ปารีส ลอนดอน แก้รถติดด้วยกระเช้าลอยฟ้า | โสภณ พรโชคชัย

ปารีส ลอนดอน แก้รถติดด้วยกระเช้าลอยฟ้า | โสภณ พรโชคชัย

การจัดทำระบบขนส่งมวลชนนั้น เรามักนึกถึงรถประจำทาง รถไฟ รถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน บนดินและลอยฟ้า ตลอดจนรถบีอาร์ที (ซึ่งเจ๊งไม่เป็นท่ามาโดยตลอด) แต่ยุคใหม่นี้เขามองถึง กระเช้าไฟฟ้า ว่าเป็นหนทางการแก้ไขปัญหาการจราจรและการขนส่งผู้คนในเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า “ปารีสเปิดตัวกระเช้าลอยฟ้าใหม่สำหรับผู้สัญจรไปมาภายในปี 2568” (https://bit.ly/3Ly5RZs) โดยกระเช้าไฟฟ้าสาย C1 ในกรุงปารีสที่กำลังวางแผนกันอยู่จะให้บริการแก่ผู้โดยสารทุกๆ 30 วินาทีในช่วงเวลาเร่งด่วน 

กระเช้าสายนี้จะเชื่อมเขตชานเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้กับรถไฟใต้ดินซึ่งจะทำให้ใช้เวลาเดินทาง 4.5 กิโลเมตรใช้เวลาเพียง 17 นาที หรือน้อยใช้เวลาน้อยกว่าครึ่งของเวลาที่ใช้โดยรถประจำทางในขณะนี้ ทั้งนี้การก่อสร้างจะเริ่มในปีนี้ โดยกระเช้าจะเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารในปี 2568

การที่ในปัจจุบันมีทางหลวง ทางหลวงพิเศษ ทางด่วน รถไฟฟ้าสารพัดสายเกิดขึ้นในกรุงปารีส ทำให้การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนใหม่ๆ ทำได้ยากทั้งบนดิน ใต้ดิน และระบบรถไฟลอยฟ้า จึงทำให้มีแนวคิดที่จะสร้างกระเช้าไฟฟ้า ซึ่งใช้ต้นทุนไม่สูง และก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดทั้งเงินและเวลา  ทั้งนี้ยังเป็นเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวในการชมกรุงปารีสในอนาคตได้อีกด้วย

ทั้งนี้เส้นทางสาย C1 นี้ คาดว่าจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 12,000 คนต่อชั่วโมงในแต่ละทิศทาง  และหากผลการทดลองสร้างกระเช้าไฟฟ้านี้ไปได้ด้วยดี ในอนาคตยังจะก่อสร้างรถไฟฟ้าอีก 12 สาย  Planetizen ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระเช้าสายแรกนี้มีระยะทาง 4.5 กิโลเมตร ทั้งนี้ต้นทุนค่าก่อสร้างอยู่ที่ 4,900 ล้านบาท หรือกิโลเมตรละประมาณ 1,000 ล้านบาท  ระบบนี้ยังมีข้อดีที่ไม่มีมลพิษทางอากาศเพราะใช้ไฟฟ้า (https://bit.ly/3uQBqHT)

ในกรุงลอนดอน ก็มีกระเช้า the Emirates Air Line (Cable Car) (http://bit.ly/1N77JYJ) ข้ามแม่น้ำเทมส์ เปิดตัวในวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ดำเนินการโดยทางการขนส่งลอนดอน แต่ดูเหมือนจะใช้สำหรับนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ แต่ก็มีคนทำงานท้องถิ่นใช้เดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำเทมส์เหมือนกัน ด้วยความสูงประมาณ 100 เมตร ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของกรุงลอนดอนได้หลายมุมมอง ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ระยะเวลาในการเดินทางคือ 10 นาที หรือไปกลับประมาณ 20 นาที

งบประมาณในการก่อสร้างคือ 60 ล้านปอนด์หรือ (3,000 ล้านบาท) โดยการนี้ 60% ของงบประมาณมาจากการสนับสนุนของสายการบิน Emirates ทำให้ต้นทุนลดลง โดยสายการบินนี้ได้สิทธิในการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการบินของสายการบินนี้เป็นเวลา 10 ปี 

ความยาวของกระเช้าไฟฟ้านี้ มีระยะทางประมาณ 1.1 กิโลเมตร มีเสาสูงปักเพื่อการทำกระเช้า 3 เสา สามารถมีผู้โดยสารประมาณ 2,500 คนต่อชั่วโมง รถเข็นคนพิการและจักรยานก็สามารถขึ้นกระเช้าที่จุคนได้ 8 คนได้ 


สำหรับค่าโดยสารก็ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ประมาณ 4.4 ปอนด์ แต่หากเดินทางบ่อย ๆ ก็มีส่วนลด สำหรับนักท่องเที่ยว เช่นที่ผมลองใช้บริการดู ยังมีพ่วงกับการชมนิทรรศการ ไปกลับเป็น 9 ปอนด์ เป็นต้น

ทั้งนี้มีคนเดินทางท่องเที่ยวด้วยกระเช้าไฟฟ้านี้นับล้านๆ คนแล้ว ตอนสร้างก็มีการโจมตีจากพวกเอ็นจีโอไปต่าง ๆ นานา แต่รัฐบาลอังกฤษเข้มแข็ง ไม่ได้เชื่อตามความกลัวที่พวกเอ็นจีโอ สร้างภาพไว้ จนสามารถสร้างสำเร็จได้

