3นักเศรษฐศาสตร์ ทำนายเศรษฐกิจไทย ปี65 เป็น“เสือพร้อมกระโจน”

3นักเศรษฐศาสตร์ ทำนายเศรษฐกิจไทย ปี65 เป็น“เสือพร้อมกระโจน”

3 นักเศรษฐศาสตร์ แนวหน้าของไทย 3 ค่ายเศรษฐกิจ ซีไอเอ็มบีไทย-เกียรตินาคินภัทร-เวิล์ดแบงก์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย คาดปีหน้าเศรษฐกิจไทยเหมือนเสือพร้อมกระโจน จากปีนี้ที่เป็นเสือหมอบเลียแผล แต่ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องเฝ้าระวัง ภายใต้ โควิด-19

เศรษฐกิจไทยปี65 เป็นเสือพร้อมกระโจน
      ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยในงานสัมมนา เศรษฐกิจประจำปี 2564 ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ “ทางรอด 2022” Survival Guide ในช่วงสัมมนาหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า หากพูดถึงเศรษฐกิจไทยปีนี้ เหมือนเสือหมอบที่เลียแผล หรือนั่งอยู่เฉยๆ เพราะการขยายตัวปีนี้เราคาดการณ์ขยายตัวที่  1.1% ซึ่งขยายตัวต่ำที่สุดในอาเซียน หรือเรียกว่า Sick man of Asia คนป่วยของเอเชีย เพราะจีดีพีไทยปีนี้ต่ำเตี้ยเรี้ยดิน เพราะการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักยังไม่กลับมา

     แต่หากมองไปถึงปีหน้า มองว่า เป็นปี ที่เหมือน “เสือที่พร้อมกระโจน”ไปข้างหน้า ที่คาดว่าจะสดใสกว่าปีนี้ โดยมองการเติบโตเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.8% จากโอกาสการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยวที่จะกลับมา โดยมีกำลังซื้อระดับกลาง ถึงบน ยังเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ 

       อย่างไรก็ตาม การเติบโตภายใต้ 3.8-3.9% จะเป็นปีที่การเติบโตมีกระจายไม่ทั่วถึง กำลังซื้ออยู่แค่ระดับกลางบน ขณะที่ระดับล่างยังอ่อนแอ ยังมีคนอีกมากที่ขาดรายได้ 
 

ภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญหนุนเศรษฐกิจ
       ดังนั้นมองว่า ภาครัฐ จะเป็นส่วนสำคัญ ในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้ และมองว่าวันนี้ภาครัฐยังมีเงิน ไม่ได้ถังแตก แต่ไม่ได้บอกว่ารัฐต้องมากู้และใช้เต็มที่ จากการระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐใช้เงินไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท

      ซึ่ง หากมีการระบาดรอบถัดๆไปก็ยังมีเงิน เพื่อนำมาใช้พยุงเศรษฐกิจต่อได้ เพื่อให้กำลังซื้อดีขึ้น เพื่อทำให้การระบาดคลี่คลาย 

      ดังนั้นมาตรการที่ภาครัฐทำได้ เชื่อว่าทำได้มากกว่า การแจกเงิน แต่ต้องเป็นนโยบายที่ต้องทำให้เกิดการจ้างงาน หรือ จ้างงานแลกเงิน ตรงนี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจและช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวได้

     ขณะที่มาตรการที่ภาครัฐจะทำได้ คือการเข้าไปกระตุ้นคนกลุ่มบน ที่มีกำลังให้เกิดการใช้จ่าย เพราะวันนี้ “คนมีไม่ใช้ คนใช้ไม่มี” ดังนั้นต้องทำให้คนที่มีเงิน ออกมามีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ

     เช่นใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเป็นการชั่วคราว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้นเชื่อว่ามาตรการภาครัฐ จะเป็นตัวเติมเติมให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ 
      สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศ เศรษฐกิจต่างประเทศปีหน้ายังมีการเติบโต โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป จีน แต่อาจชะลอตัวลงจากปีนี้ ซึ่งเหล่านี้เป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคส่งออก เช่นการส่งออกยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหาร กลุ่มนี้สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนการจ้างานได้ 
     ขณะที่ปัจจัยที่ต้องระวังในปีหน้า มีทั้ง ปัจจัยจากสงครามการค้า สหรัฐ จีน ที่ยังคงเป็นแรงกดดัน หากยังมีการกีดกัน จีนก็อาจชะลอนำเข้า ขณะเดียวกัน จีนก็อาจต้องการสินค้าจากอาเซียนน้อยลง ซึ่งกระทบต่อไทย แม้ไทยจะส่งออกไปสหรัฐได้ แต่ไม่สามารถชดเชยกันได้ ดังนั้นจากเสือกระโจน อาจสะดุดได้ ดังนั้นตรงนี้จะเป็นโจทย์ที่ต้องติดตาม 
     ส่วนการเคลื่อนไหวเงินบาท ประเมินว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอ่อนค่า โดยอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปสู่ 34 บาทต่อดอลลาร์ในครึ่งปีแรกปีหน้า และอาจเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เพราจะมีรายได้จากท่องเที่ยว ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกได้ เหล่านี้จเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจไทย     
     “ความเสี่ยงยังมีอีก จากปัจจัยการเมือง คือการเลือกตั้งมิทเทอมของสหรัฐ ที่จะมีความขัดแย้งกันแน่นอน วันนี้สหรัฐเรามองต่อให้เศรษฐกิจโต 4-5% ซึ่งยังเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่จีนไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้สหรัฐพยายามกดดันจีนเรื่อยๆ ดังนั้นตัวนี้คือกระแสโลกที่ต้องติดตาม เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นประเทศเปิดขนาดเล็ก อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในตลาดโลกกดดันไทยแน่นอน หากจีนมีปัญหา และกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ท่องเที่ยวไม่มา เรากระทบแน่นอน เพราะเราต้องพึ่งพาตลาดโลก ดังนั้นปัญหาโลกกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน" 
 

