แกะพฤติกรรม เที่ยว-กิน-ช้อปก่อน....ผ่อนทีหลัง...ดัน‘หนี้เสีย’ พุ่ง

แกะพฤติกรรม เที่ยว-กิน-ช้อปก่อน....ผ่อนทีหลัง...ดัน‘หนี้เสีย’ พุ่ง

จากผลกระทบโควิด -19 ยิ่งกระทบ “ลูกหนี้” ให้ยิ่งเปราะบางมากขึ้น เครดิตบูโรชี้ กลุ่มที่น่าห่วงคือ กลุ่มสินเชื่อบุคคล ที่กู้เพื่อกินใช้ ที่มีพฤติกรรม กินก่อน เที่ยวก่อน ช้อปก่อนผ่อนทีหลัง หวั่นเกิดช็อค ฉุดลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้พุ่ง

แกะพฤติกรรม เที่ยว-กิน-ช้อปก่อน....ผ่อนทีหลัง...ดัน‘หนี้เสีย’ พุ่ง      จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด -19 ได้สร้างผลกระทบมหาศาลในมุมของ “ลูกหนี้” ให้ยิ่งเปราะบางมากขึ้น  ในแง่ของความสามารถชำระหนี้ที่ถดถอยลง จากรายได้ที่ขาดหายในช่วงโควิด-19 
    “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร กล่าวว่า หากดูภาพรวมสินเชื่อครัวเรือนในปัจจุบัน ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า ภายใต้ หนี้ครัวเรือนที่ 14.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้ครัวเรือนที่ 89.3% 
    และบนหนี้ครัวเรือนไทย ที่น่ากลัว คือบน 14.2 ล้านล้านบาท 20% เป็นการใช้เพื่อบริโภค ขณะที่เป็นสินเชื่อจากบัตรเครดิตที่ 7% รวมแล้ว2ตัวนี้ คิดเป็น27% ที่กู้ไป “กินใช้” และตอนนี้ต้องเอารายได้ที่เกิดขึ้นในอนาคต มาจ่ายหนี้!คำถามคือ หากว่างงาน เกิดอินคำช็อค อยู่ในฐานะเสมือนว่างงาน หนี้เหล่านี้จะชำระอย่างไร?

      ยิ่งกว่านั้น หากดูไส้ในของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่เราเรียว่า “หนี้เสีย” จากพอร์ต สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถ บนข้อมูลลูกหนี้ ที่อยู่บนฐานข้อมูลของ “เครดิตบูโร” ปัจจุบัน หนี้เสีย จะมีอัตราที่ลดลง มาอยู่ที่ระดับ 7.7% ในไตรมาส 3 ปี 2564 จากสินเชื่อคงค้างทั้งหมดที่ 12.5 ล้านล้านบาท หากเทียบกับก่อนโควิด-19 ที่หนี้เสียอยู่ระดับสูงที่ระดับ 8.1% หรือสินเชื่อคงค้างที่ 11.7 ล้านบาท แม้ภาพหนี้เสียวันนี้จะลดลง แต่เป็นภาพที่น่ากังวล!
    ถามว่าทำไมหนี้เสียที่ 7.7% หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้เสียรวม 9.7 แสนล้านบาท วันนี้ถึงน่ากังวล เพราะวันนี้แม้ลูกหนี้จะได้รับการช่วยเหลือ และอยู่ภายใต้มาตรการ ทำให้ หนี้ที่ผ่านมา ถูกแช่แข็ง หรือตกท้องช้าง แต่หากดูหนี้เสียที่ 7.7% พบว่ามีการขยับขึ้นหากเทียบกับไตรมาส 2ที่ผ่านมา ที่อยู่เพียง 7.4% เพราะแบงก์เริ่มมีการปลดมาตรการช่วยเหลือ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวมากขึ้น จากการช่วยเป็นการทั่วไปในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เริ่มเห็น “หนี้เสีย”ปรับตัวเพิ่มขึ้น

       ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่ของ สินเชื่อที่จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือที่เรียกว่า SM พบว่า วันนี้ขยับขึ้น เป็น 2.5% จาก 2.3% ดังนั้น หากดูลูกหนี้ที่มีปัญหาทั้งสองกลุ่มวันนี้ คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียแล้ว และลูกหนี้ที่มีปัญหา ค้างชำระ หนี้ส่วนนี้แตะระดับ 10% แล้ว
        ซึ่งภายใต้ 10% ยังไม่ได้รวมถึงผลกระทบที่มาจากโควิด-19 สายพันธ์เดลต้า ที่มีผลกระทบต่อลูกหนี้เพิ่มขึ้น   ดังนั้นเหล่านี้น่ากังวล 

     ยิ่งลงลึกไปอีก เข้าไปดูถึงการปรับโครงสร้างหนี้ วันนี้สูงถึง 8.5 แสนล้านบาท และทิศทางระยะข้างหน้า มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่า ทั้งหนี้เสีย และหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ เห็นแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทในปี 2565 

ภูเขาหนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่คนอายุเท่าไหร่?
       หากดูภูเขาเอ็นพีแอลของแต่ละช่วงอายุ เป็นอย่างไรบ้าง จากฐานข้อมูลเครดิตบูโรพบว่า หากเปรียบเทียบหนี้เสียจากลูกหนี้ 100คน พบว่า คนอายุ 20 ปี 100คน เป็นหนี้เสียอยู่ที่ 0.7%  หรือ 7 คนใน 100คน

