ่มต้นความตึงเครียดอย่างหนักเมื่อ 14 ตุลาคม 1962 หลังจากความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนเกือบเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3  

แต่ด้วยการเผชิญหน้าที่มีการตอบโต้กันทางการทูตได้จบลงด้วยการเจรจายุติความขัดแย้งในวันที่ 28 ตุลาคม 1962 ซึ่งใช้ระยะเวลา 14 วัน ผู้นำทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมถอนอาวุธยุติการก่อสงครามในครั้งนั้น

เหตุการณ์เหล่านี้มีคล้ายเคียงกันกับวิกฤติยูเครนในขณะนี้ ในมุมมองของผมหากนาโตสามารถนำยูเครนเข้าเป็นประเทศสมาชิกได้สำเร็จ ยูเครนก็สามารถให้ประเทศสมาชิกนำอาวุธเข้ามาติดตั้งได้ ซึ่งพื้นที่ของยูเครนห่างจากกรุงมอสโกเพียงประมาณ 800 กิโลเมตร 

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ วลาดีมีร์ ปูติน  ประธานาธิบดีรัสเซีย เหมือนนั่งอยู่บนเตาร้อนหากไม่มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวรัสเซียที่มีต่อผู้นำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ วลาเดมีร์ ปูตินจึงต้องหาช่องทาง ในการหยุดยั้งนาโตไม่ให้ขยายประเทศสมาชิกเข้ามาใกล้บ้านของตนเพื่อไม่ให้นำอาวุธร้ายแรงมาติดตั้งในพื้นที่ใกล้บ้านได้ 

ประกอบกับขณะนี้ GDP ของรัสเซียน้อยกว่ายุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ที่มี GDP รวมกันอยู่ที่ประมาณ 50 ถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โลก หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 47 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่างจากรัสเซียที่มีอยู่ประมาณไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รัสเซียได้รับแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาไม่ให้คิดที่จะทำอันตรายต่อยูเครน

หากประเมินจากสถานการณ์นี้รัสเซียไม่สามารถที่จะอยู่เพียงลำพัง จึงจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรอย่างจีน เข้ามาช่วย ซึ่งในส่วนของจีนเองก็มี GDP สูงกว่า 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

การกดดันของสหรัฐอเมริกา เปรียบเสมือนเป็นแรงผลักให้รัสเซียเข้ามาสู่อ้อมกอดของจีน โดยที่จีนไม่ต้องออกแรง ในขณะที่รัสเซียต้องจำยอมโดยความจำเป็น

ที่ผ่านมาความขัดแย้งของวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ส่งผลให้โลกของเราเกิดความตึงเครียด ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ คนให้ข่าว เนื้อหาข้อมูลที่ถูกป้อนให้กับนักข่าวทำให้คนเกิดความกลัวว่ารัสเซียจะบุกยูเครนและอีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือเรื่องของเกาะไต้หวัน ที่มีความขัดแย้งกันอยู่กับประเทศจีน 

ซึ่งในส่วนของไต้หวันเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกันกับสหรัฐอเมริกา ยุคของโจ ไบเดน ซึ่งเมื่อตอนที่โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งใหม่ผู้แทนของไต้หวันก็ได้เข้าร่วมอยู่ในงานนั้นด้วย

ถ้าเราลองเปรียบเทียบโอกาสในเรื่องของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยส่วนตัวผมยังมองว่าสหรัฐอเมริกาต้านจีนไม่อยู่ เนื่องจากประเทศจีนเองมีการพัฒนาและขยายการลงทุน เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจออกไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของ One Belt One Road ที่มีส่วนทำให้การเติบโตของตัวเลข GDP เมื่อปีที่ผ่านมาสูงถึง 8.1 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 10 ปี

เพราะฉะนั้น การสานสัมพันธ์กันระหว่างสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน พร้อมให้การสนับสนุนทางด้านต่างๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผู้นำของไต้หวันเกิดความมั่นใจในการบริหารงานมากขึ้น ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจีน จึงกลายเป็นความขัดแย้ง 2 เหตุการณ์ให้อยู่ในภาวะคล้ายเคียงกันได้แก่ จีนกับไต้หวันและอเมริกา และรัสเซียกับยูเครน นาโตและอเมริกา 

ทุกท่านอาจจะยังสงสัยว่า เหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร

ผมขอให้ทุกท่านลองนึกดูว่าถ้าหากเราเป็นนักธุรกิจและอีกฝั่งนึงเป็นผู้ขายน้ำมันที่ต้องอยู่กับภาวะราคาน้ำมันตก 40-50 เหรียญสหรัฐ มาเกือบ 10 ปี 

วันนี้เมื่อพ่อค้าเหล่านี้มีน้ำมันจึงทดลองขึ้นราคาซึ่งก็ยังสามารถขายได้เพราะผู้คนกลัวเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคงของโลก ของกลุ่มผู้ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ประกอบกับกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก

เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้รวมกันจึงกลายเป็นที่มาของราคาน้ำมันขึ้นตอนนี้ วันนี้ราคาน้ำมันคาดว่าจะทะลุมากกว่า 90 เหรียญสหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบเกือบทุกอย่างในห่วงโซ่ทางธุรกิจในขณะนี้.