10 แนวโน้ม Cybersecurity & Privacy Trends 2022-2024 | ปริญญา หอมเอนก

10 แนวโน้ม Cybersecurity & Privacy Trends 2022-2024  | ปริญญา หอมเอนก

ดร.ปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด เผย 10 แนวโน้มความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ปี 2022-2024 ที่จะมีผลระยะสามปีนับจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อม รู้เท่านั้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์

Trend #1 : ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและความจำเป็นเร่งด่วนในการฉีดวัคซีนไซเบอร์ให้กับประชาชน
Digital Inequality and Cyber Vaccination
    การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วน ในการให้ความรู้ประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลก เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงต่างๆ ที่เข้ามาทางไซเบอร์ 
    การฉีดวัคซีนไซเบอร์ให้กับประชาชน นับได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นของรัฐบาลทุกประเทศ และควรมีหน่วยงานรับผิดชอบต่อเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลให้แก่ประชาชนโดยตรง ด้วยการสร้างระบบในการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องภัยไซเบอร์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเกิดความคุ้นชินและสามารถเผชิญเหตุได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคงปลอดภัยในระดับหนึ่ง

สถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยในการเร่งให้เกิดกระบวนการ Digital Transformation ผนวกกับมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนต้อง Work from Home 
    ประเด็นเหล่านี้ต่างยิ่งทำให้ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งพาระบบสารสนเทศทั้งสิ้น หากประชาชน และคนทำงานไม่มีความตระหนักรู้ ก็จะกลายเป็นช่องโหว่ให้ภัยไซเบอร์สามารถเข้าสู่ระบบได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญ เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพราะปัญหาทางไซเบอร์ไม่อาจแก้ได้โดยทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการที่ดีและการให้ความรู้กับประชาชนด้วย (Process and People, not only Technology)  

Trend #2 : การโจมตีทางไซเบอร์ในระบบห่วงโซ่อุปทานและการรับรองมาตรฐานระดับวุฒิภาวะทางไซเบอร์ 
Supply Chain Cyber Attacks and CMMC (Cybersecurity Maturity Model Certification) 

    ข้อมูลจากงานวิจัยทั่วโลกพบว่า การโจมตีทางไซเบอร์อาจมีสาเหตุมาจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการต่อเชื่อมระบบระหว่างหน่วยงาน โดยมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานหรือการรับรองความมั่นคงปลอดภัยในระบบห่วงโซ่อุปทาน

      ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎระเบียบสำหรับบริษัทที่จะให้บริการเป็นคู่สัญญากับกระทรวงกลาโหม โดยต้องผ่านมาตรฐานที่เรียกว่า CMMC ย่อมาจาก Cybersecurity Maturity Model Certification มาตรฐานดังกล่าวได้กำหนดไว้ในเอกสาร NIST SP800-171 Protecting Controlled Unclassified Information in Nonfederal Systems and Organizations 
    โดยเน้นไปที่ระดับวุฒิภาวะห้าระดับของกระบวนการ (Processes) และการปฏิบัติ (Practices) โดยบริษัทที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญา หรือ Contractor ของกระทรวงกลาโหมจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว

    ซึ่งขณะนี้ CMMC ส่งผลกระทบต่อคู่สัญญากว่า 600,000 บริษัททั่วโลก และผู้ประกอบการไทยที่ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ควรเตรียมความพร้อมเช่นกันเพื่อพัฒนาศักยภาพในการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยให้ได้มาตรฐานโลกเช่นกัน

10 แนวโน้ม Cybersecurity & Privacy Trends 2022-2024  | ปริญญา หอมเอนก

Trend #3 : ความท้าทายจากพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปและสถาปัตยกรรมความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสมกับโลกยุค Post-COVID
Remote working Challenge and Zero Trust Architecture Implementation
    การทำงานแบบ Work from Home ยังคงเป็นความท้าทายต่อเนื่อง เพราะมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ COVID-19 ยังคงอยู่กับเราต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ระบบความมั่นคงปลอดภัยขององค์กรจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัย 
    นับจากนี้สถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัย “Zero Trust Architecture” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้แนวคิดในการกำจัดความเชื่อใจนั้น จะถูกนำมาใช้ในหลายๆ มิติ เพราะภัยไซเบอร์ในปัจจุบันและอนาคตมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรต่างๆ นิยมใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้ง
    พนักงานสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ ด้วยอุปกรณ์ใดก็ได้ สถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยสมัยใหม่จึงถูกออกแบบให้ผู้ดูแลระบบไม่ควรเชื่อใจทั้งบุคคลและอุปกรณ์ต่างๆ ในรูปแบบเดิมอีกต่อไป ทำให้ต้องมีการนำ Zero Trust Architecture มาใช้ โดยมีการตรวจสอบทั้งบุคคลและอุปกรณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง  
    องค์กรสมัยใหม่จำเป็นต้อง “Balance” ระหว่างการปกป้องความมั่นคงปลอดภัยที่แข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างคุณค่าต่อการดำเนินธุรกิจ โดยระบบต้องสามารถตรวจจับพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงและผิดปกติได้อย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะยกระดับความเชื่อใจหากถูกคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที  

