โอกาสของประเทศไทยกับรถไฟลาว-จีน (ตอน 1) | วิกรม กรมดิษฐ์

โอกาสของประเทศไทยกับรถไฟลาว-จีน (ตอน 1) | วิกรม กรมดิษฐ์

เปิดคอลัมน์ “เรื่องเล่าจากวิกรม” วันแรกผมขอนำเรื่องราวต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่คนไทยควรรู้ซึ่งเป็นเรื่องที่เชื่อว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตของทุกคน

ผมขอเริ่มต้นด้วยเรื่องราวที่ได้ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญของโลกอีกเรื่องหนึ่งคือพิธีเปิดทางรถไฟความเร็วสูงลาว - จีน หรือเส้นทางรถไฟ "ล้านช้าง" และถือเป็นก้าวแรกของการเชื่อมโยงโดยเส้นทางสายไหม ระหว่างจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
    ในงานจะมีนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศและเลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาวคนปัจจุบัน และนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำพิธีผ่านทางออนไลน์ เปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ถ่ายทอดสดอย่างคึกคักผ่านสถานีโทรทัศน์จีนประจำคุนหมิง และสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของจีน ณ กรุงปักกิ่ง เส้นทางรถไฟแห่งนี้จึงมีความหมายและคนไทยควรจะสนใจ

เมื่อพูดถึงเรื่องของรถไฟลาว - จีน รถไฟสายนี้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมาให้บริการด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสารเปิดเดินรถ 2 เที่ยวต่อวัน ผมเคยได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านนายกทองลุน ประธานของประเทศสปป.ลาว ทำให้ทราบถึงแนวคิดในการวางแผนการพัฒนาประเทศของผู้นำลาว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ 
    จากประเทศแลนด์ล๊อก (Landlocked Country) คือประเทศที่ไม่มีทางออกเชื่อมต่อสู่ทะเล ไม่มีชายฝั่งทะเลเป็นของตัวเอง ดังนั้นยุทธศาสตร์ของสปป.ลาว คือจะต้องเปลี่ยน ประเทศที่เป็น Land Locked ให้เป็น Land Link เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับประเทศโดยการเชื่อมต่อเส้นทางเข้าสู่จุดยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ ผ่านทางบก
    ซึ่งโครงการนี้เห็นได้จากมีการเชื่อมต่อเส้นทางจากตอนใต้ของประเทศจีนเข้าสู่ สปป.ลาว เชื่อมต่อมาที่ประเทศไทย เข้าสู่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ รถไฟสายนี้มีความสำคัญต่อประเทศไทยเพราะสถานีตั้งต้นขบวนของรถไฟอยู่ที่ประเทศจีน สถานีปลายทางคืออาเซียน 
    ในวันนี้ประเทศจีนมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าหรือที่เราเรียกว่า Total Trade มีมูลค่าสูงที่สุดของโลก หากรวมมูลค่าขณะนี้จะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการที่หัวขบวนของรถไฟตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยเราวิ่งลงสู่ภาคใต้ถือได้ว่าสปป.ลาวนั้นคือสะพานให้กับประเทศไทยได้ 
    เป้าหมายของประเทศจีนที่แท้จริงคือการทำโครงการที่ชื่อว่า One Belt One Road ซึ่งเส้นทางสายนี้จะสามารถเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางแบบที่เรียกได้ว่าเส้นทางสายนี้สามารถเชื่อมโลกเข้าหากันได้ 

หัวขบวนจะอยู่ที่ประเทศจีน สามารถเดินทางได้สู่ตะวันตกด้วยการเดินทางตามเส้นทางของเจงกีสข่านเมื่อประมาณ 900 ปีที่ผ่านมา การเดินทางของเจงกิสข่าน เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ เพราะเมื่อสมัย 900 ปีที่แล้ว ไม่มีแผน ไม่มีเข็มทิศ แต่การเดินทางของเจงกิสข่านใช้การเดินทางตามเส้นทางสายไหม หรือ silk Road ที่มีการทำมาค้าขายกันเป็นหลัก
    เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ขึ้นรับตำแหน่งจึงได้ริเริ่มคิดทำโครงการที่จะเดินทางตามเส้นทางสายไหมนี้ด้วยเช่นกัน เริ่มจากการเดินทางจากประเทศจีนสู่เมดิเตอร์เรเนียนซึ่งโครงการนี้ได้เกิดขึ้น และมีรถไฟขบวนแรกเมื่อเดือนมกราคมปี 2550 มีการขนสินค้าจากเมืองอี้อูของประเทศจีน มุ่งสู่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ และมาถึงวันนี้มีขบวนรถไฟที่วิ่งไปแล้วถึงประมาณเกือบ 40,000 เที่ยว
    เมื่อโครงสร้างการเชื่อมต่อการเดินทางเป็นเช่นนี้จึงก่อให้เกิดขบวนรถไฟสายลาว - จีนขึ้นเพื่อมุ่งสู่อาเซียนเพราะการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนตอนนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดมีมูลค่าทางการค้ามากกว่าการค้าระหว่างจีนกับอเมริกาหรือจีนกับยุโรป

โอกาสของประเทศไทยกับรถไฟลาว-จีน (ตอน 1) | วิกรม กรมดิษฐ์
     การที่มีเส้นทางรถไฟผ่านสปป.ลาว ผ่านประเทศไทยลงสู่ทางใต้ถึงอินโดนีเซียซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จีนเข้ามาลงทุนพัฒนาก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายจาการ์ต้า - บันดุง และอยู่ระหว่างก่อสร้างปัจจุบันแล้วเสร็จไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
    ถ้าหากนำเส้นทางรถไฟนี้มาเชื่อมต่อกันระหว่างลาว - จีน เชื่อมต่อถึงประเทศไทยและรถไฟความเร็วสูงของไทยสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2566 เข้าด้วยกันจะทำให้สามารถเชื่อมต่อจากนครราชสีมาลงสู่จังหวัดหนองคายและลงสู่ทางตอนใต้เข้าสู่จาการ์ตา – บันดุง อินโดนิเซียที่ซึ่งเป็นโครงการที่ประเทศจีนวางเป้าหมายไว้ได้
    ในส่วนของ สปป.ลาว ก็จะได้รับประโยชน์โดยตรงในเรื่องของการสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแรกที่จะได้รับคือ เรื่องต้นทุนของการขนส่งสินค้า ที่ผ่านมาการนำเข้าหรือส่งออกจากสปป.ลาว สู่ประเทศจีนและประเทศอื่นๆ มีราคาที่สูงและใช้เวลานานมาก เมื่อมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สามารถทำให้ขนส่งสินค้าได้รวดเร็วขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลงสามารถก่อให้เกิดการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจได้ 
    นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเพราะรายได้ส่วนใหญ่ของ สปป.ลาว มาจากการท่องเที่ยวเป็นหลักการที่ประเทศจีนสามารถเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟลงสู่ประเทศลาวก็จะสามารถช่วย ส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศลาวได้อีกทางหนึ่งด้วย.