สิ่งที่ควรขอในปี 2022 - การคิดระยะยาว | พสุ เดชะรินทร์

สิ่งที่ควรขอในปี 2022 - การคิดระยะยาว | พสุ เดชะรินทร์

ปีใหม่ 2022 เริ่มต้นมาได้ไม่กี่วัน ท่านผู้อ่านได้ตั้งปณิธานปีใหม่ไว้ว่าอย่างไรกันบ้าง? ลองทบทวนดูว่าในช่วงปีที่ผ่านมามีโอกาสและมีเวลาที่จะคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ในระยะยาวบ้างไหม?

เรื่องหนึ่งที่ขาดหายไปสำหรับหลายๆ คนในปี 2021 ที่ผ่านมา และควรจะเป็นหนึ่งในปณิธานปีใหม่นี้ คือความสามารถที่จะคิดในระยะยาว หรือที่เรียกว่า Long-term thinking 
    ความสามารถในการคิดในระยะยาวไม่ได้เพียงสำคัญสำหรับแต่ละบุคคลเท่านั้น องค์กรที่ต้องการประสบความสำเร็จก็ต้องการผู้บริหารที่สามารถคิดในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic thinking) 

เคยมีการสำรวจผู้บริหารกว่า 10,000 คนทั่วโลก และ 97% ตอบตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรคือ Long-term strategic thinking การจะทำให้ผู้บริหาร 97% คิดตรงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย แสดงว่าเรื่องการคิดในระยะยาวนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อความสำเร็จขององค์กรจริงๆ
    แต่ปัญหาสำคัญคือทุกๆ คน (รวมทั้งผู้บริหาร) ต่างระบุว่าไม่มีเวลาสำหรับการคิดในระยะยาว มีงานสำรวจอีกชิ้นหนึ่งที่สอบถามผู้บริหารเหมือนกันและพบว่า 96% ตอบว่าตนเองไม่มีเวลาสำหรับการคิดเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว ซึ่งความย้อนแย้งนี้ ก็เป็นประเด็นที่หลายๆ องค์กรเผชิญอยู่ นั้นคือ ทุกคนเห็นว่าการคิดในระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ก็ไม่มีเวลาสำหรับการคิดในระยะยาว
    ในรอบสองปีที่ผ่านมา เริ่มมีการโทษว่าโควิด-19 เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่สามารถคิดในระยะยาว ทั้งจากผลพวงของโควิดที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและยากที่จะวางแผนและคิดยาวๆ ได้ และเริ่มมีงานวิจัยที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าโควิดทำให้สมาธิของคนสั้นลง
    อาการสมาธิที่สั้นที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากตัวเชื้อโควิด-19 แต่มาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทำให้คนต้องการและพร้อมจะรับข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

เมื่อสมองรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ก็จะต้องรีบคิด รีบตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และสมองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถรองรับต่อปริมาณข้อมูลต่างๆ และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา สุดท้ายสมองก็ติดกับดักที่ไม่สามารถคิดหรือวางแผนในระยะยาวได้อีก

ท่านผู้อ่านลองสังเกตตัวเองดูก็ได้ว่าในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา สามารถที่จะนั่งดูภาพยนตร์ หรือ อ่านหนังสือแบบยาวๆ ประมาณสองชั่วโมงติดกันเหมือนในอดีต โดยไม่ต้องลุกขึ้น หรือ หยิบมือถือมาดู ได้หรือไม่? ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมความบันเทิงที่ออกมาในปัจจุบันจึงมักจะเป็นความบันเทิงในระยะสั้น ที่เนื้อหาจะมีขนาดที่สั้นลง
    นอกเหนือจากสมาธิที่สั้นลงแล้ว อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยากจะคิดในระยะยาวได้ คือการให้คุณค่าและความสำคัญกับความยุ่ง (Busyness) โดยเฉพาะในวัฒนธรรมการทำงานแบบตะวันตกที่รับกันมา ความยุ่งจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสถานะและความสำคัญของคนๆ นั้น ผู้ที่ยุ่งตลอดเวลาแสดงว่าเป็นคนที่มีคุณค่า มีความสำคัญ เป็นที่ต้องการของคนอื่น ซึ่งเมื่อความยุ่งสะท้อนสถานะและความสำคัญของแต่ละบุคคล ก็จะทำให้เกิดอาการเสพติดกับความยุ่งขึ้นมา
    ผู้ที่เสพติดกับความยุ่งก็เป็นอีกหนึ่งความย้อนแย้งที่พบเจอทั่วไป นั้นคือปากมักจะบ่นว่าไม่มีเวลา แต่ก็ยังชอบแสวงหางานหรือกิจกรรมที่ทำให้ชีวิตตนเองยุ่งอยู่ตลอดเวลา เพราะยิ่งยุ่งก็จะยิ่งรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ
    โดยสรุปทั้งสมาธิที่สั้นลงและการเสพติดกับความยุ่งต่างเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไม่มีเวลาที่จะคิดในระยะยาวได้ ลองสังเกตตัวท่านและบุคคลรอบข้างดูว่าเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมามีอาการหรือพฤติกรรมของสมาธิที่สั้นลงและเสพติดกับความยุ่ง จนไม่มีเวลามาคิดถึงสิ่งต่างๆ ในระยะยาวหรือไม่ และจะเริ่มต้นปีใหม่นี้จะปรับพฤติกรรมอย่างไรเพื่อให้สามารถคิดในระยะยาวได้มากขึ้น.
คอลัมน์ : มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]