จะใช้สงครามแก้ความเหลื่อมล้ำของโลก? | ไสว บุญมา

จะใช้สงครามแก้ความเหลื่อมล้ำของโลก? | ไสว บุญมา

องค์กรเอกชนชื่อ World Inequality Lab (คงแปลว่า “ห้องปฏิบัติการความเหลื่อมล้ำโลก”) เพิ่งพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของชาวโลกออกมาชื่อ World Inequality Report 2022

องค์กร World Inequality Lab ก่อตั้งขึ้นที่นครปารีส หลังการพิมพ์หนังสือของนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Thomas Piketty เมื่อปี 2556 ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและได้รับการแปลเป็นหลายภาษาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภาษาอังกฤษชื่อ Capital in the Twenty-First Century  ภายในเวลาเพียงปีเดียว 
    หนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เล่มนี้ขายได้นับล้านเล่ม สร้างความฉงนสนเท่ห์ใจให้แก่ผู้อยู่ในแวดวงวิชาการและการพิมพ์  ในขณะเดียวกันมันเป็นแรงจูงใจให้นักวิชาการกลุ่มหนึ่งนำโดยผู้เขียนหนังสือตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นม าเพื่อศึกษาความเป็นไปในด้านความเหลื่อมล้ำทั่วโลก  

รายงานดังกล่าวยาว 228 หน้าและเนื้อหาส่วนใหญ่อาจมองได้ว่าเป็นการเพิ่มเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวซึ่งยาวถึง 685 หน้า (ฉบับภาษาอังกฤษ)  ในรายงาน นักวิชาการคำนวณว่าปีนี้ ชาวโลกมีรายได้เฉลี่ยคนละ 16,700 ยูโร (ราว 626,250 บาท หรือเกือบ 52,200 บาทต่อเดือนตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร = 37.5 บาท)  และครอบครองทรัพย์สินคนละ 72,900 ยูโร (ราว 2.73 ล้านบาท) 
     แม้รายได้และการครอบครองทรัพย์สินในระดับนี้ดูจะไม่ต่ำนัก แต่เมื่อมองต่อไปจะพบกว่า ผู้มีความมั่งคั่งสูงสุด 10% ของชาวโลกครอบครองทรัพย์สินรวมกันเป็น 76% ของทรัพย์สินโลกและมีรายได้เฉลี่ยคนละ 87,200 ยูโร ในขณะที่ผู้มีความมั่งคั่งต่ำสุด 50% ของโลกครอบครองเพียง 2% ของทรัพย์สินโลกและมีรายได้คนละ 2,800 ยูโรเท่านั้น  
    ข้อมูลในรายงานยืนยันบทสรุปในหนังสือ นั่นคือ โลกมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทั้งในด้านรายได้และในด้านการครอบครองทรัพย์สิน  นอกจากนั้น มันยังยืนยันว่าในช่วงเวลาที่โลกกำลังถูกคุกคามด้วยไวรัสโควิด-19 นี้ มหาเศรษฐีผู้มีทรัพย์สินในระดับพันล้านยูโรร่ำรวยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในขณะที่ชาวโลกอีกนับร้อยล้านคนยากจนลงถึงขั้นอดอยากแสนสาหัส  รายงานนำข้อมูลของ 26 ประเทศมาแยกเสนอเป็นรายประเทศ แต่ไม่มีของประเทศไทย  
    อย่างไรก็ดี ในการจัดประเทศเป็น 5 กลุ่มจากประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสุดไปถึงสูงสุด ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 4 กล่าวคือ ภาวะในไทยไม่เลวร้ายเท่าความเหลื่อมล้ำในหลายประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกาและอเมริกาใต้ แต่ยังห่างไกลจากภาวะในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสุดในแถบยุโรปตะวันตก

รายงานเสนอนโยบายในแนวที่หนังสือดังกล่าวเสนอไว้แล้ว เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าเช่นเดียวกับการเก็บภาษีรายได้และการเข้มงวดในการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบรรดามหาเศรษฐีของโลก  นโยบายในแนวนี้มีประเทศจำนวนมากพยายามทำ  ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 136 ประเทศบรรลุข้อตกลงร่วมกันว่าจะเก็บภาษีรายได้ของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกิจการข้ามชาติขั้นต่ำเท่ากันคือ 15%  
    คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า นโยบายที่มาจากข้อเสนอแนวดังกล่าวมักมีช่องโหว่พอที่พวกมหาเศรษฐีจะสามารถลอดไปได้ ทั้งนี้เพราะพวกเขาเข้าถึงอำนาจได้มากกว่าคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นในประเทศที่ปกครองในแนวประชาธิปไตยหรือในแนวเผด็จการ  จะเห็นว่าทันทีที่รัฐบาลอเมริกันลงนามในข้อตกลง สมาชิกรัฐสภาที่มาจากพรรคริพับลิกันซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเอนเอียงไปทางข้างคนรวยประกาศว่าจะต่อต้านร่างกฎหมายเพื่อเก็บภาษีตามข้อตกลงนั้น
    ความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและความสามารถของมหาเศรษฐีที่จะเลี่ยงภาษีดังกล่าวก่อให้เกิดข้ออ้างของกลุ่มต่าง ๆ ที่ว่า ระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่โลกใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากความเหลื่อมล้ำได้  แต่เมื่อถามว่าจะแก้อย่างไร คำตอบจะไม่ตรงกัน  
    ประวัติศาสตร์บ่งว่า ความเหลื่อมล้ำมักนำไปสู่ความขัดแย้งร้ายแรงมากและสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้แก่ สงคราม กับ ความถดถอยอย่างหนักของเศรษฐกิจ เพราะมันทำลายทรัพย์สินซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในครอบครองของคนรวย  

ประเด็นนี้มีมหาเศรษฐีกลุ่มหนึ่งนำโดยบิล เกตส์ มองเห็น จึงพยายามช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วยการไม่พยายามเลี่ยงภาษีและบริจาคทรัพย์ส่วนใหญ่ให้แก่การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  แต่มหาเศรษฐีส่วนใหญ่ไม่ยอมทำ  พวกเขาคงมีความประสงค์จะให้สงครามและความถดถอยแก้ปัญหา?