เร่งบูรณาการผังเมืองรับ สมาร์ทซิตี้ ลดเหลื่อมล้ำหนุนโตกระจายทุกมิติ

เร่งบูรณาการผังเมืองรับ สมาร์ทซิตี้ ลดเหลื่อมล้ำหนุนโตกระจายทุกมิติ

โลกไร้พรมแดนและเมกะเทรนด์สมาร์ทซิตี้ รับยุคเทคโนโลยีล้ำสมัย นำสู่การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ รวมทั้งการพัฒนาเมือง!

บนเวทีสัมมนา "งานผังเมืองโลก” Resilient & RecoveryCities ขับเคลื่อนเมืองสู่ความสุขในยุคโควิด-19  

อธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฉายภาพว่า "ผังเมือง" มีบทบาทที่จะทำให้ประเทศไทยในแต่ละเมืองฝ่าวิกฤติโควิด และมีความสุขได้ ภายใต้ 4 ประเด็นสำคัญ ประเด็นแรก “ผังเมือง+การพัฒนาเมือง” เป็นหัวใจหลักในการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นตัวชี้นำการพัฒนาประเทศในทุกมิติ อาทิ สังคม โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง 

เร่งบูรณาการผังเมืองรับ สมาร์ทซิตี้ ลดเหลื่อมล้ำหนุนโตกระจายทุกมิติ

ทุกหน่วยงานต้องยึดผังเมืองเป็น “แผนแม่บท” เพื่อพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบ และใช้ในการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งเรื่องงบประมาณและเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนเพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในการพัฒนาเมือง เพื่อแก้ปัญหามลภาวะ ขยะ แหล่งเสื่อมโทรม การจราจรและน้ำท่วม

ประเด็นที่สอง “การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ที่ผ่านมาความเจริญของประเทศไทยกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ อย่าง กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมทุกอย่าง! ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เกิดการอพยพมาทำงานในกรุงเทพฯ เกิดการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิต สร้างความเหลื่อมล้ำ และเกิดปัญหาตามมาทั้งด้านสังคม การเมือง การกระจายงบประมาณ ความเจริญสู่ท้องถิ่น

“แต่ละภูมิภาคต้องมีเมืองเอก เมืองรอง เพื่อรองรับกิจกรรมทางภูมิภาค โดยไม่ปล่อยให้เมืองใดเมืองหนึ่งรับภาระทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นศูนย์ราชการ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางสาธารณสุข เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการอพยพย้ายถิ่นฐาน ผังเมืองที่ดีต้องจูงใจให้คนอยู่ในพื้นที่ สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยบูรณาการงบประมาณ แผนงานร่วมกันถึงจะประสบความสำเร็จ”

ช่วงวิกฤติโควิดคนทำงานในกรุงเทพฯ ย้ายกลับไปต่างจังหวัดจำนวนมาก หากมีการพัฒนาเมืองให้มีความสะดวก มีแหล่งงานรองรับจะทำให้คนกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดของตนเอง จะทำให้เกิดความสมดุลจากการพัฒนาเมือง

“วิกฤติโควิดถือเป็นโอกาส ต้องรีบปรับปรุงแก้ไขก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาบูมแล้วแก้ไม่ทัน แก้ไม่ได้ ช่วงที่กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นโอกาสที่เข้าไปแก้ไขคนที่ได้รับผลกระทบเยอะ ดังนั้นช่วงนี้ต้องรีบพัฒนาผังเมือง”

ประเด็นที่สาม “การเติบโตของเมืองอย่างสมดุล” ทั้งด้านอยู่อาศัยที่สะดวก ปลอดภัย ไร้มลภาวะ มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี มีแหล่งงาน ระบบสาธารณสุขที่ดี ระบบโครงสร้างการศึกษาที่ตอบสนองคนในพื้นที่ได้จนถึงขั้นสูงสุดอย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกันเพื่อสามารถผลิต บุคคลากรที่มีคุณภาพ การคมมนาคมที่สะดวก ต้นทุนไม่สูงในการเดินทาง ทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน

“หากมีการจัดผังเมืองที่เหมาะสมถูกที่ถูกทางจะทำให้แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลดค่าขนส่งวัตถุดิบสินค้าได้ดีขึ้น ลดมลภาวะ โดยมีผังเมืองเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา”

สุดท้าย “ผังเมืองต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีในอนาคต”  ไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูง โดยเฉพาะในอาเซียนมีการเติบโตทุกมิติอย่างรวดเร็ว มีประชากรจำนวนมาก ขณะเดียวกันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ดังนั้นผังเมืองต้องมองว่าโลกและเทคโนโลยีในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร

ปัจจุบันในต่างประเทศมีการวางผังเมืองเพื่อรองรับ “สมาร์ทซิตี้” มีระบบการจัดการเมือง ในประเทศไทยเริ่มมีการทำบางพื้นที่ ดังนั้นผังเมืองต้องมองว่าจะมีการบริหารจัดการท้องถิ่นอย่างไรที่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ  สมาร์ทซิติ้บางประเทศเลือกทำในบางพื้นที่ เช่น การจราจร การควบคุมระบบขนส่งมวลชน หรือ ระบบควบคุมความปลอดภัยผ่านกล้องซีซีทีวี  ต่างประเทศพัฒนาการไปใช้ระบบสแกนใบหน้า (Face Recognition) ใช้ระบบมือถือในการระบุตัวตน พื้นที่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อนำข้อมูลมาใช้บริหารจัดการเมืองได้ถูกต้องแม่นยำทั้งเรื่องสาธารณูปโภคและความปลอดภัย การจารจร มลภาวะ ฯลฯ

“หลังโควิด คนจะใช้เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ในการทำงาน สื่อสาร ซื้อขายของผ่านช่องทางออนไลน์ พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ผังเมืองต้องคำนึงถึงและนำมาปรับใช้รองรับความต้องการในอนาคต และนำเทคโนโลยีมาใช้ดูแลและควบคุม”

นอกจากนี้ ผังเมืองยังต้องคำนึงถึงโอกาสในการไหลเวียนหรือเชื่อมโยงของประชากรในประเทศต่าง ๆ รองรับความเป็นฮับของไทยในหลายด้าน อาทิ การเชื่อมโยงรถไฟฟ้าจากต่างประเทศมาไทย ผังเมืองต้องปรับตัวรองรับอย่างไร ซึ่งอนาคตประเทศไร้พรมแดน เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญมากขึ้น

หลังโควิดคาดว่าการอยู่อาศัยหรือการใช้ที่ดินเชิงพาณิชกรรม ของกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ (Central Business District) หรือ CBD จากนี้ไปจะให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องของ แซทเทิลไลท์ แอเรีย (Satellilete Areas) พื้นที่ต่าง ๆ รอบกรุงเทพฯ คนไม่จำเป็นต้องเข้ามาในเมือง ทำงานที่ไหนก็ได้ เพราะมีเทคโนโลยีรองรับ 

“การใช้ประโยชน์จากที่ดินในกรุงเทพฯ เริ่มมีการผสมผสานพื้นที่แบบสมดุล สมัยก่อนกรุงเทพฯ โตจากตึกสูง (คอนโด) แต่หลังจากเกิดโควิดมีคนกลุ่มหนึ่งมองว่าตึกสูงไม่จำเป็นต้องอยู่ใจกลางเมือง จากสมัยก่อนที่ต้องอยู่ใกล้ที่ทำงาน ทำให้ไปอยู่ชานเมืองที่มีพื้นภายในบ้านมากขึ้นเพื่อรองรับการทำงาน”

ฉะนั้นแนวโน้มในกรุงเทพฯ จะเป็น “อีโคมิกซ์” คือการผสมผสานแบบสมดุลมีทั้งตึกสูงและแนวราบ ส่วนต่างจังหวัดพื้นที่ยังไม่กระจุกตัวแนวโน้มคนกระจายตัวอยู่ การพัฒนาที่อยู่อาศัยหรือการใช้ประโยชน์ทางด้านพาณิชยกรรมยังเป็นแนวราบ

ส่วนขนาดของที่อยู่อาศัยในเมืองพัฒนาให้รองรับครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ส่วนฟังก์ชั่นยืดหยุ่นมีพื้นที่สำหรับการทำงานมากขึ้นในรูปแบบของมัลติฟังก์ชั่น เพราะผู้คนใส่ใจเรื่องสุขอนามัย ทำให้เทคโนโลยีไร้การสัมผัสเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วยเช่นกัน