OmicronและFed Taperingปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลก

OmicronและFed Taperingปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลก

ในบทความ เสริมกลยุทธ์เพิ่มอาวุธการลงทุนฉบับที่แล้ว ที่ตีพิมพ์เมื่อปลายเดือน พ.ย. เราได้ฉายภาพเศรษฐกิจโลกปี 2022 ไว้ว่าเป็นปีแห่ง Normalization

โดยเรามองว่าภาพใหญ่ของโลกปีหน้า คือ Global Growth normalizationหรือการที่เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ กลับมาสู่ความเป็นจริงมากขึ้น หลังจากที่ตกต่ำมากในปี 2020 โดยเรามองว่าเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (DM)ในปี 2022 จะเริ่มชะลอลง ขณะที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาไม่รวมจีนจะฟื้นตัวขึ้น เพราะการเริ่มเปิดประเทศหลังฉีดวัคซีนได้มากขึ้นทำให้เศรษฐกิจกำลังพัฒนาไม่รวมจีนร้อนแรงในครึ่งปีแรก

     แต่เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปภาพเศรษฐกิจมหภาคก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเรามองว่า 2 ความเสี่ยงหลักที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาพเศรษฐกิจโลกในปีหน้าเปลี่ยนไปและคาดเดาได้ยาก ได้แก่ 1. การระบาดของCoronavirusสายพันธุ์Omicronและ 2. ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและทำให้ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed)เร่งการทำมาตรการลดทอนการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE tapering)

 ในประเด็นOmicronหลังมีการระบาดในแอฟริกาใต้และทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO)ประกาศว่าเป็น “สายพันธุ์ที่น่ากังวล” (Variance of concern)เนื่องจากสามารถระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์Deltaทำให้ประเทศต่างๆ ประกาศแบนนักเดินทางจากแอฟริกาใต้และประเทศใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แต่งานวิจัยเบื้องต้นพบว่าผู้ติดเชื้อไม่ได้แสดงอาการรุนแรงเท่าสายพันธุ์Deltaหรืออื่น ๆ นอกจากนั้น ผู้ผลิตวัคซีน  เช่น Pfizer และBioNtech ประกาศว่าการฉีดวัคซีน 3 เข็ม หรือBooster doseจะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันOmicronเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนโล่งใจไปได้ระดับหนึ่งและทำให้การลงทุนยังคงขยายตัวได้ดีในช่วงต้นเดือน ธ.ค.

  แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว เรามองว่าอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากผลดังกล่าวเป็นการทดสอบเบื้องต้น โดยประสิทธิภาพการป้องกันไม่สูงนักที่ประมาณ 58% ขณะที่เมื่อระยะเวลาผ่านไป เป็นไปได้ที่ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงอย่างรวดเร็วกว่า 25-40 เท่า ในระยะเวลา 2-3 เดือน นอกจากนั้น ยังมีกรณีในฮ่องกงที่พบว่าเชื้อOmicronอาจสามารถเดินทางทางอากาศ (Airborne)ได้ ทำให้การติดเชื้อมากขึ้น

     ทั้งนี้ ภาพล่าสุดในกรณีของการระบาด คือจำนวนผู้ติดเชื้อในบางประเทศ เช่น สหรัฐและอังกฤษ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อในอังกฤษที่เพิ่มขึ้นมากและกลายเป็นสายพันธุ์หลัก โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้มากกว่า 1.2 หมื่นคนต่อวัน และทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรวมวิ่งเข้าสู่ระดับ 1 แสนรายต่อวัน (ตัวเลขทางการ) และเริ่มมีผู้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งทำให้ทางการประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเริ่มประกาศแบนนักเดินทางจากอังกฤษ รวมถึงเริ่มประกาศLockdown รุนแรงขึ้น แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์Deltaจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม เรามองว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังต้องจับตาต่อเนื่องและอาจสร้างความรุนแรงได้ในระยะต่อไป โดยเฉพาะหลังเทศกาลปีใหม่ที่ผู้คนทั่วโลกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

