บทลงโทษ "Viya" แม่ค้าออนไลน์จีน ระดับ 100 ล้านผู้ติดตาม จากกรณี "เลี่ยงภาษี"

บทลงโทษ "Viya" แม่ค้าออนไลน์จีน ระดับ 100 ล้านผู้ติดตาม จากกรณี "เลี่ยงภาษี"

กลายเป็นข่าวดังทั่วสังคมออนไลน์จีน เมื่อ "Viya" แม่ค้าออนไลน์จีนชื่อดัง โดนทางหน่วยงานจัดเก็บภาษีเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ปรับเงินเป็นจำนวนมากถึง 1,341 ล้านหยวน เนื่องจาก "เลี่ยงภาษี"

กลายเป็นข่าวดังทั่วสังคมออนไลน์จีน สำหรับประเด็นของ หวง เวย หรือ Viya แม่ค้าออนไลน์จีนชื่อดัง ที่โดนทางหน่วยงานจัดเก็บภาษีเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ปรับเงินเป็นจำนวนมากถึง 1,341 ล้านหยวน (มากกว่า 6,500 ล้านบาท) เนื่องจากพฤติการณ์เลี่ยงภาษี หรือจ่ายภาษีน้อยกว่าที่เป็นจริง ระหว่างปี 2019-2020 โดยคิดเป็นเงินราว 703 ล้านหยวน ตามข้อมูลจาก สำนักงานกิจการภาษีแห่งชาติจีน (State Taxation Administration) 

ทางการจีน เปิดเผยออกมาว่า ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ตรวจจับความเป็นไปได้ที่ทาง Viya จะมีการเลี่ยงภาษีครั้งใหญ่มาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว มีการแจ้งเตือนไปหลายครั้งเพื่อให้ทำการแก้ไข แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางการจีนจึงตรวจสอบเชิงลึก และดำเนินการทางกฎหมายดังที่เป็นข่าวออกมา

บทลงโทษ "Viya" แม่ค้าออนไลน์จีน ระดับ 100 ล้านผู้ติดตาม จากกรณี "เลี่ยงภาษี"

ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุไว้ชัดเจนว่า หากผู้ใดไม่จ่ายภาษีหรือจ่ายภาษีต่ำกว่าที่เป็นจริง ต้องจ่ายค่าปรับ ตามอัตราค่าปรับโดยคิดเปอร์เซ็นต์จากภาษีที่ต้องจ่ายและคำนวณเป็นรายวัน โดยหลังจากคิดคำนวณรวมกันแล้ว ค่าปรับจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% และไม่เกิน 5 เท่าของภาษีที่ไม่ได้จ่ายหรือที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม (เนื่องจากก่อนหน้านั้นจ่ายไม่ครบ หรือไม่ได้จ่ายตามจริง)
 

สำหรับคดีอาญา ให้สอบสวนความรับผิดทางอาญาตามกฎหมาย บทลงโทษสำหรับการหลีกเลี่ยงภาษีภายใต้กฎหมายอาญาของจีนคือ หากผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีเท็จโดยการโกง ปกปิด หรือไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และจำนวนภาษีที่มีการหลีกเลี่ยง มีมูลค่าสูง ซึ่งหากสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของภาษีที่ต้องชำระ ผู้เสียภาษีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือถูกกักขังทางอาญาและต้องระวางโทษปรับ ขณะที่ถ้ามีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 30 ของภาษีที่ต้องชำระ ผู้เสียภาษีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีและไม่เกิน 7 ปีและต้องระวางโทษปรับ

รายละเอียดด้านบนเป็นบทลงโทษตามบทกฎหมายจีน แต่ทว่า ในโลกความเป็นจริง ถ้าคุณเป็นดารา คนดัง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง การลงโทษรุนแรงกว่านั้นมาก ในรูปแบบของการลงโทษทางสังคม ทั้งกระแสสังคมจีน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการงาน 

ดารา คนดัง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง การลงโทษรุนแรงกว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

หนึ่งในนโยบายหลักที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์จีนในปัจจุบันภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน คือดำเนินนโยบายกวาดล้างพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของคนดัง ผู้มีอิทธิพลต่อสังคมจีนในวงกว้าง อันเป็นส่วนหนึ่งของ “มาตรการชิงหล่าง” ซึ่งเป็นมาตรการจัดระเบียบโลกออนไลน์ที่จีนนำมาบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และมีประเด็นดัง หลังจากปรับใช้มาตรการดังกล่าวได้ไม่นาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรณี เจิ้ง ส่วง ดาราสาวจีนชื่อดัง หลีกเลี่ยงภาษี โดนปรับมากกว่า 299 ล้านหยวน (ราว 1,500 ล้านบาท) บัญชีโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับดาราสาวรายนี้ โดนปิดไปทั้งหมด เนื่องจากทางจีนมองว่า เป็นตัวอย่างไม่เหมาะสม จึงต้องกวาดล้างออกจากโลกออนไลน์ ไม่ให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี 

