มาตรการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคระบาดสัตว์ | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

มาตรการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคระบาดสัตว์ | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

การเกิดโรคระบาดสัตว์นั้น มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และกฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูกอีกเป็นจำนวนมาก ที่ให้หน่วยงานของรัฐมีอำนาจตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์

สถานการณ์โรคโควิด-19 นำมาซึ่งสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาถดถอย ประกอบกับปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากราคาเนื้อหมูสดในตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก 
    จนนำมาซึ่งการสืบหาความจริงของฝ่ายต่างๆ ถึงโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ทำให้สุกรล้มตายจำนวนมาก เกษตรกรจำใจต้องดำเนินการต่างๆ รวมถึงการตัดตอนโรคไม่ให้แพร่ระบาดภายในฟาร์มของตนเอง

หากพิจารณามาตรการกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสุกรหรือหมูตั้งแต่ขั้นตอนการก่อตั้งฟาร์ม การเลี้ยง การเพาะพันธุ์ การจำหน่าย การส่งออกหรือแม้กระทั่งการนำเข้า 
    อย่างไรก็ดี สำหรับการเกิดโรคระบาดสัตว์นั้น มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และกฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูกอีกเป็นจำนวนมาก ที่ให้หน่วยงานของรัฐมีอำนาจตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์
    ในทางสากลแล้ว กฎหมายโรคระบาดสัตว์ (Animal epidemic law) มีเจตนารมณ์อย่างน้อย 3 ประการ คือ การป้องกัน การควบคุม และการกำจัดโรคระบาดสัตว์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน ดังนั้น นานาประเทศจึงบังคับใช้กฎหมายโรคระบาดสัตว์ เพื่อทำให้เจตนารมณ์หรือเป้าหมายของกฎหมายนี้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
    พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 นอกจากมีเจตนารมณ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของสัตวแพทย์ สารวัตร และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย 

กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับกับชนิดสัตว์ สามารถสรุปได้ดังนี้คือ กลุ่มของสัตว์ 4 ขา เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น และให้หมายความรวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์และเอ็มบริโอของสัตว์เหล่านี้ด้วย กลุ่มของสัตว์ปีก จำพวกนก ไก่ เป็ด ห่าน และให้หมายความรวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์และไข่ สำหรับใช้ทำพันธุ์ด้วย และกลุ่มสัตว์ชนิดอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด

นอกจากโรคอหิวาต์สุกรแล้ว โรคระบาดตามกฎหมายฉบับนี้ยังหมายถึงกาฬโรคเป็ด โรคไข้หวัดนก โรคแซลโมเนลลา โรคทริคิเนลลา โรคนิวคาสเซิล โรคบรูเซลลา โรคปากและเท้าเปื่อย โรคพิษสุนัขบ้า โรครินเดอร์เปสต์ โรคเลปโทสไปรา โรคโลหิตจางติดเชื้อในม้า โรควัวบ้า โรคสมองอักเสบนิปาห์ โรคแอนแทรกซ์ โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย วัณโรค และโรคอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ประกาศกำหนด

ในทางปฏิบัติ ทุกฝ่ายย่อมไม่ต้องการให้เกิดโรคระบาดสัตว์ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงกำหนดระบบป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์เป็นเฉพาะ

ตัวอย่างของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ เช่น การกำหนดจำนวนสัตว์หรือซากสัตว์ ลักษณะของยานพาหนะ และอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ (มาตรา 8) การกำหนดให้ท้องที่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วนของท้องที่ต้องทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์หรือซากสัตว์ (มาตรา 9)

การให้เจ้าของสัตว์แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สารวัตร หรือสัตวแพทย์ ภายในเวลา 12 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ทราบว่าสัตว์ป่วยหรือตาย โดยเฉพาะกรณีเมื่อรู้ว่าเป็นโรคระบาด และให้ควบคุมสัตว์ป่วยทั้งหมดไว้ภายในบริเวณที่สัตว์อยู่ และห้ามมิให้เคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยไปจากบริเวณนั้น (มาตรา 11) 

มาตรการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคระบาดสัตว์ | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

พนักงานเจ้าหน้าที่หรือสารวัตรมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของสัตว์จัดการกักขัง แยก หรือย้ายสัตว์ป่วย หรือสงสัยว่าป่วยไว้ภายในเขตตามวิธีการที่กำหนด ฝัง หรือเผาซากสัตว์นั้น ณ ที่ที่กำหนด เป็นต้น (มาตรา 12)

การห้ามมิให้บุคคลใดขุดซากสัตว์ที่ฝังไว้แล้ว เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ หรือเป็นการดำเนินการโดยสัตวแพทย์ (มาตรา 16) การให้สัตวแพทย์มีอำนาจประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวในท้องที่ที่รับผิดชอบ มีรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากที่ที่ตรวจพบโรคระบาดนั้น (มาตรา 20) การให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดท้องที่จังหวัดนั้นทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นเขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด (มาตรา 21)

เมื่อได้พิจารณามาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะพบว่าเป็นการดำเนินการใดๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อการป้องกัน การควบคุมและการกำจัดโรคระบาด และการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเพื่อการป้องกันฯ เป็นหลัก 

แต่สำหรับเป้าหมายด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์อีกด้านหนึ่งของกฎหมายโรคระบาดสัตว์นั้น มิได้ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดใน พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับอื่นๆ อีกหลายฉบับ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น กฎหมายโรคระบาดสัตว์จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่ทรงพลังของหน่วยงานของรัฐและพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อทำให้เกิดการป้องกัน การควบคุมและการกำจัดโรคระบาดสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ.
คอลัมน์ : กฎหมายกับการพัฒนา 
กฤษรัตน์ ศรีสว่าง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์