ความท้าทายของกฎหมายยาเสพติดใหม่ | กิตติยา พรหมจันทร์

ความท้าทายของกฎหมายยาเสพติดใหม่ | กิตติยา พรหมจันทร์

แต่เดิมนั้นเราประกาศ "สงครามยาเสพติด" โดยถือเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็ดขาด (Prohibition) แต่แนวนโยบายใหม่มุ่งเน้นในเรื่องลดทอนความผิดทางอาญาลง (Decriminalization)

นโยบายใหม่มุ่งลดทอนความผิดทางอาญา โดยเฉพาะความผิดในฐานเสพหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ทั้งยังมีระบบการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรมด้วย
    เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมาประมวลกฎหมายยาเสพติด (ป.ยาเสพติด) เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยมีหลักการสำคัญ คือ 1.เป็นการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่มี โดยจัดเป็นระบบในรูปแบบของประมวลกฎหมายเล่มเดียวและปรับปรุงให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น 
 

ทั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการอ้างอิงและใช้กฎหมายซึ่งแต่เดิมนั้นแยกออกเป็นหลายฉบับ ก่อให้เกิดความไม่สอดคล้องกัน โดย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 4 ได้มีการยกเลิกกฎหมายทั้งสิ้น 24 ฉบับ 
    แต่ถึงแม้ว่ากฎหมายเก่าจะยกเลิกไปแล้ว ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ก็ได้มีการกำหนดบทบัญญัติเรื่องจะบังคับตามกฎหมายเก่าหรือกฎหมายใหม่ เช่น 
    หากบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงกฎหมายเก่าก็ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างถึงบทบัญญัติแห่ง ป.ยาเสพติดที่มีนัยเช่นเดียวกัน (มาตรา 7)
บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามกฎหมายเก่าที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ป.ยาเสพติดใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับป.ยาเสพติด หรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามป.ยาเสพติด...(มาตรา 8)
    ดังนั้น ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านกฎหมายเก่าและใหม่นี้ จึงจะต้องดูเปรียบเทียบกันไปด้วย ไม่อาจดูเพียงฉบับใดฉบับหนึ่งโดยเฉพาะและควรต้องมีการเผยแพร่ทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้ให้ตรงกัน เพื่อป้องกันความสับสนในการบังคับใช้กฎหมายในช่วงระยะแรก 
    เช่น ในเรื่องการปลูกกัญชา ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้หรือไม่ หากพิจารณาตามหลักกฎหมายที่ได้กล่าวข้างต้น กัญชาก็อาจยังถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อยู่  เพราะตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉ.7) พ.ศ. 2562 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 

กัญชาจะไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ก็เฉพาะกรณีที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ในบางส่วน เช่น เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างกับกรณีที่พืชกระท่อมที่ถูกยกเลิกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไปเลย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉ.8) พ.ศ. 2564
    ดังนั้น หากจะปลูกกัญชาซึ่งไม่ได้รับอนุญาต ตามความหมายของ ป.ยาเสพติด มาตรา 1 นิยามคำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ก็เท่ากับเราผลิต (ปลูก) กัญชา ซึ่งจะเป็น “ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด” อย่างหนึ่งตามกฎหมายใหม่ 
    และอาจได้รับโทษตาม มาตรา 148 ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 93 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาทได้

ความท้าทายของกฎหมายยาเสพติดใหม่ | กิตติยา พรหมจันทร์
    ทั้งนี้ ตามกฎหมายใหม่ หากจะให้ปลูกกัญชาได้เสรีหรือเพิกถอนกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ทั้งหมดก็อาจทำได้ ตามมาตรา 29 เพราะการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่ายาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใด…การเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติดให้โทษ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ประกาศกำหนดใหม่ หรืออาจใช้มาตรการควบคุมพิเศษตาม มาตรา 55 ได้ เป็นต้น
    2.เปิดช่องทางให้มีระบบอนุญาตเพื่อให้การควบคุมและการใช้ประโยชน์ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรม และอาจกำหนดพื้นที่ทดลอง เช่น ตาม มาตรา 55 ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด จะกำหนดเขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด 
    เพื่อ (1) ทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษฯ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ...(2) ผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด (3) เสพหรือครอบครองยาเสพติดตามประเภทและปริมาณที่กำหนด โดยกำหนดพื้นที่และตราเป็น พ.ร.ฎ. ซึ่งการกระทำการในเขตพื้นที่ที่กำหนดดังกล่าวภายใต้มาตรการควบคุมและตรวจสอบ ไม่เป็นความผิด 
    3.กำหนดระบบคณะกรรมการขึ้นเพื่อให้ทุก ๆ ฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณากำหนดนโยบายในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด และรวมถึงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด คือ

ความท้าทายของกฎหมายยาเสพติดใหม่ | กิตติยา พรหมจันทร์
    (1) คณะกรรมการ ป.ป.ส.ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นกลไกหลักดูแลด้านนโยบาย (2) คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ดูแลด้านการควบคุมยาเสพติด (3) คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ดูแลด้านการบำบัดดูแลผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด และ (4) คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ที่ดูแลด้านการตรวจสอบและยึดทรัพย์สิน 
    4.ในการลงโทษทางอาญาผู้กระทำความผิดให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับการกระทำผิดยิ่งขึ้น เช่น การยกเลิกบทสันนิษฐานการมีไว้ในครอบครองและเพิ่มบทสันนิษฐานการครอบครองเพื่อเสพ (มาตรา 102) มองผู้เสพเป็นผู้ป่วยโดยลดทอนความผิดที่ไม่ร้ายแรงในฐานเสพหรือครอบครองเพื่อเสพให้ผู้นั้นไม่มีความผิดอาญา (มาตรา 113,114) 
    ปรับระบบการลงโทษเน้นที่การปราบปรามองค์กรอาชญากรรมที่ทำผิดร้ายแรง พิจารณาจากพฤติการณ์และผลกระทบที่ร้ายแรง (มาตรา 145) และเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษให้เหมาะสม (มาตรา 165) เป็นต้น 
    จากหลักการดังกล่าวนับว่ากฎหมายยาเสพติดใหม่นี้มีความท้าทายอย่างยิ่งในการต้องปรับแนวคิดใหม่ รวมทั้งการตีความตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ต่อไปของหน่วยงาน ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั้งหลาย. 
คอลัมน์ : กฎหมาย 4.0 
กิตติยา พรหมจันทร์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์