เคสของ Viya กลายเป็นหนังฉายซ้ำอีกครั้ง ซึ่งมูลค่าการปรับสูงกว่าทั้งของกรณี เจิ้ง ส่วง และ ฟ่าน ปิงปิง ในปี 2018 เสียอีก (ฟ่านปิงปิง โดนปรับราว 4,200 ล้านบาท) โดยเครื่องมือทำมาหากินบนโลกออนไลน์ของ Viya อันตรธานหายไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งบน เถาเป่า-Taobao ที่มีผู้ติดตามกว่า 80 ล้านราย  Weibo ผู้ติดตาม 18 ล้านราย และแพลตฟอร์ม Douyin (Tiktok จีน) ก็ไม่ปรากฏบัญชีผู้ใช้งาน Viya อีกต่อไป 

ตามความเห็นของผู้เขียน ถ้าดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับดารา-คนดังจีนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทำผิดกฎหมายในประเด็นต่างๆ ทาง Viya มีแนวโน้มโดนแบนจากสมาคมศิลปะการแสดงและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ยกอย่างเช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สมาคมศิลปะการแสดงจีนประกาศรายชื่อคนดังจากการไลฟ์สดและสื่อออนไลน์ โดยในรายชื่อที่ประกาศออกมา ประกอบไปด้วย เซเลบออนไลน์จำนวน 85 คน และดารา-ศิลปินชื่อดัง 3 คน ได้แก่

  • “เจิ้ง ส่วง” จากกรณีมีข่าวฉาวถูกอดีตสามีแฉเรื่องสั่งทำแท้งลูกที่เกิดจากการอุ้มบุญ และหลีกเลี่ยงภาษี
  • “อู๋อี้ฝาน” จากเหตุอื้อฉาวล่วงละเมิดทางเพศ
  • “จางเจ๋อฮั่น” กรณีปรากฏภาพไปเยือน ยาสุคุนิ - ศาลเจ้าญี่ปุ่น สถานที่รวบรวมป้ายวิญญาณของเหล่าทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนต่อจีน ทำให้เขาโดนสังคมจีนและทางการจีนตั้งข้อหา “ไม่รักชาติ” อันเป็นที่มาของการโดนแบน 

การโดนแบนในรายชื่อบัญชีดำการไลฟ์สดและปรากฏบนสื่อออนไลน์ ถือเป็นการลงดาบอย่างรุนแรงของทางการจีน ที่ดำเนินนโยบายผ่านทางสมาคมที่มีอำนาจจัดการ ที่ไม่ใช่แค่แบนจากสื่อออฟไลน์ แต่ไม่ให้พื้นที่ทำมาหากินบนสื่อออนไลน์อีกด้วย เรียกว่า “ปิดประตูทุกทาง” เพราะถ้าไม่มีการแบนบนโลกออนไลน์ คนดังที่จากเดิมจะปรากฏบนสื่อทั่วไป ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ช่องทางออนไลน์ ทางจีนเลยปิดทุกประตู 

จากการเปิดเผยของ People’s Daily สื่อกระบอกเสียงรัฐบาลจีน ในรอบสองปีมานี้ จีนขึ้นบัญชีดำ “ไลฟ์สตรีมเมอร์ Livestreamer” ไปแล้วกว่า 446 คน ดังนั้นมันจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ Viya จะเป็นรายต่อไป

ทั้งนี้ Viya มีชื่อเสียงมาจากการไลฟ์สดขายสินค้าบน Taobao แพลตฟอร์มค้าออนไลน์รายใหญ่ในเครือ Alibaba ของ แจ็ค หม่า (อีคอมเมิร์ชยักษ์ใหญ่ที่โดนทางการจีนจับตามองในกรณีผูกขาดการค้า และหลังจากจีนมีนโยบาย “Common Prosperity รุ่งเรืองด้วยกัน” Alibaba ก็ตอบรับนโยบายนี้ ระบุพร้อมร่วมมือกับทางการจีนและสนับสนุนอย่างเต็มที่) โดยมีรายงานว่า Viya สร้างยอดขายจากการไลฟ์ขายสินค้าช่วงเทศกาลช้อปปิ้งวันคนโสด 11 เดือน 11 สูงถึง 8.5 พันล้านหยวน ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกของการสร้างยอดขายมหาศาลเช่นนี้ เวลาเธอไลฟ์ขายสินค้า มีคนสนใจซื้อจำนวนมากอยู่ตลอด ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า รายได้สุทธิต่อปีของ Viya มากกว่าหลักพันล้านหยวน

กรณีของ Viya เป็นเสมือนการส่งหมายเตือนไปยังคนดังและเหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คนอื่นๆ ให้รีบเคลียร์ภาษีภายในสิ้นปี 2564 โดยมีการประกาศออกมาเป็นทางการจากหน่วยงานภาษีจีน 

อนึ่ง เราอาจได้เห็นรัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมวงการไลฟ์สดและขายสินค้าบนโลกออนไลน์จีนที่เข้มงวดกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้ จากเรื่องราวของ Viya เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซผ่านทางไลฟ์สดจีน เติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านหยวนเมื่อปี 2563 ตามการประเมินของ KPMG บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก 

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่