เมืองหลวงจมน้ำ เมืองรองติดหล่ม | อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

เมืองหลวงจมน้ำ เมืองรองติดหล่ม | อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

ประเด็นเรื่องความเสี่ยงในการจมน้ำของมหานครกรุงเทพ กลับมาเป็นที่สนใจมากอีกครั้งหนึ่งเมื่อหลายพื้นที่ได้ประสบปัญหาน้ำท่วม จากน้ำทะเลหนุนสูงที่ผ่านมา

นักวิชาการหลายสำนักทั้งในไทยและในต่างประเทศ ได้นำเสนอข้อมูลการพยากรณ์พร้อมคำเตือนเรื่อยมาถึงโอกาสการจมน้ำของภาคมหานครของไทย ด้วยสาเหตุหลายประการ
    นับตั้งแต่การทรุดตัวของพื้นดิน ไปจนถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นตามอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการจมน้ำของมหานครกรุงเทพจึงไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ และคงยังถกเถียงกันไปอีกเป็นระยะๆ

ในการรับมือกับความเสี่ยงการจมน้ำของมหานครกรุงเทพ แนวทางหลักคือการบริหารจัดการระดับน้ำทั้งภายในพื้นที่มหานครและในระดับภูมิภาค นับตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันและระบายน้ำท่วมไปจนถึงการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อจัดเป็นพื้นที่รับน้ำ 
    อีกแนวทางหนึ่งที่มองภาพใหญ่ในระดับประเทศคือ การลดความเสี่ยงที่มาพร้อมกับขนาดของเมืองทั้งในเชิงจำนวนประชากร มูลค่าทางเศรษฐกิจและพื้นที่ปลูกสร้าง โดยการใช้มาตรการจำกัดการเติบโตของมหานครและการกระจายกิจกรรมต่างๆ ไปยังเมืองอื่นของประเทศ 
    รัฐบาลไทยในอดีตเคยพยายามลดการกระจุกตัวด้านเศรษฐกิจและด้านการบริหารรัฐกิจในกรุงเทพมหานคร นโยบายเมืองหลักได้มุ่งสร้างขั้วการเจริญเติบโต (Growth Pole) ในภูมิภาค จนทำให้เมืองหลักหลายแห่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น 
    หลายแห่งมีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐระดับภูมิภาคไปตั้งที่ทำการจนพัฒนาเป็นศูนย์กลางประจำภูมิภาค ส่วนนโยบายการกระจายอำนาจไปท้องถิ่นในช่วงหนึ่งก็เหมือนจะลดการรวมศูนย์ในการบริหารจัดการเมืองออกไปได้บ้าง 

