โควิด-19 กับการคิดใหม่ทำใหม่ | ไสว บุญมา

โควิด-19 กับการคิดใหม่ทำใหม่ | ไสว บุญมา

การประชุมประจำปีของเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะเป็นในสัปดาห์นี้ถูกเลื่อนเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้จะเข้าร่วมรวมตัวกันในสถานที่ประชุมในสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้

ตลอดสัปดาห์นี้ จะมีถ้อยแถลงและการพูดคุยกันของผู้นำด้านการเมือง เศรษฐกิจและด้านแนวคิดต่าง ๆ ผ่านการสื่อสารบนจอคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเวทีเสมือน  เนื่องจากโควิด-19เป็นปัจจัยที่ทำให้โลกประสบปัญหาสาหัสมา 2 ปี เวทีเศรษฐกิจโลกจึงมีวาระสำคัญอันเกิดจากมันด้วย
    ไม่กี่วันก่อนการเริ่มประชุมบนเวทีเสมือน องค์กรเอกชนออกซ์แฟม  (Oxfam) เสนอรายงานเกี่ยวกับวิกฤตการณ์อันเนื่องมาจากโควิด-19  รายงานนั้นใช้ข้อมูลจำนวนมากจากนิตยสารฟอร์บส์และธนาคารโลก  

ข้อสรุปที่โดดเด่นซึ่งก่อให้เกิดประเด็นสำคัญยิ่ง ได้แก่ ในขณะที่ผู้คนทั่วทั้งโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักถึงขั้นอดอยากและล้มตายอย่างแพร่หลาย มีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งร่ำรวยขึ้นแบบก้าวกระโดด นั่นคือ มหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์  
    ออกซ์แฟมรายงานว่า โควิด-19 ส่งผลให้คนยากจนถึงขั้นอดอยากเพิ่มขึ้นราว 160 ล้านคน  การเพิ่มขึ้นนี้สวนทางกับแนวโน้มในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ที่ทำให้ความยากจนลดลง
    ด้านมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ ข้อมูลบ่งว่าระหว่างเดือน มี.ค.2563-พ.ย.2564 ทรัพย์สินของพวกเขาเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์เป็นเกือบ 14 ล้านล้านดอลลาร์  

ผู้ที่รวยขึ้นเร็วที่สุดได้แก่ มหาเศรษฐีลำดับ 1-10 ของโลกซึ่งมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์  

ใน 10 คนนี้ 9 คนเป็นชาวอเมริกันโดยกำเนิดบ้าง โดยเปลี่ยนสัญชาติบ้าง และ 1 คนเป็นชาวฝรั่งเศสผู้ทำธุรกิจด้านผลิตและขายสินค้าหรูหราจำพวกกระเป๋าถือ เครื่องสำอาง นาฬิกาและสุราราคาสูง
    ดังเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางแล้ว แม้จะพัฒนาและก้าวหน้าทางด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำของชาวโลกมิได้ลดลง  

ตรงข้ามมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งนโยบายของรัฐที่มักเอื้อประโยชน์ให้คนรวย  ข้อมูลที่เพิ่งอ้างถึงเน้นย้ำให้เห็นอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้นถึงสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 

 ด้วยเหตุนี้ องค์กรเอกชนเช่นออกซ์แฟมจึงเรียกร้องมานานให้กลุ่มผู้นำโลกในด้านต่าง ๆ และมหาเศรษฐีใส่ใจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง มิใช่แต่แค่เปล่งวาทกรรมอันเลิศหรูออกมาบนเวทีต่าง ๆ รวมทั้งเวทีเศรษฐกิจโลก  
    คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า คลอส ชวับ เป็นผู้ก่อตั้งและขับเคลื่อนหลักของเวทีเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 2514  เขาจึงมีบทบาทในการวางกรอบและบรรจุวาระของการประชุม  ในช่วงที่โควิด-19ระบาดอยู่นี้ เขามีแนวคิดว่าน่าจะพิจารณาและทำอะไรในแนวไหน
    โดยเสนอไว้ในหนังสือชื่อ Covid-19: The Great Reset (คอลัมน์นี้ตีพิมพ์บทคัดย่อภาษาไทยในช่วงกลางเดือน ส.ค.-ก.ย. ปีที่แล้ว)  ชื่อของหนังสือบ่งชี้ถึงแนวคิดหลักคือ ชาวโลกจะต้องปรับตัวกันแบบยกเครื่องเพื่อตอบโจทย์ที่โควิด-19 ตั้งขึ้น รวมทั้งโจทย์เก่าเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำตามที่ข้อมูลข้างต้นบ่งชี้ด้วย  
    นอกจากโจทย์เหล่านั้นแล้ว โลกยังมีโจทย์ใหญ่ ๆ ที่ยังไม่มีคำตอบอย่างเพียงพออีกด้วย เช่น โจทย์เกี่ยวกับระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ  

โจทย์นี้มีความสำคัญถึงขั้นการอยู่รอดของมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์จึงเสนอให้ใช้มาตรการจำพวกที่จะนำไปสู่การยกเครื่องของพฤติกรรมเป็นคำตอบ  

แต่หลังเวลาผ่านมากว่า 25 ปีจากวันที่องค์การสหประชาชาติเริ่มออกนำทำการขับเคลื่อนการตอบโจทย์ ชาวโลกยังไม่ลงมือทำตามมาตรการที่วางอยู่บนฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือปรับตัวแบบยกเครื่องอย่างจริงจัง 
    การปรับตัวแบบยกเครื่องตามที่โจทย์ต้องการ ทั้งรัฐบาลและเอกชนจะต้องทำ เช่น ลดการบริโภคเกินความจำเป็นลงและช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น  แต่เท่าที่พออนุมานได้ในขณะนี้ มีรัฐบาลและเอกชนเพียงจำกัดที่ได้เริ่มปรับแนวคิดพร้อมนโยบายและการกระทำแบบยกเครื่องเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ ๆ  
    ด้วยเหตุนี้ โลกจะมีปัญหาสาหัสต่อไป  ทางออกของประชาชนเดินถนนทั่วไป
นอกจากจะพยายามทำสิ่งที่จะช่วยตอบโจทย์เหล่านั้นได้บ้างแล้ว สิ่งที่ควรจะทบทวนและปรับอยู่เสมอ ได้แก่ ความเพียงพอของภูมิคุ้มกันทุกด้านสำหรับครอบรัวและตัวเอง.