อันที่จริงในหลายประเทศก็มีการใช้กระเช้าไฟฟ้าในการขนส่งสาธารณะเช่นกัน เช่น ในย่านเมเดยินในกรุงลาปาซ ประเทศโคลัมเบีย หรือนครโบลซาโนทางตอนเหนือของอิตาลี หรือแม้แต่ในกรุงเวลลิงตันของนิวซีแลนด์ก็มีการใช้กระเช้าเพื่อการสัญจรของชาวบ้านเช่นกัน  ยิ่งในกรณีพื้นที่ราบเช่นกรุงเทพมหานคร การก่อสร้างยิ่งจะง่ายขึ้นกว่ากระเช้าขึ้นเขาในพื้นที่ท่องเที่ยวทั่วโลก

ปารีส ลอนดอน แก้รถติดด้วยกระเช้าลอยฟ้า | โสภณ พรโชคชัย

อันที่จริงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวและเป็นระบบขนส่งมวลชนไปด้วย ใช้เงินน้อย ให้สัมปทาน แถมมีรายได้เข้าประเทศ โปร่งใส แถมไม่เกิดข้อครหาว่าเอื้อประโยชน์โดยมิชอบกับใคร  ผู้เขียนเสนอให้สร้าง 2 เส้นตรงเชื่อมกัน เป็นการประเดิมก่อนในกรุงเทพมหานคร ดังนี้:
    1. จากวัดกัลยาณมิตรถึงตลาดน้อย และ
    2. อีกเส้นจากตลาดน้อย-สาทร (วัดยานนาวา)

ผลประโยชน์สำคัญของการ การก่อสร้างนี้ก็คือ กระเช้าจะกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวและขนส่งมวลชน โดยใช้เป็นระบบสัมปทาน รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณเลย เช่นที่ดำเนินการเลย  นอกจากกระเช้าจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรแล้วยังช่วยด้านการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูกระดึงอีกด้วย

มาดูกระเช้าดีๆ ในประเทศอื่นกัน

กระเช้าเขาโมอิวา (Mt. Moiwa) ใกล้นครซัปโปโร บนเกาะฮอกไกโดของประเทศญี่ปุ่น สูงเพียง 531 เมตร มีการสร้างกระเช้าขึ้นเขานี้พร้อมสวนสนุกและรีสอร์ตสำหรับเล่นสกีตั้งแต่ปี 2501 (59 ปีมาแล้ว) ตัวกระเช้าจุคนได้มากกว่า 30 คน

กระเช้าเพอร์กามอน เพอร์กามอนเป็นเมืองโบราณตั้งอยู่บนยอดเขาในบริเวณอนาโตเลีย เขตจังหวัดอิซเมียร์ (Izmir) ห่างจากทะเลอีเจียนราว 30 กิโลเมตร มีสถานที่ที่สำคัญคือ วิหารอะโครโปลิส (Acropolis) ซึ่งในสมัยนั้นมักเลือกสร้างสถานที่สำคัญอย่างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ วิหารบูชาเทพเจ้า ทางการตุรกีก็ได้สร้างกระเช้านี้เพื่อการท่องเที่ยวโดยตรง

กระเช้าบานาฮิลส์ ใกล้นครดานังได้รับการบันทึกสถิติโลกโดยกินเนสส์ เอาไว้ถึง 4 หมวดความเป็นที่สุด คือเป็นกระเช้าไฟฟ้าประเภทไม่มีการหยุดแวะ (แบบเคเบิลเดี่ยว) ระยะทางยาวที่สุดในโลก 5,801 เมตร    บานาฮิลส์ยังเป็นแหล่งสันทนาการ สวนสนุก ค่าก่อสร้างเคเบิลคาร์ช่วงแรกมีมูลค่า 17.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนช่วงที่สร้างต่อเพิ่มไปถึงยอดเขา มีมูลค่า 5.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นได้ว่าต้นทุนค่าก่อสร้างไม่แพงเลยเพียงราว 720 ล้านบาทเท่านั้น

กระเช้ามอนเตเนโกร เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นกระเช้าท่องเที่ยวที่ยาวสุดในโลก โดยโครงการนี้ชื่อว่า "Kotor-Cetinju Cable Car” ซึ่งเชื่อมระหว่างนคร Kotor ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเลื่องชื่อ ติดทะเลกับจังหวัด Cetinju มีความยาวถึง 14.8 กิโลเมตร ปักเสา 74 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 200 เมตร การสร้างกระเช้านี้จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมหาศาล ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปากกันมากขึ้น

กระเช้าลังกาวี ลังกาวีซึ่งก็ไม่มีอะไรสวยงามเป็นพิเศษนอกจากมีเขาอยู่แทบเต็มเกาะ แต่เขาพลิกวิกฤติเป็นโอกาส แทนที่จะปีนขึ้นเขาไปเที่ยว ก็สร้างรถกระเช้าลอยฟ้า มีระยะทาง 2.2 กิโลเมตร มี 35 กระเช้า แต่ละกระเช้าจุได้ 6 คน

ทั้งนี้ช่วงห่างของกระเช้าที่ยาวที่สุดยาวถึง 920 เมตร หรือเกือบ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางถึงยอดประมาณ 15 นาที เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 5 เมตรต่อวินาที แต่ละชั่วโมงให้คนขึ้นได้ 700 คน ความสูงของกระเช้าห่างจากพื้นดินประมาณ 38 เมตร โดยไม่รบกวนสัตว์ ทั้งนี้มีค่าโดยสารเพียง 300 บาท (35 ริงกิต)
    ใช้กระเช้าไฟฟ้าแก้ปัญหาและส่งเสริมการท่องเที่ยวกันเถอะ

คอลัมน์:อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน
ดร.โสภณ พรโชคชัย 
ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย 
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส 
www.area.co.th