แต่ในภาพรวม แรงดึงดูดของเมืองหลักเมืองรองก็ยังไม่สามารถต้านทานพลังการกระจุกตัวของมหานครกรุงเทพได้ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองรวมถึงงบประมาณลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ที่เมืองหลวง ในขณะที่เมืองหลักเมืองรองในภูมิภาคยังคงติดหล่มในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านเศรษฐกิจเรื่อยมา
    ความหนาแน่นของประชากรและกิจกรรมต่างๆ ในมหานครกรุงเทพทำให้เกิดการประหยัดจากการกระจุกตัวที่ยิ่งดึงดูดผู้คนและกิจกรรมไปเรื่อยๆ อย่างไม่จบสิ้น ผลิตภาพและความหลากหลายที่มาพร้อมกับขนาดของเมืองทำให้กรุงเทพฯ มีความเจริญและขีดความสามารถในการแข่งขันที่เทียบได้กับหลายเมืองในระดับโลกได้ 
    แต่ความเจริญที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็มาพร้อมกับความแออัดที่สร้างผลกระทบไม่พึงประสงค์ต่อการดำรงชีวิต ทั้งที่อยู่อาศัยคับแคบ การจราจรติดขัด และมลพิษ โจทย์สำคัญของนโยบายการพัฒนาเมืองที่ผ่านมาคือจะทำอย่างไรให้เมืองยังคงเติบโตต่อไปและได้รับประโยชน์จากการกระจุกตัวของประชากรและเศรษฐกิจได้ โดยไม่ทำให้เกิดความแออัดที่สร้างผลกระทบมากจนเกินไป 
    แนวนโยบายของรัฐที่ผ่านมาคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวคือ ยิ่งมีปัญหาความแออัดและความไม่เพียงพอต่อความต้องการเท่าไหร่ ภาครัฐยิ่งลงทุนในมหานครกรุงเทพเท่านั้น ซึ่งยิ่งเป็นแรงดึงดูดคนและกิจกรรมต่างๆ เข้ามามากขึ้น การลงทุนมหาศาลของภาครัฐและภาคเอกชนจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองหลวงเติบโตต่อไปเป็นวงจรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 
    แต่ในอนาคตต่อจากนี้ไป ความเสี่ยงของมหานครกรุงเทพจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามขนาดเมือง เป็นที่ทราบกันดีว่ามหานครกรุงเทพเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะจากภาวะน้ำท่วม ขณะเดียวกัน โรคระบาดโควิดก็แสดงถึงด้านลบของความหนาแน่นประชากรที่เกินความสามารถในการบริหารจัดการ
     นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ที่มาพร้อมกับการเชื่อมต่อที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่ผ่านทางอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งหรือไอโอที ก็จะยิ่งเพิ่มความอ่อนไหวเปราะบางของโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของเมือง ไม่ว่าจะในด้านไฟฟ้า ประปา การขนส่งเดินทางและระบบการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต ยิ่งมหานครกรุงเทพมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ความเสี่ยงเชิงระบบที่มากับที่ตั้งและขนาดของเมืองหลวงก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น  
    แน่นอนว่า มหานครที่มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพฯ เช่นโตเกียวดูเหมือนว่าก็ยังสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้ นักเศรษฐศาสตร์บางคนอาจบอกว่า การกระจุกตัวทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องดี เพราะเมืองได้ประโยชน์จากขนาดและความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้น แต่นั่นหมายความว่า ความสามารถในการบริหารจัดการเมืองโดยเฉพาะของภาครัฐก็ต้องเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน 
    ข้อสมมติด้านขีดความสามารถของรัฐนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ยากที่สุดสำหรับประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน จากมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง นโยบายที่มุ่งลดความสำคัญและจำกัดการเติบโตของมหานครกรุงเทพโดยตรงคงแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะแรงกดดันของประชาชนและภาคธุรกิจที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาความแออัดของกรุงเทพฯ จะยังคงอยู่ต่อไป 
    กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนก็ยังเห็นว่า แนวนโยบายที่รัฐบาลไทยควรพิจารณาดำเนินการนับแต่วันนี้คือการลงทุนพัฒนาเมืองหลักเมืองรองในภูมิภาคให้เป็นทางเลือกในการอยู่อาศัย ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตที่ดีให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ในปัจจุบัน โครงข่ายการเดินทางระหว่างเมืองสะดวกสบายขึ้นมาก อีกทั้งกระแสดิจิทัลภิวัตน์ (digitalization) ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนในพื้นที่อื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำงานและประกอบธุรกิจได้โดยไม่ต้องอยู่ในกรุงเทพฯ 
    นโยบายการตั้งถิ่นฐานของประเทศไทยต่อจากนี้ไปจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางและระบบการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หากเมืองเหล่านี้พัฒนาขึ้นได้จริง ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้นตามขนาดของมหานครกรุงเทพได้ 
    รัฐบาลควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนให้มากขึ้นในเมืองหลักเมืองรอง โดยไม่จำกัดเพียงด้านโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นไปพร้อมกัน การลงทุนด้านกายภาพเพียงอย่างเดียวมักไม่ได้ผล

เพราะท้ายที่สุดโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกถิ่นฐานในการใช้ชีวิต ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกแบบนโยบายต้องมีความคมชัดและมีความสมเหตุสมผลในเชิงยุทธศาสตร์ มิเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะบางเมืองอาจไม่เหมาะสมหรือยากเกินกว่าที่จะกระตุ้นการเติบโตขึ้นมาได้
    การลงทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานในเมืองหลักเมืองรองจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเมืองเหล่านี้ ไปพร้อมกับการลดระดับความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจมน้ำของมหานครกรุงเทพในอนาคตได้ ต่อให้ในอนาคตกรุงเทพฯ ไม่จมน้ำตามที่หลายคนพยากรณ์ไว้ แต่การกระจายความเจริญก็ย่อมมีผลดีหลายด้านสำหรับอนาคตประเทศไทย.

คอลัมน์ : อนาคตคนไทย 4.0
รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ 
อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง 
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย