"คริปโท"คือพระเจ้า? | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

"คริปโท"คือพระเจ้า? | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

“คริปโทคืออะไร? ไม่รู้จัก” อาจเป็นคำถามที่สะท้อนถึงการตกยุคล้าสมัยของผู้ถามในความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่นิยม ชื่นชมและชื่นชอบในคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ก็เป็นได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การไม่รู้จัก การไม่นิยมชื่นชม การไม่ลงทุน รวมไปถึงการไม่สนับสนุนอย่างจริงจังในคริปโท หาใช่สะท้อนถึงความไม่ฉลาดหรือความล้าสมัยไม่!

คริปโท คือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) รูปแบบหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินดิจิทัลอื่นๆ คริปโทนั้นมีหลากหลายประเภท เช่น คริปโทที่รักษามูลค่า (Store of Value) คริปโทสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) คริปโทแบบ Stablecoin เป็นต้น 

การเติบโตของคริปโทนั้นเป็นไปอย่างก้าวกระโดดในทั่วโลก ถึงขนาดที่รัฐบาลในหลายประเทศจะต้องออกกฎระเบียบทั้งหนักและเบาเพื่อควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด โดยมีเหตุผลหลักคือ เพื่อรักษาเสถียรภาพเงินสกุลของประเทศตน เป็นที่ทราบกันดีว่าธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศจะใช้ นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมปริมาณเงินของประเทศตน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 

เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจของประเทศซบเซา ธนาคารกลางจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และหากเมื่อใดที่เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไป ธนาคารกลางก็จะใช้เครื่องมือผ่านนโยบายการเงินในการดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ

แต่ถ้าหากปล่อยให้คริปโทเข้ามามีบทบาทแทนที่เงินสกุลหลักของประเทศ และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ นโยบายการเงินที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมปริมาณเงินเพื่อแก้ปัญหาก็จะหมดบทบาทและไร้ประโยชน์ไปโดยปริยาย

หลายประเทศใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการจำกัดการเติบโตของคริปโท เช่น จีนและรัสเซียประกาศสั่งห้ามทั้งการขุด การซื้อขาย (Trade) รวมถึงห้ามใช้คริปโทในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ขณะที่อินโดนีเซียประกาศห้ามใช้คริปโทชำระค่าสินค้าและบริการ แต่ก็มีบางประเทศที่ส่งเสริมการเติบโตของคริปโทอย่างจริงจังเช่นกัน 

ประเทศที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างก็คือ เอลซัลวาดอร์ (El Salvador) ที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่า สามารถใช้คริปโทเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ และสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับการใช้เงินสกุลดอลลาร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 

ในกรณีดังกล่าวนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เรียกร้องให้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ทบทวนและพิจารณามาตรการดังกล่าวนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง ในฐานะที่ IMF ยังคงเป็นเจ้าหนี้ของประเทศเอลซัลวาดอร์

\"คริปโท\"คือพระเจ้า? | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

กรณีของประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าฝ่ายที่นิยมและสนับสนุนคริปโทอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ผลิตคริปโทและกลุ่มผู้ลงทุนซื้อ-ขายคริปโท และมีบางคนอาจถูกจัดอยู่ในทั้งสองกลุ่มได้ โดยบุคคลในสองกลุ่มนี้ย่อมมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดจากการสนับสนุนให้คริปโทเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากฝ่ายที่สนับสนุนในคริปโทแล้ว ยังปรากฏอีกฝ่ายที่มีหน้าที่ในการควบคุมไม่ให้การเติบโตของคริปโท สร้างผลกระทบทางลบต่อเสถียรภาพของเงินสกุลหลักและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในฝ่ายควบคุมก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงหน่วยงานอื่นใดที่เกี่ยวข้อง 

ที่สุดแล้ว ธปท.และ ก.ล.ต.มีมติเห็นชอบร่วมกันในการประกาศไม่ให้ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล ดำเนินการสนับสนุนหรือให้การส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาเชิญชวน การจัดทำระบบการให้บริการเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) ฯลฯ เพื่อให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน

มาตรการข้อห้ามที่ถูกประกาศสู่สาธารณะดังกล่าว ได้รับการวิพากษ์อย่างกว้างขวางจากกลุ่มผู้สนับสนุนและนิยมในคริปโท บ้างก็ว่าฝ่ายควบคุมนั้นล้าสมัยไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล บ้างก็ว่าฝ่ายควบคุมนั้นไม่ฉลาด ไม่เข้าใจ รวมถึงไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล บ้างก็วิพากษ์อย่างหนักถึงขั้นกล่าวหาฝ่ายควบคุมนั้นเป็นตัวถ่วงในการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ 

ในความเป็นจริงแล้ว การวิพากษ์ใดๆ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม แม้ฝ่ายควบคุมจะมิได้สนับสนุนการเติบโตของคริปโทอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านการเกิดขึ้นของคริปโท รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบอื่นๆ ในประเทศไทย ดังที่กล่าวข้างต้น หน้าที่หลักของฝ่ายควบคุม คือการจำกัดวงของผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของคริปโทและสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ โดยเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง

\"คริปโท\"คือพระเจ้า? | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

อย่างไรก็ตาม คงไม่อาจปฏิเสธว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเกิดขึ้นและคงอยู่ของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ ดังนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายควบคุมจะหันหน้ามาเจรจาร่วมกันเพื่อหาจุดสมดุลที่เป็นประโยชน์ที่สุดต่อประเทศ 

ฝ่ายสนับสนุนจำต้องเปิดใจเพื่อรับฟังความจำเป็นในการควบคุมการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะที่ฝ่ายควบคุมก็จำต้องสร้างความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาในมาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมา เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบ หรือเกิดผลกระทบทางลบในวงจำกัดจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสินทรัพย์ดิจิทัล 

การถกเถียงบนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจตามหลักวิชาการ มักจะเป็นทางออกที่ดีเสมอสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง.

คอลัมน์ : สมการความคิด 
วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต