From Me to We l ธนพล ศิริธนชัย

From Me to We l ธนพล ศิริธนชัย

หลังจากที่ผมอ่านบทความของ Korn Ferry เรื่อง “Future of work trends 2022: A new era of humanity” และอีกหลายบทความเรื่องเทรนด์การทำงานของโลกในยุดหลังโควิดมีการเปลี่ยนแปลงไป ให้ความสำคัญกับเรื่องของคนมากกว่าเรื่องประสิทธิภาพขององค์กร

ผลกำไรสูงสุดของบริษัทไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนในองค์กรที่ต้องเติบโตไปด้วยกัน

หลายปีก่อนโควิด พนักงานทำงานหนักเพื่อมุ่งหวังความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การเลื่อนตำแหน่ง และโบนัสที่งดงาม 

แต่โควิด กระตุกต่อมความคิดของคนทำงานว่า ทำงานหนักไปเพื่ออะไร ความหมายในการทำงานคืออะไร อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต งานหรือคนที่รัก เป้าหมายในการมุ่งมั่นเพื่อประสบความสำเร็จในชีวิตคือ การเป็นหัวหน้างาน ประธานกรรมการ ตำแหน่งที่สังคมยอมรับ หรือการมีเวลากับครอบครัว work-life balance หรือความสุข ความภูมิใจในงานที่ทำกันแน่

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดหลายระลอก วัคซีนและมาตรการป้องกันก็ออกมาอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน จนมองไม่เห็นว่าเราจะกำจัดเชื้อโควิดให้หายไปจากโลกนี้ได้อย่างไร หรือเราควรต้องอยู่กับมันไปเรื่อยๆ ในเมื่อโควิดอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่เกิดขึ้นได้ไม่ต่างจากไข้หวัดที่เกิดขึ้นทุกปี

บริษัทต้องกลับมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยของพนักงานมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่สุขภาพกาย แต่สุขภาพใจก็สำคัญไม่แพ้กัน

หลายบริษัทในสหรัฐอเมริกาจัดตั้งแผนกจิตวิทยาองค์กร เพื่อให้คำปรึกษารับมือกับความเครียด การดูแลจิตใจในช่วงวิกฤติ หรือการรักษาโรคซึมเศร้าและการจัดการกับปัญหาในองค์กร

ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ได้ถูกวัดด้วยจำนวนชั่วโมงที่พนักงานอยู่ที่ออฟฟิศ ไม่ได้อยู่ที่จำนวนชิ้นงานที่ผลิตได้ในหนึ่งชั่วโมง แต่อยู่ที่คุณภาพของงานที่สร้างขึ้นจากพนักงานที่มีความสุขและปรารถนาให้องค์กรเป็นที่ยอมรับ ขายสินค้าบริการที่มีคุณภาพ เป็นบริษัทที่เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้า

แนวคิดขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทเปลี่ยนแปลงจากระดับ “องค์กร” สู่ “ผู้คน” (From Organization to People) ดังที่เห็นในบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Cisco ผู้นำด้านไอทีและระบบเครือข่ายทั่วโลก ได้รับการยอมรับในการสร้างความร่วมมือในองค์กร และช่วยเหลือดูแลพนักงานอย่างดีในช่วงโควิดที่ผ่านมา การันตีด้วยรางวัลบริษัทที่น่าร่วมงานมากที่สุด หรือบริษัท NVIDIA และ Bank of America ที่ให้ความสำคัญกับ work-life balance ของพนักงาน และเสนอให้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อ ส่งผลให้ผลประกอบการโตดีตามไปด้วย

"กำไร" ไม่ได้ถูกสร้างด้วยหยาดเหงื่อของพนักงานที่ถูกบังคับให้ผลิตชิ้นงานให้ได้รวดเร็ว ถูกต้อง และได้ปริมาณมากที่สุด แต่กำไรบริษัทมาจากการบริหารจัดการการทำงานที่สร้างให้พนักงานและบริษัทเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน 

องค์กรเทคโนโลยีชั้นนำ ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน การทำงานที่ยืดหยุ่น ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน มีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ ให้อิสระในการทำงาน แก้ปัญหา และบริหารจัดการเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ขององค์กร

การทำงานไม่ได้เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากการสร้าง KPI ควบคุมการทำงานของพนักงาน วัฒนธรรมองค์กรไม่ได้เป็นเรื่องการแข่งขันเพื่อถีบตัวเองให้รอด โดดเด่น หรือบินเดี่ยว หากเป็นการสร้างความร่วมมือร่วมใจในองค์กรให้เป็นหนึ่งในการสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทและกับตัวเองให้ดีที่สุด

แม้เรื่องผลกำไรจะยังเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัจจุบันโลกไม่ได้เน้นผลกำไรมาเป็นอันดับแรกอีกต่อไป แต่เน้นเรื่องของการดูแลและเติบโตร่วมกันในระยะยาว อย่างที่ Amazon ได้ลงทุนฝึกอบรมพนักงานด้วยงบกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้ และ Upskill พนักงาน

องค์กรจะเติบโตไปข้างหน้าได้ ไม่ใช่แค่การคิดถึงแต่ตัวเอง แต่ต้องมีเป้าหมายร่วมไปในทิศทางเดียวกัน หลายองค์กรมุ่งการ shift focus จาก Me ไปสู่ We คือให้ความสำคัญกับผู้คนในวงกว้างแทนที่จะใส่ใจแต่การเติบโตขององค์กรเพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างที่น่าชื่นชมในระดับโลก ได้แก่ Walt Disney ที่แบ่งปันเจตนารมย์ในการเติบโตและสร้างเป้าหมายด้วย “We create happiness” ตั้งแต่ระดับพนักงาน ฝ่ายต่างๆ ไปจนถึงระดับองค์กร พวกเขาได้ปลูกฝังเป้าหมายดังกล่าวตั้งแต่วันแรกของการเริ่มงาน ตลอดจนการเทรนนิ่ง ไปจนถึงการประชุมครั้งสำคัญ ทำให้เราไม่แปลกใจเลยที่ Walt Disney ประสบความสำเร็จระดับโลก และสร้างความสุขให้กับทั้งพนักงานและผู้คนทั่วโลกได้มากขนาดนี้

เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง องค์กรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้คนรอบตัวของเรา เราอาจต้องตั้งคำถามว่า แนวคิด “WE” ที่เหมาะสมกับองค์กรของเรามีเรื่องอะไรบ้าง มีสิ่งใดที่เราจะสามารถทำได้เพื่อสร้างการเติบโตและความก้าวหน้าให้กับทั้งบริษัทและพนักงานของเราครับ