     ขณะที่หากดูคนช่วงอายุ คนอายุ 23 ปี มีหนี้ 6.4 คน และคนอายุ 35 ปี เป็นหนี้เสียเกือบ 7 คน ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มเกษียณอายุ 60 ปีที่ยังมีหนี้สูง โดยใน 100คน เป็นหนี้เสียที่ 7.7คน
      ความน่ากลัวของภูเขาหนี้ก้อนหนี้ คือ สินเชื่อบุคคล หรือพีโลน! ประเภทที่ กู้ไปก่อน ผ่อนทีหลัง เที่ยวไปก่อน ผ่อนทีหลัง กินไปก่อน ผ่อนทีหลัง หรือผ่าน 0% ที่ตามมาหลอกหลอนแล้ววันนี้
    หากดูจำนวนหัวลูกหนี้ อย่างอายุ 23 ที่อยู่บนระบบข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า 100คน เป็นหนี้เสีย 22 คน ความหมายคือ ใน 22 คน มีอย่างน้อย 1 น้อยบัญชีที่ไปไม่รอด เป็นเอ็นพีแอล ทั้งประเทศ คนที่เป็นหนี้ 31 ล้านคน

    หากเทียบเป็น 100คน พบว่าเป็นหนี้เสีย 18 คน! 
     แต่คนอายุน้อย 30-34ปี เช่น อายุ 31 ปี มีอยู่ 24 คนที่เป็นหนี้เสียจาก 100คน ซึ่งคิดเป็น 1ใน5ของคนเป็นหนี้

    ดังนั้นเหล่านี้ คือความน่ากลัว และคนเหล่านี้เป็นคนที่มีกำลัง และเป็นคนที่จะขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นหากคนกลุ่มนี้ติดกับดักหนี้แล้วจะเป็นปัญหาในระยะถัดไป
      สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีการนำฐานข้อมูลของเครดิตบูโรไปรัน โดยพบว่า ตั้งแต่ ปี 2563 ถึงข้อมูล ไตรมาส2 ปี 2564 พบว่า เราเริ่มต้นจากคนที่มีปัญหา 5 แสนคน ปัจจุบันมาจบที่ ไตรมาส 2 ปีนี้ ลูกหนี้ที่มีปัญหาพุ่งไปถึง 1 ล้านคน ซึ่งมีทุกอาการ ทั้งในกลุ่มส้ม แดง เหลือง เหล่านี้แค่หมดมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1  และยังไม่จบมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 ดังนั้นหากมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้จบ หรือเกิดอินคำช็อคอีกรอบจะเกิดอะไรขึ้น? 
     ยังไม่จบ หากไปดูลูกหนี้ ที่เข้าสู่มาตรการ ลักษณะของข้อมูล ระยะที่ 1 -3คนเหล่านั้น ที่มีจำนวน 6 ล้านลูกหนี้ พบว่า ก่อนที่เขาจะเข้าโครงการ ก่อนเกิดโรคระบาด ที่แบ่งกลุ่มลูกหนี้เป็นสีเขียว เหลือง แดง

     โดยเฉพาะแดงขณะนั้นที่มีจำนวนลูกหนี้ขณะนั้น 5.3 แสนราย ที่เป็นเอ็นพีแอลแล้วก่อนโควิด ที่เป็นหนี้เสียแล้ว จากวันนั้นถึง ก.ย. ปี 2564 ผ่านมาเป็นปี จะเห็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเป็น 8.6 แสนลูกหนี้ คิดเป็นจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น 3.3 แสนคน ที่มีการตกชั้นจากเขียว เหลือ แดงต่างๆ 
      เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือ ทั้งมาตรการที่ 1 ถึง 3 แต่ก็จะมีลูกหนี้ ที่ “ไปไม่ไหว” และไหลลงมาเรื่อยๆ อยากให้ลองนึกภาพว่า ยิ่งหากคนกลุ่มนี้ อายุไม่มาก ที่มีความรับผิดชอบต้องดูแลครอบครัว เหล่านี้จะยิ่งมีผลกระทบเชิงสังคมพอสมควร!
      ไม่เพียงเท่านั้น หากทำนายไปถึง 12 เดือนข้างหน้า ลองหยิบลูกหนี้มา 3 ล้านราย หรือ 10% ของฐานข้อมูลบนเครดิตบูโร จากการสุ่มข้อมูล มารันดู เพื่อดูไปข้างหน้าอีก 12 เดือน ผล Score พบว่า เช่น หากเอาผล Score มากลางปี 2563 จะเห็นภาพไปถึงลูกหนี้ ณ กลางปี 64 หรือ เอาข้อมูลจาก กลางปีนี้ จะเห็นไปถึงภาพอีก 12 เดือนข้างหน้า ในช่วงกลางปีหน้า 
      โดยพบว่า ฐานะลูกหนี้ ทั้งก่อนโควิด ระหว่างโควิด หลังโควิด เห็นได้ชัดเจน ว่า มีการเคลื่อนที่ของคุณภาพหนี้ จากคนที่เคยอยู่เกรด AA คะแนนตกไป BB ไปสู่คนที่ CC และ CC ,DD,EE ก็ไหลไปสู่ FF ค่อนข้างมาก EE ก็คือ ปล่อยกู้ 100คน  12 เดือนข้างหน้าจะเสีย 11 คน FF ปล่อยกู้ 100 คนจะเสีย 18 คน และ GG จะเสีย 34-35คน เป็นต้น ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ เป็นตัวบอกเราว่า เราจะเจอเอ็นพีแอลขนาดไหน?

    ดังนั้นเหล่านี้ ถือเป็นภาพน่ากังวล และท้าทายมากขึ้น ทั้งต่อตัวลูกหนี้ และสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงิน นอนแบงก์ต่างๆ ที่ต้องเตรียมพร้อมให้ดี กับ "ภูเขาเอ็นพีแอล"ที่พร้อมจะไหลมาในระยะข้างหน้า!