จาก Web 3.0 สู่องค์กร 3.0? | พสุ เดชะรินทร์

จาก Web 3.0 สู่องค์กร 3.0? | พสุ เดชะรินทร์

ช่วงหลังจะได้ยินแนวคิดของ Web 3.0 มากขึ้น ทำให้ลองคิดเปรียบเทียบกันว่า เมื่อเว็บมีการพัฒนาจากยุค 1.0 สู่ 2.0 (ในปัจจุบัน) และกำลังก้าวสู่ 3.0 (ในอนาคต) แล้วการบริหารองค์กรจะเปลี่ยนผ่านจากองค์กร 1.0 สู่ 2.0 และ 3.0 ได้หรือไม่?

สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับ Web 3.0 ขอเริ่มต้นที่ Web 1.0 ก่อนซึ่งก็คือเว็บไซด์ในช่วงแรกที่เจ้าของเว็บสร้างเนื้อหาและผู้ท่องเว็บก็เป็นผู้เสพเนื้อหาเป็นหลัก เรียกได้ว่าเป็นยุคของ Read-only web พอเข้าสู่ Web 2.0 ก็จะเป็นยุคที่ผู้ท่องเว็บเข้ามามีบทบาทในเว็บนั้นมากขึ้น  เช่น สื่อสังคมออนไลน์ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่สร้างขึ้นมา และผู้ท่องเว็บก็สามารถเข้าไปร่วมสร้างเนื้อหา ลงภาพ ลงความเห็น ลงวิดีโอ
    ผู้ท่องเว็บก็เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้อ่านอย่างเดียวเป็นผู้สร้างตัวเนื้อหาด้วย กล่าวได้ว่า Web 2.0 ก็เป็นยุคของ Platform web ที่มีบริษัทเป็นเจ้าของ Platform และผู้ท่องเว็บก็เข้าไปร่วมสร้างเนื้อหาใน Platform

สำหรับ Web 3.0 ซึ่งแก่นแนวคิดหลักๆ คือคำว่า Decentralized หรือการกระจายอำนาจ แทนที่ผู้สร้างเว็บจะพัฒนาเว็บและนำไปไว้ในเซิร์ฟเวอร์เหมือนในยุค 2.0 Web 3.0 นี้จะวิ่งอยู่บน Blockchain ที่กระจายและเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพัฒนาและปรับปรุงเว็บให้ดีขึ้น จะไม่มีใครเป็นเจ้าของเว็บที่แท้จริง 
    ทุกคนที่เข้ามาที่เว็บจะมีอิสระที่จะโพสต์ แสดงความคิดเห็นใดๆ ก็ได้ ไม่มีเจ้าของเว็บมาทำหน้าที่ในการกลั่นกรองหรือควบคุมกิจกรรมต่างๆ Web 3.0 เป็นเว็บที่เน้นเรื่องของการกระจายอำนาจ หรือ Decentralized เป็นหลัก
    ถึงแม้ Web 3.0 จะยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่ก็ทำให้ได้ลองคิดเปรียบเทียบว่าเมื่อนำพัฒนาของเว็บมาเปรียบเทียบกับแนวทางในการบริหารจัดการองค์กรแล้ว จะพอเปรียบเทียบกันได้หรือไม่?
    ในยุคองค์กร 1.0 การบริหารองค์กรยังเป็น Top-Down ลูกน้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามที่ผู้นำบอก ผู้นำจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด ถ้าเปรียบกับ Web 1.0 ผู้นำก็เปรียบเสมือนผู้สร้างเนื้อหา ส่วนลูกน้องก็เปรียบเสมือนผู้ท่องเว็บที่เป็นฝ่ายรับหรือปฏิบัติตามคำสั่งเป็นหลัก 

สำหรับองค์กร 2.0 เป็นลักษณะขององค์กรที่พบเจอส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ถึงแม้จะยังมีผู้นำและผู้ตามอยู่ แต่การบริหารนั้นก็จะเป็นไปด้วยการเปิดเผยและโปร่งใสมากขึ้น ข้อมูลและการตัดสินใจต่างๆ ก็จะมีการเปิดเผยให้กับทั้งภายในและภายนอกมากขึ้น ผู้นำเองก็เปิดรับฟังความเห็นจากลูกน้องมากขึ้น มีทั้งกิจกรรม Town Hall การทำ Engagement Survey เพื่อรับฟังความคิดเห็นของบุคลากร

ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับ Web 2.0 ที่ผู้ท่องเว็บได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเนื้อหาต่างๆ ถ้า Web 2.0 มีเจ้าของ Platform เป็นผู้ดำเนินการ ตัวองค์กร 2.0 นั้นก็มีผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้กำหนดทิศทางขององค์กร

จาก Web 3.0 สู่องค์กร 3.0? | พสุ เดชะรินทร์
    ทีนี้ลองจินตนาการดูว่าถ้าจะมีองค์กร 3.0 ที่มีแนวคิดสอดคล้องกับ Web 3.0 แล้วการบริหารองค์กรจะเป็นอย่างไร? องค์กรนั้นก็จะกระจายอำนาจทุกอย่างเต็มที่ ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่มีกรรมการ ไม่ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้ และผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมก็จะได้รับค่าตอบแทนเป็น Token แทน 
    ในโลกของ Web 3.0 นั้นมีองค์กรในลักษณะขององค์กร 3.0 ขึ้นมาแล้ว และรู้จักกันในชื่อของ DAO (Decentralized Autonomous Organization) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบรรลุพันธกิจบางอย่าง กิจกรรม ข้อมูล การตัดสินใจทั้งหมดจะผ่านทาง Blockchain ที่ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ ทุกๆ คนที่ร่วมอยู่ใน DAO สามารถมีสิทธิ์ในการตัดสินใจต่างๆ ขึ้นอยู่กับ Token ที่มี ปัจจุบันจะพบ DAO ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ทางดิจิทัล
    การเปลี่ยนผ่านจากองค์กร 2.0 เป็น 3.0 ไม่ง่ายเหมือน Web 3.0 โดยเฉพาะสำหรับองค์กรที่มีมาก่อนแล้ว สุดท้ายอาจจะเป็นเพียงแค่รูปขององค์กร 2.1 หรือ 2.4 หรือ 2.5 เท่านั้น.
คอลัมน์ : มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]