Thematic Fund: อุตสาหกรรมเกมกับการเลเวลอัพในปี 2022

Thematic Fund: อุตสาหกรรมเกมกับการเลเวลอัพในปี 2022

ข่าวการร่วมเป็นพันธมิตรของดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอทีในไทยเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่งกับกลุ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเกม ตอกย้ำให้เห็นถึงตลาด “เกมมิ่ง” ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แม้แต่ในไทยเองที่เป็นตลาดขนาดเล็กก็ยังมีการคาดการว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 33,000 ล้านบาท ในขณะที่การเติบโตของอุตสาหกรรมเกมทั้งโลกคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยประมาณปีละ 9% และอาจจะมีมูลค่าแตะ 196,000 ล้านดอลลาร์[1] ในปี 2022 หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของ Nominal GDP ของประเทศไทย

ซึ่งนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 อุตสาหกรรมในกลุ่ม Entertainment เป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างโดดเด่น รวมถึงกลุ่มเกมมิ่งด้วย และยังคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องภายหลังการแพร่ระบาดและกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วย การเติบโตเกิดจากหลายๆ ปัจจัยทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป Lifestyle ที่เปลี่ยนไปอย่างมาก วิธีการหารายได้ การพัฒนาของเทคโนโลยี รูปแบการทำธุรกิจ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่ยังคงส่งผลบวกอย่างต่อเนื่อง เช่น การเติบโตของ Blockchain และ Non-fungible Token (NFT) ต่างๆ

ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมให้มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นเกิดขึ้นมีหลากหลายปัจจัย ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะถูกเร่งตัวขึ้นอันเป็นผลจากการแพร่ระบาด ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และความเชื่อมโยงเกมเข้ากับแพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆ ที่ทำให้เข้าถึงเกมได้ง่ายขึ้น เชื่อมโยงกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เชื่อมต่อสังคมได้ง่ายขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้น

เกมที่ถูกผลิตออกมามีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น ตอบโจทย์คนเล่นในวงกว้างมากขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเด็กอีกต่อไป เราน่าจะเคยเห็นคนวัยผู้ใหญ่เล่น Casual Game กันจนชินตาในปัจจุบัน และไม่ได้นับเป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใดอีกต่อไป ในขณะที่เกมก็เชื่อมต่อกับ Social Media มากขึ้น ทำให้เกิดการโฆษณาในกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว หรือก่อให้เกิดการแข่งขันต่างๆ 

(2) รูปแบบการทำกำไรที่เปลี่ยนแปลงไป ในลักษณะของ Gaming as a Service (GaaS) ที่มีเรื่องของระบบ Microtransaction หรือ In-Game Purchased ที่สร้างรายได้ให้กับผู้พัฒนาเกมมากขึ้น ในขณะที่ผู้เล่นก็ยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อความสะดวกสบาย ซื้อสิ่งของในเกมที่ตนเองอยากได้ หรือลดทอนเวลาที่จำเป็นลง สะดวกสบายมากขึ้นในการทำสิ่งที่ตนเองชอบ ทำให้ธุรกิจโมเดลเป็นไปในลักษณะของการ Win-Win และ (3) เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น เช่น เรื่องของภาพ การประมูลผล ความเร็ว หรือการทำเกมข้ามแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงระบบ Cloud Computing ที่มีส่วนด้วย นอกจากนั้นแพลตฟอร์มมือถือที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องก็มีส่วนต่อการพัฒนาในส่วนนี้เช่นกัน ทั้ง 3 ปัจจัยนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่น่าจะเอื้อหนุนให้อุตสาหกรรมเกมเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้

อีกปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมอย่างมาก คือ การเติบโตของ eSport และ Ecosystem ต่างๆ โดยผู้ชม eSport คาดว่าจะเติบโตจาก 335 ล้านคนในปี 2017 มาเป็น 645 ล้านคนในปี 2022 (จากการประมาณการของ Statista) หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 90% ภายในระยะเวลาเพียงห้าปี โดยหากเทียบกับผู้ชมในกีฬาหลักเช่นฟุตบอลที่มีประมาณ 4,000 ล้านคนทั่วโลก หรือ Cricket ที่ 2,500 ล้านคน แล้วก็นับว่าเป็นจำนวนผู้ชมที่มากและไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นในฐานะของนักธุรกิจหรือนักลงทุนก็ตาม กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ eSport เป็นที่ยอมรับในลักษณะของการกีฬามากขึ้นเรื่อยๆ

 ผู้เล่นเองก็มีแหล่งรายได้และสามารถใช้เป็นอาชีพหลักได้ (เงินรางวัลสูงสุดในทัวร์นาเมนต์การแข่งเกมส์ในปัจจุบันอยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์หรือ ประมาณ 1,300 ล้านบาท) รวมถึงการ Stream เกมก็ทำรายได้ให้ผู้คนมากมายในส่วนนี้เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องของเกมไม่ใช่เรื่องของความบันเทิงหรือฆ่าเวลาเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยในช่วงที่ผ่านมาองค์ประกอบหลักทั้งสามของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาเกม สื่อและแพลตฟอร์มต่างๆ ผู้จัดงานอีเวนท์ รวมถึงกลุ่มที่ผลิต Hardware ล้วนแล้วแต่เติบโตอย่างมาก สุดท้ายในส่วนของกระแส GameFi และ แนวเกมส์แบบ Play-to-Earn ที่ดึงดูดผู้พัฒนาทั้งรายใหม่ รวมถึงรายใหญ่ที่พัฒนาเกมส์มานานแล้วเข้ามามีส่วนต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมอย่างมากเช่นกัน

หากเราสนใจและเชื่อว่าอุตสาหกรรมเกมน่าจะเติบโตได้ดีในระยะยาว ในส่วนของการลงทุนก็มีทางเลือกที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นหุ้นรายตัว แม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างประเทศเป็นหลัก กองทุนรวม Feeder Fund ที่มีให้เลือกในหลายๆ บลจ. หรือแม้แต่กองทุน ETF เช่น Global X Video Games & Esports ETF หรือแม้แต่ VanEck Vectors Video Gaming and eSports ซึ่งเป็น Thematic Fund ในกลุ่มเดียวกันแต่ก็มีการเลือกหุ้นรวมถึงน้ำหนักการลงทุนที่แตกต่างกันซึ่งผู้ลงทุนจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจก่อนลงทุนเสมอ

สุดท้ายนี้การลงทุนในกลุ่ม Thematic Fund นั้นอย่าลืมพิจารณาภาพรวมของพอร์ตฟอลิโอ รวมถึงน้ำหนักการลงทุนในแต่ละกลุ่มให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงด้วยครับ และไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็แล้วแต่ยังคงต้องคำนึงถึงระดับการซื้อขาย (Valuation) ที่เหมาะสม การเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต หรือ ความเข้มแข็งของธีมประกอบไปด้วยครับ .... และหวังว่าทุกท่านจะประสบความสำเร็จกับการลงทุนในปี 2022 ครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด

[1] (ข้อมูลจาก Roundhill Invetments และ Newzoo)