ย้อนรอยวิกฤติโควิด-19 | พงศ์นคร โภชากรณ์

ย้อนรอยวิกฤติโควิด-19 | พงศ์นคร โภชากรณ์

ประเทศไทยรู้จักกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงต้นปี 2563 ในขณะนั้นผู้ติดเชื้อในประเทศยังมีไม่มาก แต่ประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น จีน สหรัฐ ยุโรป

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั่วโลกต้องตัดขาดการเดินทางระหว่างกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเสมือนถูกตัดเส้นเลือดใหญ่ที่ใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ 
    ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการควบคุมโรคแบบเข้มข้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก การจับจ่ายใช้สอย โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร การคมนาคมขนส่ง ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยตีบตัน 

สถานการณ์ดังกล่าวแพร่กระจายขยายวงมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโคม่าต้องเข้าห้องไอซียู หดตัวถึง -12.1% ในไตรมาส 2 ปี 2563 ใกล้เคียงก้นเหวที่เราเจอเมื่อปี 2541 ความเชื่อมั่นทุกตัวดิ่งหัวลงหมด ร้านค้ารายเล็กรายน้อยทยอยปิดตัว เลิกจ้างงาน คนตกงานค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ในปี 2563 เกิดแรงงานย้ายถิ่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1 ล้านคน มากกว่าครึ่งย้ายออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเมืองใหญ่ๆ กลับบ้านเกิด
    ในช่วงไตรมาส 2 คาบเกี่ยวไตรมาส 3 ของปี 2563 รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่าน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลังเยียวยาไป 15.3 ล้านคน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เยียวยาไป 7.6 ล้านคน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เยียวยาไป 6.7 ล้านคน และหากรวมการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานของสำนักงานประกันสังคม 
    การเยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 13.9 ล้านคน ณ ขณะนั้น รวม ๆ แล้ว รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาไปได้ถึง 44 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินเกือบ 4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.5% ของ GDP ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 หดตัวในอัตราที่น้อยลงมาอยู่ที่ -6.4% 

เมื่อเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในไตรมาส 4 รัฐบาลจึงได้อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้การฟื้นตัวมีความต่อเนื่อง ผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้ารวมเงินส่วนตัวที่ผู้บริโภคต้องควักออกมาร่วมซื้อของด้วย จะมีเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเฉียด ๆ 6 หมื่นล้านบาท และโครงการเพิ่มกำลังซื้อผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 1 วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท 

 

    โดยมีเป้าหมายในการกระตุ้นการบริโภคของผู้มีรายได้น้อยจนถึงปานกลางอันเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ และช่วยให้ร้านค้ารายเล็กรายได้มีรายได้เข้ามา และสามารถนำไปบริโภคต่อหรือซื้อของเข้าร้านไว้ขายต่อ  เมื่อการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย เริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ 
    ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของปี 2563 หดตัวน้อยลงมาอยู่ที่ -4.2% ส่งผลให้ทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ -6.1%

ย้อนรอยวิกฤติโควิด-19 | พงศ์นคร โภชากรณ์

นอกจากนั้น ตัวเลขจำนวนคนจนที่รายงานโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า จำนวนคนจนในปี 2563 อยู่ที่ 4.75 ล้านคน แต่ที่ต้องขยี้ตาอ่านอีกที คือ เขาระบุว่า หากไม่มีโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ข้างต้น คาดการณ์ว่า จำนวนคนจนในปี 2563 จะกระโดดไปอยู่ที่ 11 ล้านคน หรือเพิ่มจากปี 2562 กว่า 6 ล้านคน 
    ต่อมาในปีที่ 2 ของวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1 ของปี 2564 ผ่านโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 วงเงิน 2.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้ารวมเงินอีกครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคด้วย จะมีเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 4 หมื่นล้านบาท และโครงการเพิ่มกำลังซื้อผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 วงเงิน 2.1 
หมื่นล้านบาท 
    เม็ดเงินจาก 2 โครงการยังคงหนุนการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในไตรมาสนี้ รัฐบาลมีการเร่งลงทุนทั้งด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ ทำให้การลงทุนภาครัฐมีบทบาทอย่างมากในไตรมาสนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวเพียง -2.6% เท่านั้น
    ในไตรมาส 2 ของปี 2564 มีผู้ติดเชื้อจำนวน 2.3 แสนคน แต่เศรษฐกิจสามารถพลิกกลับมาขยายตัวสูงถึง 7.6% ไม่ใช่เพราะฐานต่ำอย่างเดียว แต่เป็นเพราะการส่งออกสินค้าที่เป็นเครื่องยนต์ที่มีแรงม้ามากที่สุดของเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก บวกกับการออกโครงการเราชนะ วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท มีคนเข้าร่วมโครงการถึง 32.8 ล้านคน เกือบครึ่งประเทศ และมีร้านค้าและผู้ให้บริการกว่า 1 ล้านรายเข้าร่วม 
    ในไตรมาส 3 ของปี 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านคน เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์เดลต้า ทำให้รัฐบาลกลับมาเข้มงวดเรื่องมาตรการล็อคดาวน์อีกครั้ง เกือบครึ่งประเทศกลายเป็นพื้นที่คุมเข้มระดับสีแดง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอีกครั้ง 
    ในไตรมาสนี้รัฐบาลมี 3 โครงการต่อสู้กับโควิด-19 ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้ารวมเงินอีกครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคด้วย จะมีเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 1.8 แสนล้านบาท 
    โครงการเพิ่มกำลังซื้อผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สำหรับกระตุ้นการบริโภคของผู้ที่มีกำลังซื้อ ทั้ง 3 มาตรการช่วยพยุงให้เศรษฐกิจหดตัวเล็กน้อยที่ -0.3% และใน 3 ไตรมาสแรก เศรษฐกิจขยายตัวได้ 1.3%
    ส่วนในไตรมาส 4 ของปี 2564 ข้อมูลล่าสุด พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนตุลาคมยังขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่เดือนพฤศจิกายนกลับมาขยายตัวสูง สะท้อนกำลังซื้อของผู้มีรายได้ไม่มากนักและเทรนด์การปรับเปลี่ยนไปสู่อาชีพอิสระมีมากขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนก็ยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
    ประกอบกับมาตรการทางเศรษฐกิจยังมีต่อเนื่อง มาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และมาตรการผ่อนคลายล็อคดาวน์ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 4 จะกลับมาขยายตัวได้ ส่งผลให้ทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้มากกว่า 1% สิ่งที่เราต้องจับตาในช่วงปลายปีนี้ คือ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่ากันว่า โหดไม่ใช่เล่น
    ปี 2565 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ประมาณ 4.0% หวังว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง. 
    บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด
คอลัมน์ : ตีโจทย์เศรษฐกิจ 
พงศ์นคร โภชากรณ์ ([email protected])