แผลเป็นที่วิกฤติโควิด-19 ทิ้งไว้กับประเทศไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

แผลเป็นที่วิกฤติโควิด-19 ทิ้งไว้กับประเทศไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผมขอกล่าวถึงข้อมูลจากงานวิจัยของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันป๋วย อิ้งภากร ธนาคารแห่งประเทศไทยและ Institute for Advanced Sustainability เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

งานวิจัยดังกล่าวมีชื่อเรื่อง “โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย: ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” สาระสำคัญคือ megatrends ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 5 ประการ เป็นงานวิจัยที่มีสาระน่ารู้และเป็นปัจจัยที่ท้าทายอนาคตของเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง
    แต่ข้อมูลที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากของงานวิจัยนี้ ส่วนหนึ่งคือการนำเสนอข้อมูลความเปราะบางทางการเงินของคนไทย โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่รุนแรงขึ้นจากวิกฤติ COVID-19 (โดยการรวบรวมสถิติรายไตรมาสของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ) ซึ่งสรุปได้ดังนี้

• ผู้กู้ไทยเริ่มมีการผิดชำระหนี้และมีหนี้เสียเพิ่มเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อระยะที่ 1 (ซึ่งมีการพักหนี้และหยุดสถานะการค้างชำระให้กับผู้กู้ทุกราย) ได้สิ้นสุดลงใน 2Q 2020 
• โดยเฉพาะตั้งแต่ 4Q 2020 เป็นต้นมา จะเห็นได้ชัดว่าจำนวนผู้กู้ที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้สูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับ 4Q 2019 ทำให้สัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียใน 2Q 2021 = 18.9% สูงที่สุดในรอบ 6 ปี

แผลเป็นที่วิกฤติโควิด-19 ทิ้งไว้กับประเทศไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ทีมนักวิจัยกล่าวสรุปว่าวิกฤติครั้งนี้ซ้ำเติมความเปราะบางของปัญหาหนี้โดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้อายุน้อย สร้างรอยแผลเป็นต่อกลุ่มที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศตั้งแต่ 2Q 2020 สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียเพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อยู่แล้ว

แผลเป็นที่วิกฤติโควิด-19 ทิ้งไว้กับประเทศไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผมนำเอาส่วนนี้ของงานวิจัยมากล่าวถึง ก็เพราะเป็นห่วงว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้จะมาถึงได้เร็วกว่าปัญหาอื่น (ที่สั่งสมมานานหลายปี) เพราะดังที่เราทราบกันดีอยู่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาการเร่งตัวของเงินเฟ้อ 
    ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐน่าจะต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วเกินคาด และอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้เดิมเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด 
    กล่าวคืออาจเป็นไปได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอาจต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.25% ทุกไตรมาสตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไปจนกระทั่งดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐไปอยู่ที่ระดับ 2.0% ถึง 2.5% จากที่ปัจจุบันอยู่ต่ำเกือบ 0%
    ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้า ๆ เริ่มตั้งแต่ปี 2015 จาก 0% มาเป็น 2.4% ในต้นปี 2019 ซึ่งในช่วงดังกล่างครัวเรือนไทยก็ได้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาเป็นระยะ ๆ และระดับหนี้เสียก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งต้นปี 2019 และต่อมาธนาคารกลางสหรัฐปรับลดดอกเบี้ยลงมาจนเหลือศูนย์อีกเมื่อต้องเผชิญกับ COVID-19 ในปี 2020 และปี 2021 
    แต่เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจนร้อนแรงจนทำให้สหรัฐอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าก็ปรากฎว่ายังมีคนไทยเป็นจำนวนมากเกือบ 1 ล้านคนที่มีปัญหาหนี้สินซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
    กล่าวคือหากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวข้างต้นในปีหน้าผลกระทบที่น่าจะตามมาคือ
    1.หากเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวได้ดีและนักลงทุนเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐพอจะคุมเงินเฟ้อได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เงินเหรียญสหรัฐน่าจะแข็งค่าขึ้น
    2.อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกก็น่าจะยังขยับตัวสูงขึ้นเพราะประเทศอื่นๆ ก็ทยอยกันฟื้นตัวต่อไป โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป
    3.แต่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวประเทศไทยน่าจะเผชิญกับสภาวะที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศอาจต้องตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปลายปีหน้าและมีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อไปอีกตามสหรัฐ
    ประเด็นสำคัญคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นภาวะที่ถูกบังคับจากการอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อในประเทศไทยสูงขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ไม่ดีมากนักเพราะเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว (ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ฟื้นตัวจนใกล้อิ่มตัวแล้ว) 
    ที่สำคัญคือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้จะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ของตัวเองได้เพราะยังไม่ได้มีโอกาสหางานทำที่มีเงินเดือนสูงหรือทำธุรกิจที่มีกำไรมากเพียงพอที่จะนำมาลดหนี้และจ่ายดอกเบี้ยได้
    ดังนั้น ผมจึงจะค่อนข้างเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยที่ปัจจุบันกำลังเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆนั้นอาจจะสะดุดตัวได้อีกในครึ่งหลังของปีหน้าและทำให้ “แผลเป็น” ของกลุ่มผู้กู้อายุน้อยขยายใหญ่ขึ้นไปได้อีกครับ.