ในส่วนประเด็นที่สอง ได้แก่เงินเฟ้อของสหรัฐ ที่ตัวเลขในเดือน พ.ย. ยังคงพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 39 ปี จากหลากหลายองค์ประกอบ ทั้งในฝั่งต้นทุน เช่น พลังงาน อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค รวมถึงฝั่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นเช่น ค่าเช่าและค่าจ้าง ทำให้Fedประกาศเร่งทำมาตรการQE Taperingโดยจะลดการอัดฉีดลงจนหมดในช่วงประมาณเดือน มี.ค. จากที่เคยส่งสัญญาณว่าจะหมดในเดือน มิ.ย. และมีการปูทางการขึ้นดอกเบี้ย ว่าอาจเพิ่มขึ้นได้เร็วขึ้น

ในมุมมองของเรา เรามองว่าเริ่มมีสัญญาณว่าเงินเฟ้อในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าอาจเริ่มชะลอลง ทั้งจาก (1) ต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงตามราคาโภคภัณฑ์ (แม้มีการปรับเพิ่มขึ้นบ้างในระยะหลัง) (2) ปัญหาSupply bottleneckที่ลดลง ทั้งจากปริมาณเรือขนส่งสินค้าที่จอดรอที่ท่าเรือที่ลดจำนวนลง รวมถึงปัญหาChip shortageที่เริ่มคลี่คลาย และ (3) สัญญาณเบื้องต้นจากตลาดแรงงานที่ดีขึ้น หลังกำลังแรงงานปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสุภาพสตรี ผลจากการเปิดโรงเรียนทำให้สุภาพสตรีที่ต้องดูแลบุตรหลานสามารถกลับไปทำงานได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าประเด็นค่าเช่าบ้านและค่าจ้าง (ซึ่งเป็นองค์ประกอบเงินเฟ้อที่เกิดจากความคาดหวังเงินเฟ้อในอนาคต หรือInflation expectationและหากปรับขึ้นแล้วจะลดลงยาก) ว่ายังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้Fedต้องเร่งปรับลดQEและอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อลดทอนInflation expectation

ในมุมมองของเรา ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐในระยะต่อไปจะอยู่ที่การเติบโต (growth)ที่ชะลอลงมากกว่าเงินเฟ้อ (inflation)เนื่องจากเราเริ่มเห็นสัญญาณเบื้องต้นที่เงินเฟ้อจะคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอลงจากแรงกระตุ้นด้านการเงินการคลังที่ลดลง รวมถึงความเสี่ยงการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีน ซึ่งหากFedลดทอนมาตรการการเงินเร็วเกินไปท่ามกลางเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจเกิดภาวะOver-tighteningและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)ได้ (เช่นเดียวกับกว่า 90% ของRecessionในอดีตที่เกิดจากการที่Fedขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป) โดยพิจารณาได้จากผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตร 2-10 อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบปีที่ 0.78%

เรามองว่า การที่Fedเร่งทำQE Taperingนั้น เมื่อรวมกับสถานการณ์Omicronที่กำลังเริ่มระบาดทั่วโลกจะทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2022 มีมากขึ้น จากการระบาดของOmicronที่จะมารวมถึงสถานการณ์Deltaที่ยังไม่หายไป ขณะที่เงินเฟ้อที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงต้นปีจากปัจจัยฐาน

เงินเฟ้อที่ยังสูง เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการบริโภคที่มีแนวโน้มจะชะลอตามWealth effectที่ลดลงจากความผันผวนในตลาดการเงินจะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญและทำให้ประเด็นStagflation fearกลับมามากขึ้น รวมถึงอาจเห็นดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)จะตกลงแรงทั่วโลกในช่วงไตรมาส 1/2022

กล่าวโดยสรุป แม้เรายังคงมองว่าในสถานการณ์กลางเศรษฐกิจโลกจะกลับเข้ามาสู่จุด“ปกติ”ได้ในปีหน้า แต่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เราได้เน้นย้ำตลอดมาจะยังคงอยู่และพร้อมจะพลิกภาพเศรษฐกิจให้กลับมาเลวร้ายลงได้ทุกเมื่อ