"ผลกระทบภายนอก" กับความเหลื่อมล้ำในชีวิตประจำวัน | นรชิต จิรสัทธรรม

"ผลกระทบภายนอก" กับความเหลื่อมล้ำในชีวิตประจำวัน | นรชิต จิรสัทธรรม

“ผลกระทบภายนอก” เป็นคำศัพท์เศรษฐศาสตร์ที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นเคย หากแต่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี

“ผลกระทบภายนอก” มีความหมายถึงต้นทุนหรือผลประโยชน์จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของหน่วยเศรษฐกิจหนึ่ง ที่ตกกระทบไปยังหน่วยเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น

โดยทั่วไป “ผลกระทบภายนอก” มักจะถูกอธิบายว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความล้มเหลวของตลาด หรือทำให้กลไกราคาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะราคาที่ปรากฏในตลาดมิได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการผลิตและการบริโภคสินค้านั้น

ตัวอย่างที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอๆ เมื่อมีการอธิบายเรื่องผลกระทบภายนอกก็คือ การที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ทำการบำบัดก่อน เพื่อลดต้นทุนการผลิตของโรงงาน สินค้าที่ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานนี้จึงสามารถขายด้วยราคาที่ถูกกว่าที่ควรจะเป็น เพราะไม่มีต้นทุนค่าบำบัดน้ำเสีย ส่งผลให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าและเกิดการบริโภคสินค้านี้มากกว่าที่ควรจะเป็น 

นั่นจึงทำให้เกิดการนำเอาทรัพยากรไปผลิตสินค้าชนิดนี้มากเกินกว่าที่ควรจะเป็นด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำและไม่ได้เป็นผู้ที่จะบริโภคสินค้าชนิดนี้ แต่กลับต้องได้รับผลกระทบจากน้ำเน่าเสีย

มีตัวอย่างอีกมากมายที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อมีการกล่าวถึงผลกระทบภายนอกที่เป็นลบ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่ไม่ยอมจัดหาที่จอดรถของตัวเองแต่ให้ลูกค้านำรถมาจอดริมถนน ส่งผลให้เกิดการกีดขวางการจราจร ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ

หรือโรงงานปล่อยควันพิษออกสู่อากาศโดยไม่ผ่านเครื่องกรองอากาศ ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับโรงงานจึงเสียสุขภาพ

\"ผลกระทบภายนอก\" กับความเหลื่อมล้ำในชีวิตประจำวัน | นรชิต จิรสัทธรรม

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผลกระทบภายนอกมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายในแง่มุมของประสิทธิภาพเป็นด้านหลัก ผลกระทบภายนอกถูกเน้นย้ำว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของความล้มเหลวของตลาด และความล้มเหลวของตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ก็หมายถึงความล้มเหลวในการ “จัดสรรทรัพยากร” ซึ่งหมายความว่าทรัพยากรของสังคมจะถูกนำมาผลิตสินค้าชนิดนั้นๆ มากหรือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หาได้หมายถึงความล้มเหลวในการ “กระจายผลประโยชน์” ไม่ 

ดังนั้น ในที่นี้จึงขอชวนให้ลองหันมาพิจารณาผลกระทบภายนอกในแง่มุมของ “การกระจายผลประโยชน์” และ “ความเหลื่อมล้ำ” กันบ้าง

จากตัวอย่างของการที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลกระทบภายนอกด้านลบที่ได้กล่าวถึงไป หากพิจารณาว่าน้ำเสียจากโรงงานที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาตินั้นเน่าเสียตามไปด้วย 

ผู้ที่อาศัยอยู่ติดกับแหล่งน้ำที่เคยนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ เช่นใช้รดต้นไม้ ใช้ถูบ้าน หรือแม้แต่ใช้ชำระร่างกายหรือซักผ้า ก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จะต้องหันไปใช้น้ำจากแหล่งอื่นที่มีค่าใช้จ่าย เช่น น้ำประปา 

หรือหากจะคิดต่อไปอีกว่าคนเหล่านั้นอาจเคยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติในการหาอาหารหรือสร้างอาชีพ เมื่อแหล่งน้ำธรรมชาติเน่าเสียก็ย่อมส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของพวกเขา

การปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลกระทบภายนอกทางลบ จึงไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติต้องมีต้นทุนในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ยังอาจหมายถึงเป็นการทำให้ผู้คนเหล่านั้นต้องสูญเสียรายได้หรือมีรายได้ลดลง 

\"ผลกระทบภายนอก\" กับความเหลื่อมล้ำในชีวิตประจำวัน | นรชิต จิรสัทธรรม

ในขณะที่เจ้าของโรงงานสามารถผลิตและขายสินค้าของตนได้มากขึ้น หรือหมายถึงว่าเจ้าของโรงงานรวยขึ้น ในขณะที่คนอื่นๆ จนลง ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น

นอกจากตัวอย่างคลาสสิกอย่างการปล่อยน้ำเสียหรือปล่อยควันพิษของโรงงานอุตสาหกรรม ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคนจำนวนมากคือ ผลกระทบภายนอกทางลบอันเกิดจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งผลกระทบภายนอกดังกล่าวนี้มิได้กระทบเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้โครงการก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบไปยังผู้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปมากๆ ด้วยก็ได้

บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวคราวว่าบ้านเรือนที่อยู่ใกล้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีการตอกเสาเข็มจำนวนมากมักจะมีการทรุด หรือบางครั้งหนักถึงขั้นมีการแตกร้าวของผนัง และแทบทุกกรณีเจ้าของบ้านก็มักจะต้องเป็นฝ่ายออกเงินซ่อมแซมบ้านเรือนของตนเอง

เศษดินโคลนที่ติดออกมากับรถบรรทุกที่วิ่งเข้าออกโครงการก่อสร้าง ทำให้ถนนสกปรกเลอะเทอะ และแน่นอนว่าทำให้รถยนต์ที่ต้องวิ่งเข้าออกชุมชนที่พักอาศัยทุกวันต้องสกปรกเลอะเทอะตามไปด้วย ไม่เพียงแค่เศษดินที่ทำให้ถนนและรถสกปรก บ่อยครั้งเจ้าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ผู้โชคร้ายยังต้องนำพาหนะของตนไปหาช่างปะยาง เพราะขับไปเหยียบตะปูที่มาจากโครงการก่อสร้าง 

ยังไม่ต้องพูดถึงร้านอาหารที่เคยขายดิบขายดีก่อนที่จะมีโครงการก่อสร้าง แต่เมื่อถนนหน้าร้านเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน รอบๆ บริเวณร้านฟุ้งกระจายไปด้วยฝุ่น และอาจมีเศษตะปูเป็นของฝากให้กับยางรถของลูกค้า ไม่ต้องสงสัยว่าเจ้าของร้านอาหารดังกล่าวจะรวยขึ้นหรือจนลง ในขณะที่ชัดเจนว่าเจ้าของโครงการหรือผู้รับเหมาก่อสร้างจะร่ำรวยขึ้นจากการลดต้นทุนของตนเอง และปัดผลกระทบภายนอกให้เป็นปัญหาของผู้อื่น

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้โครงการก่อสร้าง หากเจ้าของโครงการหรือผู้รับเหมาจะควบคุมดูแลไม่ให้เศษดินหรือเศษตะปูหลุดออกไปนอกโครงการก่อสร้าง เช่นเดียวกับที่เจ้าของโรงงานจะต้องไม่ปล่อยให้น้ำเสียหรือควันพิษออกสู่บริเวณรอบโรงงาน

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ (และแน่นอนว่ายังมีปัญหาในเรื่องผลกระทบภายนอกอีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง) ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่ผู้คนที่ต้องประสบปัญหาในสถานการณ์จริงจะรับรู้และสัมผัสได้

แม้พวกเขาอาจไม่ทันคิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่รวยขึ้น ในขณะที่พวกเขาต้องมีต้นทุนหรืออาจถึงขั้นต้องยากจนลง แต่นักเศรษฐศาสตร์ผู้ซึ่งสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำควรจะตระหนักในประเด็นนี้ให้มากขึ้น

ในขณะที่รัฐป่าวประกาศว่า กำลังพยายามคิดหานโยบายมากมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ในเดียวกัน รัฐในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายกลับปล่อยปละละเลยให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้คนแบบไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำที่รัฐป่าวประกาศว่ากำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหา.

คอลัมน์ มุมมองบ้านสามย่าน 
ผศ.ตะวัน วรรณรัตน์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผศ.นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น