กฎหมายในปี 2565 เทรนด์และความท้าทาย | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

กฎหมายในปี 2565 เทรนด์และความท้าทาย | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

ฉบับส่งท้ายปีเก่านี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงเทรนด์กฎหมายในปี 2565 โดยแบ่งเป็น 5 หัวข้อ ครอบคลุมทั้งเรื่องของ ธุรกรรมดิจิทัล สินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายคุ้มครองข้อมูล การปฏิบัติงานราชการอิเล็กทรอนิกส์ และ COP26

1.เมื่อธุรกรรมดิจิทัลกำลังเข้าทดแทนธุรกรรมในแบบเดิม
          ผู้เขียนเชื่อว่า ในปีหน้าและปีต่อๆ ไป รูปแบบและการใช้งานของสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทและโทเคนดิจิทัล) จะมีความซับซ้อน หลากหลาย และมีโอกาสเข้าทดแทนหลายบริการที่เคยอยู่ภายใต้สถาบันการเงินหรือธุรกรรมที่เคยทำในแบบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง NFT ที่สภาพถูกสร้างมาใช้สำหรับแทนสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นงานศิลป งานเพลง ของสะสม หรือแม้แต่พระเครื่อง 
    ดังนั้น การทำ Tokenization ในรูปแบบ NFT จึงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในสร้างนิติกรรมที่หลากหลายในทางกฎหมาย เช่น ซื้อ-ขาย/แลกเปลี่ยน/ครอบครองทรัพย์สิน และการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้เขียนคาดว่า เราจะได้เห็นการพัฒนาของ NFT ที่ยึดโยงกับ Traditional assets มากขึ้นในอนาคต

สิ่งที่น่าติดตามในมุมกฎหมายและการจัดทำนโยบาย คือ กรณีข้อพิพาทที่เกิดจากการทำนิติสัมพันธ์ผ่านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังไม่มีแนวคำพิพากษาที่ตีความเกี่ยวกับ Blockchain และ Smart contract ประกอบกับการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มต่าง ๆ  ย่อมมีโอกาสนำไปสู่การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) 
    หรือ การดำเนินคดีแพ่งที่มีกลุ่มบุคคลที่ได้รับความเสียหายหลายรายอยู่ภายใต้สถานการณ์ความเสียหายเดียวกัน (หลักการตามป.วิธีพิจารณาความแพ่ง) ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า ในอนาคต เราคงได้เห็นการดำเนินคดีแบบ Class Action ในคดีที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล

2. สินทรัพย์ดิจิทัล การชำระราคา และ Stablecoin
              “ที่ไหนมี e-Commerce ที่นั้นมี e-Payment” กล่าวคือ เมื่อธุรกรรมต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น การชำระราคาสินค้า/บริการ ย่อมปรับรูปแบบให้ผู้บริโภคสามารถชำระราคาให้สะดวกรวดเร็วได้ด้วยเช่นกัน

เหล่านี้ คือ แนวคิดของผู้คิดค้น “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่มีวัตถุประสงค์ให้การทำธุรกรรมทางการเงินแบบปราศจากตัวกลาง (ไม่ว่าจะเป็นตัวกลางเอกชนหรือกฎเกณฑ์จากภาครัฐ) ซึ่งในปัจจุบัน เราได้เห็นแนวโน้มการพัฒนาของคริปโทเรื่อยมา นับจาก Blank coin อย่าง Bitcoin จนถึงยุคที่ธุรกิจและภาครัฐเริ่มยอมรับและพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ Stablecoin เพื่อเป็นสื่อกลางในการชำระเงิน 