เศรษฐกิจไทยปีหน้าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน 

   
     ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า หากพูดถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ปี 2562 เศรษฐกิจไทยติดลบกว่า 6% ขณะที่ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทย น่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 0.9-1% ได้ ขณะที่มองไปถึงปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.9% ภายใต้ความไม่แน่นอนที่จะมีอยู่ค่อนข้างมาก 
     โดยปัจจัยชี้วัด ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ การระบาดของโควิด-19 จะกลับมาระบาดใหม่อีกหรือไม่ รวมถึง ภาคการท่องเที่ยวว่าจะกลับมาหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามมองว่า กว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตเหมือนก่อนโควิด-19 อาจต้องรอไปถึง ปี 2566 
    ดังนั้น ปีหน้าหวังว่า อย่าให้มีการระบาดรอบใหม่ โควิด โอมิครอน อย่าให้ระบาดหนักเหมือนต่างประเทศ จนต้องเข้าสู่โหมดการทำงานอยู่บ้านอีกครั้ง และหวังให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาบ้าน

   โดยเกียรตินาคินภัทร คาดการนักท่องเที่ยวปีหน้า 5.8 ล้านคน แม้จะน้อยมากหากเทียบกับระดับก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน แต่เชื่อว่าจะเป็นไดร์เวอร์สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่หากท่องเที่ยวของต่างชาติยังไม่กลับมา เหมือนปี 2564 มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอีกปีที่มีความเสี่ยง และมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่ได้ที่ 3.9% 
    “วันนี้เศรษฐกิจข้างนอกต่างประเทศฟื้นตัวเต็มที่ จนมีปัญหาเงินเฟ้อกันแล้ว ดังนั้นหากเทียบ เหมือนคนอื่นๆปาร์ตี้กันอยู่ แต่เราไม่ได้ enjoy เผลอๆต้องไปล้างจานให้เขาด้วย เพราะหากลองนึกว่า เศรษฐกิจเขาเริ่มฟื้นค่อนข้างเร็ว ฝั่งซัพพลายโตไม่ทัน เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกไม่ได้โตไซเคิลเดียวกัน ทำให้ดีมานด์การผลิตโตไม่ทัน ดังนั้นวันนี้ปัญหาเยอะไปหมด”
 

นโยบายการเงินต่างประเทศกระทบไทย
    ขณะที่วันนี้ เงินเฟ้อสหรัฐสูงสุดตั้งแต่ปี 2525 ซึ่งไม่เคยเห็นเงินเฟ้อสูงระดับนี้มากว่า 40ปี ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐทำได้คือ การคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป และทำให้ตลาดแรงงานจ้างงานได้เต็มที่ เราเห็นอัตราการว่างงานสหรัฐลดลงมาเกือบถึงก่อนเกิดโควิดแล้ว ดังนั้นไม่มีเหตุผลให้ต้องผ่อนคันเร่งการทำนโยบาย 

    ดังนั้น ปัญหาที่สำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยประเมินว่า สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยได้ 2-3 ครั้งหรือราว 0.50-0.75% ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว การขึ้นดอกเบี้ยอาจทำได้ลำบาก ดังนั้นเศรษฐกิจไทยอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินของต่างประเทศ ภายใต้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งของที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางการเงินที่จะสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจกำลังโดนผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว
     ซึ่งหากปีหน้าการท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้กลับมา ก็จะมีผลต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และอาจส่งผลต่อเงินบาทที่อาจเคลื่อนไหวผันผวน และมีทิศทางอ่อนค่าได้ ดังนั้นต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด         
 

เวิล์ดแบงก์ชี้ต้องโฟกัสช่วยคนให้ตรงจุด
     ด้าน ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า เวิร์ดแบงก์คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตที่ 1% และปีหน้าคาดขยายตัว 3.9% โดยเชื่อว่าภาครัฐจะมีบทบาทสูงมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจากนอกเป็นผู้จ้างงานแล้ว ยังเป็นพื้นฐานของฐานรากคือประชาชนทั่วไปด้วย ที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ 


แนะสร้างความแข็งแรงฐานรากฟื้นเศรษฐกิจ
     แต่อย่างไรก็ตาม บทบทของภาครัฐในการช่วยเหลือนั้น ก็ต้องโฟกัสให้ดี ว่าต้องช่วยเหลือใคร ถึงเป็นการช่วยเหลือจริงๆ

   เช่นการเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่ชุมชน เสริมสร้างความแข็งแกร่งระดับชุมชนให้มีศักยภาพขึ้นมา  เพราะการทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงได้ จำเป็นที่ต้องใช้แรงจากพื้นฐาน หรือฐานราก 
    ดังนั้น ปีหน้าถึงแม้เศรษฐกิจไทย จะไม่ได้เติบโตเท่ากับรปะเทศอื่นๆ แต่เราสามารถใช้เวลา ในการสร้างพื้นฐานกำลังภายในให้ฐานรากแข็งแรงได้ 
     “สิ่งที่ต้องจับตาคือทั้งความไม่แน่นอนของการขนส่ง และปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จากซัพพลายที่มีความไม่แน่นอน เพราะภาคการผลิตเกี่ยวโยงกันหมด เพราะมีโซ่อุปทานโลก หรือ Global Supply Chain อาจทำให้การผลิตโลกเกิดการสะดุด หรือ Supply Chain Disruption ทำให้เศรษฐกิจไทยสะอึกได้ จากปัจจัยเหล่านี้”