10 แนวโน้ม Cybersecurity & Privacy Trends 2022-2024  | ปริญญา หอมเอนก

Trend #4 : โชคร้าย 3 ชั้นขั้นก้าวหน้ากับมัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่ร้ายกว่าเดิม  
(Rising of the Next Generation Triple Extortion Ransomware)
    ปัญหา Ransomware ในช่วงหลายปีที่ผ่าน มีการพัฒนาจากการเรียกค่าไถ่แบบเดิมๆ เพิ่มขึ้นเป็น 3 ขั้นตอน เรียกว่า “Triple Extortion Ransomware” โชคร้าย 3 ชั้น โดยในขั้นที่ 1 แฮกเกอร์มักจะเรียกค่าไถ่ด้วยข้อเสนอในการส่ง Decryption Key หรือกุญแจถอดรหัสในการกู้คืนข้อมูลให้เหยื่อ 
    หากเหยื่อยังไม่ยอมจ่ายก็ไปต่อที่ขั้นที่ 2 โดยแฮกเกอร์จะนำข้อมูลไปโพสต์แล้วทำการเรียกค่าไถ่ให้จ่ายเพื่อลบข้อมูลออกจากการ Publish ใน Dark Web หรือ Public Web และถ้าหากเหยื่อยังไม่ยอมจ่ายอีก แฮกเกอร์ก็จะดำเนินการในขั้นที่ 3 คือ ปล่อยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าต่อสาธารณะ จากนั้นเมื่อข้อมูลลูกค้ารั่วไหลออกไปแล้ว เหยื่ออาจถูกลูกค้าฟ้องร้องเมื่อ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้แล้ว
    ทั้ง 3 ขั้นตอนที่กล่าวมานี้เป็นวิธีการที่แฮกเกอร์นิยมใช้ แต่วันนี้แฮกเกอร์ได้คิดวิธีใหม่ๆ ในการเรียกค่าไถ่ที่ซับซ้อนและสร้างความเสียหายให้มากขึ้นจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่ โดยมีแนวโน้มที่อาจจะขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วนับจากปี 2022 นี้เป็นต้นไป 
    วิธีใหม่ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ขู่ว่าจะถล่มด้วย DDoS Attack ถ้าเหยื่อยังไม่ยอมจ่ายเงินเรียกค่าไถ่ ซึ่งอาจจะโจมตีจนทำให้เว็บไซต์ของเหยื่อล่มไม่สามารถใช้งานได้ หรือ ขู่ว่าจะติดต่อไปหาเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นรายบุคคลซึ่งเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ 
    แฮกเกอร์ได้นำข้อมูลผู้ป่วยที่แฮกมาจากโรงพยาบาล ติดต่อไปยังผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อข่มขู่ หรือ แฮกเกอร์อาจขายข้อมูลให้แฮกเกอร์รายอื่นๆ ซึ่งข้อมูลที่แฮกเกอร์ที่รับซื้อได้ไปนั้น ก็จะนำไปหลอกเหยื่อโดยการส่งอีเมลหรือ SMS ไปยังเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลแต่ละราย ซึ่งทั้งสองกรณีหลังนี้ เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลสามารถที่จะดำเนินคดีหรือร้องเรียนบริษัทเหยื่อที่ถูกแฮกข้อมูลได้ จากข้อหากระทำข้อมูลรั่วโดยขาดความระมัดระวังที่เหมาะสม

Trend #5 : การเข้าสู่ยุคปกป้อง “ข้อมูลระบุตัวตน” ต้องหยุดภัยโจรกรรม ยังยั้งการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผย
Identity is the New Parameter The need to prevent Identity Theft/Sensitive Data Exposure
    ข้อมูลระบุตัวตน เปรียบเสมือนกุญแจประตูบ้าน หากหลุดไปก็เหมือนมอบกุญแจประตูให้แฮกเกอร์ทำให้แฮกเกอร์จะเข้ามาในบ้านเราเมื่อไรก็ได้ ทุกวันนี้คนจำนวนมากใช้การยืนยันตัวตนเพียง การใช้ ชื่อผู้ใช้ (Username) และ รหัสผ่าน  (Password)  ซึ่งชื่อผู้ใช้ มักจะใช้ eMail ที่เป็นข้อมูล public ทำให้แฮกเกอร์ทราบชื่อผู้ใช้ได้โดยไม่ยากนัก อีกทั้งผู้ใช้มักตั้งรหัสผ่านแบบง่ายๆ สามารถเดาได้ไม่ยากจึงเป็นโอกาสของแฮกเกอร์ที่จะเข้าถึงข้อมูลเราได้ง่ายยิ่งขึ้น
    ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ จะมีฟีเจอร์ 2FA (Two-Factor Authentication) ให้เข้าไปตั้งค่าใช้งานได้ โดยเป็นการยืนยันตัวตนแบบสองปัจจัย ระบบจะทำการส่ง OTP มาให้ผู้ใช้เพื่อยืนยันเพิ่มเป็นปัจจัยที่สองหรือชั้นที่สอง 
    ขณะนี้มีข่าวว่า Google กำลังจะบังคับให้ผู้ใช้งานต้องยืนยันตัวตนด้วย 2FA หลังจากที่ได้มีการทดสอบระบบกับผู้ใช้จำนวนหนึ่งมาแล้ว เมื่อยักษ์ใหญ่ระดับโลกออกมากำหนดเป็นข้อบังคับก็เชื่อว่าอีกไม่นานผู้ให้บริการรายเล็กรายน้อย ผู้พัฒนาแอป และบริการอื่นๆ จะทำตาม และในไม่ช้า 2FA ก็จะกลายเป็นการยืนยันตัวตนขั้นพื้นฐานในที่สุด
    ในอนาคตผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ มีความพยายามที่จะสร้างระบบการยืนยันตัวตนรูปแบบใหม่ๆ เพื่อหนีจากแฮกเกอร์ที่มักจะพัฒนาการโจมตีได้ล้ำหน้าเราไปหนึ่งก้าวเสมอ ซึ่งการยืนยันตัวตนในอนาคตไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบ ชื่อผู้ใช้ (Username) และ รหัสผ่าน  (Password) อีกต่อไป

Trends #6 : ปัญหาการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ไม่ได้เกิดจากปัญหาทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว
Cybersecurity, Data Privacy and Data Protection are Not Just a Technical Problems
    ในหลายยุคสมัยที่ผ่านมาเทคโนโลยีนับเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการดำเนินธุรกิจที่ดี สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้แต่เทคโนโลยียังไม่อาจหยุดยั้งภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ทั้งหมด เพราะปัญหาการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ไม่ได้เป็นเรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งด้านคน และกระบวนการ ซึ่งเป็นที่มาของ PPT Concept (People, Process และ Technology)
    แนวคิด PPT เป็นแนวคิดสากลที่องค์กรทั่วโลกนำมาปฏิบัติในการวางยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Strategy) ซึ่งรวมไปถึงการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) ความเป็นส่วนตัว (Privacy) และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection) 
    โดยพบว่า People หรือคน เป็นประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ และสร้างทักษะที่ดีในการปกป้องตนเองจากภัยต่างๆ ที่จะนำมาสู่องค์กร
    สิ่งสำคัญอีกประการที่จะนำทางองค์กรไปสู่ความสำเร็จภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้าน Cybersecurity คือ วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ดี มีความจำเป็นที่ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยการฝังรากฐานจิตวิญญาณพนักงานให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง (Cybersecurity Mindset) ต่อการปกป้องข้อมูลและระบบขององค์กรตลอดจนปกป้องข้อมูลของตนเองอีกด้วย

10 แนวโน้ม Cybersecurity & Privacy Trends 2022-2024  | ปริญญา หอมเอนก

Trends #7 : “ประกันภัยไซเบอร์” ภาคบังคับ ความท้าทายที่ต้องรู้-ต้องเข้าใจ-ต้องทำ  
Cyber Insurance Challenges : Myths, Misconceptions and Terminations
    ประกันภัยไซเบอร์เป็นเรื่องจำเป็นหรือภาคบังคับนับจากนี้ไปที่องค์กรจะต้องพิจารณาทำประกัน เพื่อให้มีผู้รับความเสี่ยงในการรับมือกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการกู้คืนข้อมูล การชดเชยค่าความเสียหาย การชำระค่าปรับต่างๆ
     เนื่องจาก ยุคนี้ภัยไซเบอร์นับว่าเป็นภัยที่มีความเสี่ยงสูง และนับวันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความฉลาดของแฮกเกอร์ที่มีพัฒนาการก้าวตามติดการพัฒนาทางไซเบอร์และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในระบบการป้องกันต่างๆ อย่างกระชั้นชิด ดังนั้นไม่เพียงแค่มีเทคโนโลยีการป้องกันที่ดีเท่านั้นแต่สิ่งสำคัญคือ “คน” จำเป็นต้องตระหนักรู้ พัฒนาทักษะการป้องกันอยู่ตลอดเวลา
    การทำประกันภัยไซเบอร์เป็นเรื่องที่องค์กรควรทำ หากแต่ประกันภัยไซเบอร์ มีรายละเอียดต่างๆ มากมายที่ทั้งผู้ขายและผู้ทำประกันจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทั่งถึงจุดที่ตัดสินใจไม่ทำประกันภัยไซเบอร์ จึงเป็นความท้าทายทั้งผู้ขายและผู้ทำประกันที่จะต้องรู้และเข้าใจในรายละเอียด ต้องเลือกบริษัทรับประกันภัยที่น่าเชื่อถือ
     มีข้อตกลงชัดเจนว่าหากเกิดเหตุ “ใครคือผู้รับผิดชอบ” ค่าปรับ ค่าสินไหมทดแทน และค่าความเสียหายต่างๆ ขณะที่ผู้ขายหรือบริษัทผู้รับประกันภัยไซเบอร์ก็มีความท้าทายเรื่องความยากในการขายและการนำเสนอ เนื่องจากมีรายละเอียด เงื่อนไข ข้อตกลงมากมายที่ต้องอธิบายให้ผู้ทำประกันเข้าใจและการชำระค่าเบี้ยประกันที่ผู้ทำประกันต้องมองเห็นคุณค่าของการทำประกันภัยไซเบอร์อีกด้วย 
                    
Trends #8 : การเปลี่ยนแปลงของโลกจาก สภาวะ VUCA เป็น สภาวะ BANI เปลี่ยนการดำรงชีวิตคนในยุคหลัง COVID 
Living in Post COVID-Era : From a VUCA world to a BANI world,  Are We Secured to Are We Ready?
    การใช้ชีวิตในยุคหลัง COVID-19 จะเปลี่ยนไปแม้แต่ในโลกของไซเบอร์ก็เช่นกัน คำถามว่าเราปลอดภัยหรือไม่? (Are we secure?) ใช้ไม่ได้อีกต่อไปเพราะไม่มีความปลอดภัย 100% บนโลกไซเบอร์ แต่จะต้องเปลี่ยนคำถามเป็น “เราพร้อมหรือยัง?” (Are we ready?) เพราะเราอาจถูกแฮกได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นวันนี้พรุ่งนี้หรืออีกไม่กี่นาทีนี้ก็ตาม 
    ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยไซเบอร์ที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เปรียบเหมือนกับการฉีดวัคซีน COVID-19 แม้จะฉีดแล้วก็ยังติดเชื้อได้ ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เราจึงจำเป็นต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันตนเองในเบื้องต้น
    ในขณะที่โลกกำลังก้าวจาก VUCA World ไปสู่ BANI World ซึ่งยุคหลัง COVID-19 จะยิ่งมีความชัดเจนขึ้น คือ 
Brittle (ความเปราะบาง) : ความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจไม่ได้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป สามารถจะเปลี่ยนแปลงหรือถูกทำลายได้ตลอดเวลา และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 
Anxious (ความกังวล) : ความไม่แน่นอนทำให้เกิดความกังวล จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความรู้สึกและสิ่งแวดล้อมที่มีความกังวลไปตลอด ไม่สามารถจะละทิ้งความกังวลไปได้
Nonlinear (ความคาดเดาได้ยาก) : เราไม่อาจทำนายอนาคตได้ยาวไกลอีกต่อไป เพราะอะไรก็อาจเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้ เราจึงต้องอยู่กับสภาวะที่คาดเดาได้ยากต่อไป 
Incomprehensible (ความไม่เข้าใจ) : เมื่อไม่มีความแน่นอน ไม่มีความชัดเจน จึงทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงได้ยากมาก อาจกระทบต่อการวางแผนที่จะควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ให้ได้ทั้งหมด
    ยุค BANI World เป็นยุคที่การดำรงอยู่ของมนุษย์อยู่ได้ยากกว่า VUCA World ซึ่งเดิมคือ Volatility ความผันผวน, Uncertainty ความไม่แน่นอน, Complexity ความซับซ้อน และ Ambiguity ความคลุมเครือ ที่ทำให้หลายองค์กรได้ทำการ Disrupt ตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรไปบ้างแล้ว
    
Trends #9 : โค้ชด้านการจัดการข้อมูลรั่วไหลกำลังเป็นที่ต้องการ องค์กรคาดหวังให้ช่วยวางแผนตอบสนองต่อเหตุการณ์การโจมตีทางไซเบอร์เชิงรุก
High Demand of Data Breach Coach and Proactive Incident Response
    อุบัติการณ์ข้อมูลองค์กรหรือข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทำให้องค์กรคิดที่หาตัวช่วยในการป้องกันระบบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลและการละเมิดข้อมูล จึงต้องการโค้ชหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ความช่วยเหลือองค์กรในเรื่อง 
    การให้ความรู้ทาง Cybersecurity และ Data Privacy การประเมินสถานภาพความเสี่ยงเพื่อรักษาผลประโยชน์ต่อการทำประกันภัยไซเบอร์ ตลอดจนให้การแนะนำด้านการจัดการระบบเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในระดับ Cyber Resilience อีกทั้งยังสามารถให้ความช่วยเหลือในยามที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่พึงประสงค์อีกด้วย  
    ปัจจัยที่ทำให้องค์กรต้องการโค้ชหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดข้อมูล ไม่เพียงแต่กระแสโลกที่มีปัญหาการละเมิดข้อมูลเกิดขึ้นอย่างมากเท่านั้น แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนนำคือ การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะสิ้นสุดการขยายเวลาและเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่องค์กรจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความพร้อม 
    นอกจากนี้องค์กรยังต้องมีแผนกลยุทธ์ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์การโจมตีทางไซเบอร์เชิงรุก (Proactive Incident Response) เช่น มีการเฝ้าระวังและตรวจจับความผิดปกติแบบ 24X7 โดยไม่รอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วจึงคิดหาทางแก้ไข 
    ทั้งนี้ องค์กรจำเป็นต้องมีการป้องกันระบบที่ดีในระดับที่ผู้บริหารองค์กรสามารถยอมรับกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ และต้องมีแผนสำรองฉุกเฉินตามมาตรฐานสากล      

10 แนวโน้ม Cybersecurity & Privacy Trends 2022-2024  | ปริญญา หอมเอนก      
                    
Trends #10 : กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผู้บริหารระดับสูงต้องเป็นผู้นำการขับเคลื่อน & สร้างวัฒนธรรมไซเบอร์ในองค์กร
The Important of building strong Cybersecurity Culture and Top Management Leadership in Cybersecurity Execution within organization.
    การขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ทั้งกรอบหรือแนวทางปฏิบัติ เทคโนโลยี กระบวนการตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการให้ทักษะความรู้ต่างๆ ต่อพนักงานและผู้บริหารที่องค์กรควรจะต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ยังมีกลยุทธ์สำคัญอีกสองประการที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ คือ 
    •กลยุทธ์ที่ผู้บริหารระดับสูงต้องเป็นผู้นำการขับเคลื่อน ควรจะมีการกำหนดให้ Cybersecurity เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กร ตลอดจนมีแผนปฏิบัติ มีการประเมินและติดตามผล อย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในหัวข้อของการประชุมผู้บริหารระดับสูงและกรรมการในทุกๆ ครั้ง 
    •กลยุทธ์ที่ผู้บริหารระดับสูงต้องสร้างวัฒนธรรมด้าน Cybersecurity ให้แก่องค์กร เพื่อกำหนดวิถีทางหรือพฤติกรรมของคนในองค์กรไปสู่ทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นความตระหนักรู้ ความระมัดระวัง การรักษาผลประโยชน์ขององค์กร การไม่ละเมิดข้อมูล หากองค์กรใดมีวัฒนธรรมด้าน Cybersecurity ที่แข็งแกร่งจะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการบริหารจัดการข้อมูลขององค์กรได้ในระยะยาว
    กลยุทธ์สองประการนี้จะทำให้การขับเคลื่อน Cybersecurity ขององค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น.