ของเล่นใหม่ในกลุ่มมหาเศรษฐี

ของเล่นใหม่ในกลุ่มมหาเศรษฐี

ความพยายามเดินทางออกนอกโลก ด้วยยานพาหนะของตัวเองของ 3 มหาเศรษฐีโลก ได้รับการยกย่องพร้อมกับถูกมองไปในทางลบ โดยเฉพาะช่วงที่โลกมีวิกฤติโควิด

       เมื่อวันอังคาร เจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีลำดับต้นของโลกเป็นเอกชนคนที่ 2 ที่เดินทางออกไปนอกโลกด้วยยานพาหนะของตัวเอง หลังจากเซอร์ริชาร์ด บรอนสัน ทำเช่นนั้นเมื่อ 9 วันก่อน  ยานพาหนะที่ทั้งคู่ใช้แตกต่างกันมาก แต่มีความคล้ายกันในด้านพาผู้โดยสาร 4-5 คนออกไปอยู่นอกโลก หรือในสภาพร่างกายไร้น้ำหนักได้เพียงไม่กี่นาที 

การที่ทั้งคู่เดินทางด้วยความปลอดภัยนั้นเป็นเสมือนการพิสูจน์ให้ผู้สนใจเดินทางออกไปนอกโลกเห็นว่าสามารถทำได้โดยไม่ต้องกังวล  ขั้นต่อไป พวกเขาจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจที่พร้อมจ่ายเงินหลักแสนดอลลาร์ทำบ้าง  กิจการท่องเที่ยวอวกาศของนายเบซอสประกาศว่า ยานพาหนะของเขาจะเดินทางอีก 2 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้  แต่ละครั้งอาจพานักท่องเที่ยวขึ้นไปได้จำนวนหนึ่งซึ่งอาจเป็นเพียง 4 คน  ส่วนกิจการของเซอร์ริชาร์ดประกาศว่าปีหน้าจึงจะพานักท่องเที่ยวขึ้นไปสัมผัสอวกาศ

ดังที่คอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นอกจากมหาเศรษฐี 2 คนนี้แล้ว ยังมีอีลอน มัสค์อีกคนที่กำลังพัฒนายานพาหนะที่จะพานักท่องเที่ยวออกไปนอกโลก  กิจกรรมของทั้ง 3 คนได้รับการยกย่องพร้อมกับถูกมองไปในทางลบโดยเฉพาะในบริบทของช่วงนี้ซึ่งโลกมีวิกฤติจากโควิด-19 

ในด้านการยกย่อง ผู้วิจารณ์มักมองว่ามันอยู่ในกระบวนการของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มนุษย์ต้องทำเพื่อนำมาใช้ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาของโลกปัจจุบัน  ผู้มองในแนวนี้เป็นไปตามความคิดพื้นฐานของมหาเศรษฐี 3 คนนั้นซึ่งเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีมีคำตอบให้มนุษยชาติ แต่ก็มองไม่เห็น หรือมองข้ามประด็นที่ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีมีต้นทุนในด้านการใช้ทรัพยากรของโลก และโทคโนโลยีมักมีคำสาปติดมาด้วย  ยิ่งเทคโนโลยีมีอานุภาพสูงเท่าไร คำสาปของมันยิ่งร้ายแรงขึ้นเท่านั้น 

ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ได้แก่การตีดาบออกมาใช้เป็นอาวุธกับการสร้างเครื่องบินเพื่อนำระเบิดปรมาณูไปทิ้งเพื่อฆ่าคนเกือบทั้งเมือง  ผู้ใช้ทรัพยากรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่มีความสนใจในด้านการใช้ทรัพยากรเพื่อป้องกันมิให้มันถูกนำไปใช้ในทางทำลายแม้ในวันนี้โลกจะมีระเบิดที่ทำลายได้หลายร้อยเท่าของระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ทำลายเมืองฮิโรชิมาเมื่อปี 2488 ก็ตาม

นอกจากนั้น พวกเขามองว่าการได้ออกไปนอกโลกจะเปลี่ยนมุมมองของผู้ออกไปทั้งในฐานะเจ้าของกิจการและนักท่องเที่ยวไปในทางที่ผู้ไม่มีโอกาสออกไปจะหยั่งถึง  การเปลี่ยนมุมมองนั้นจะเป็นไปในทางดีที่จะทำให้โลกใบนี้มีความยั่งยืนขึ้น  ผู้วิจารณ์มักอ้างถึงคำพูดของอดีตมนุษย์อวกาศที่มองเห็นโลกเป็นดาวเล็ก ๆ ดวงหนึ่งซึ่งมีความเปราะบางลอยเคว้งคว้างอยู่กลางความกว้างใหญ่ของจักรวาลอันหาขอบเขตมิได้  แต่มนุษย์อวกาศพูดเช่นนั้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี  ณ วันนี้ กิจกรรมที่จะทำให้โลกลดความเปราะบาง หรือยั่งยืนขึ้นยังมีไม่พอที่จะยับยั้งมิให้โลกทรุดโทรมต่อไป  ตัวอย่างง่าย ๆ ได้แก่ภาวะโลกร้อน 

สำหรับด้านการถูกมองไปในทางลบ คำวิจารณ์มักเป็นประเด็นที่ว่า การพัฒนากิจการเดินทางออกไปนอกโลกดังกล่าวเกิดจากอัตตาของเหล่ามหาเศรษฐีที่พยายามคุยเขื่องว่าใครจะยิ่งใหญ่กว่ากัน  ส่วนความประสงค์ของมหาเศรษฐีที่จะยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อเดินทางออกไปสัมผัสภาวะไร้น้ำหนักก็เช่นกัน  มันเป็นเพียงการใช้ทรัพยกรของโลกซึ่งกำลังร่อยหรอลงอย่างรวดเร็วเพื่อสนองตัณหาอันไร้ค่าของพวกเขาเท่านั้น 

ณ วันนี้ เซอร์ริชาร์ดและนายมัสค์ได้ให้คำมั่นสัญญาแก่ชาวโลกว่า เขาทั้งสองจะบริจาคทรัพย์สินไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาของโลก  ส่วนนายเบซอสไม่ยอมทำเช่นนั้น  คำถามสำคัญยิ่งคือ จะต้องรออีกนานเท่าไรมนุษย์ส่วนใหญ่จึงจะออกไปนอกโลกและเปลี่ยนมุมมองของตนไปในแนวของอดีตมนุษย์อวกาศบางคนตามด้วยการลงมือทำกิจกรรมเพื่อปกปักรักษาโลกอย่างจริงจังรวมทั้งการสละทรัพย์สินส่วนใหญ่เพื่อแก้ปัญหาของโลก?

 เรื่องนี้ไม่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทันกาล  ฉะนั้น การเดินทางออกไปนอกโลกจึงจะเป็นเพียงของเล่นชุดใหม่ของบรรดามหาเศรษฐีผู้มีเงินจะเผาเท่านั้นเอง.