อย่างไรก็ดี สำหรับภาครัฐการพิจารณาความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าวเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีของสหรัฐ ที่  PWG (President’s Working Group on Financial Markets) ได้ออกรายงานเมื่อเดือนที่ผ่านมาถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนกับ Stablecoin 
    โดยใจความสำคัญของเอกสาร ได้ระบุถึงความจำเป็นในการสร้างแนวทางเพื่อจำกัดการออก stablecoin เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของสถาบันการเงิน และศึกษาความเป็นไปได้ในการออกกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการส่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบสถาบันการเงิน 
    ประเด็นที่น่าสนใจภายใต้รายงานดังกล่าว เช่น การตรวจสอบทรัพย์สินที่ใช้หนุนหลังการออก Stablecoin (Reserve Assets) จะทำได้อย่างไร? ความผันผวนทั้งในแง่ราคาและสภาพคล่องของทรัพย์สินหนุนหลังมีมากแค่ไหน? และความโปร่งใสในการกำหนดเงื่อนไขที่ให้สิทธิต่าง ๆ กับนักลงทุนเป็นเช่นไร? เช่น เงื่อนไขเรื่อง Redemption Rights เป็นต้น 
           อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของกฎเกณฑ์ในเรื่อง Stablecoin ในอีกด้าน หลายประเทศก็กำลังศึกษาและพัฒนา CBDC (Central Bank Digital Currency) เพื่อวัตถุประสงค์ในการปิดช่องว่างในเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยเอกชนมีความไม่แน่นอนในหลายด้าน เงินดิจิทัลของภาครัฐก็คงเป็นทางออกที่สำคัญในปิดช่องว่างเหล่านั้น

3. กฎหมายคุ้มครองข้อมูล และ AI
    เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา EU ถือเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ได้มีการเสอนร่างกฎหมาย AI โดยมีใจความสำคัญในการห้ามใช้ AI เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ AI เพื่อการทำ profiling ข้อมูลในอินเทอร์เนท เพื่อติดตาม เพื่อประมวลผล เพื่อสังเกตพฤติกรรม และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า เช่นเดียวกัน สหราชอาณาจักรได้มีการออกแนวปฏิบัติในการสอดส่องการใช้ AI เพื่อมิให้ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานในโลกออนไลน์ โดยมีแนวคิดสอดคล้องกับร่างกฎหมายของ EU
    นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปีที่ผ่านมา แม้แต่จีน ประเทศที่นิยมการใช้ระบบโซเชียลเครดิต ยังได้ตระหนักถึงประเด็นข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น โดยได้ปรับเปลี่ยนกฎหมายภายในหลายประการเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น ในมุมมองของผู้เขียน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล จะยังคงเป็นกฎหมายที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญ และบริบทของกฎหมายดังกล่าวอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ 

4. การปฏิบัติงานราชการอิเล็กทรอนิกส์
   ท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลยีและการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลของเอกชน สำหรับภาครัฐ ร่าง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา) จะเป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงภาครัฐไทยให้นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาบังคับใช้กับการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อวัตถุประสงค์ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของภาครัฐในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการและการอนุญาตให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งหลายหน่วยงานในปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการการให้บริการและออกใบอนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้สำเร็จในปีหน้า

5. COP26 และจุดเริ่มต้นจริงจังด้านสิ่งแวดล้อม
      เรื่องสุดท้าย สำหรับผู้เขียนเป็นประเด็นที่ท้าทายที่สุด กล่าวคือ ผลจากการประชุม COP26 ที่พึ่งจบไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่านี่คือ “โอกาสสุดท้ายในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและควบคุม Climate Change”

ดังนั้น เป้าหมายของกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ปีหน้า คือ การจัดทำแผนลดการปล่อยมลพิษ (ภายในปี 2030) การให้ความสำคัญกับกฎระเบียบเกี่ยวกับการลดก๊าซคาร์บอน รวมถึงลดการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล/ถ่านหิน โดยอาจใช้มาตรการทางภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ควบคู่ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 
    ท้ายที่สุด ในฉบับสุดท้ายของปีนี้ ผู้เขียนขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ 2565 ผู้อ่านทุกท่านค่ะ  

คอลัมน์ : Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
กระทรวงการคลัง