คริปโทเพย์เมนต์ : แนวโน้มและกรณีศึกษา | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

คริปโทเพย์เมนต์ : แนวโน้มและกรณีศึกษา | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

บทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะอธิบายประเด็นเรื่องการใช้ สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี ในการชำระราคา กรณีศึกษา และแนวโน้มการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

การชำระราคาด้วยคริปโท
    ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการในไทยมักนิยมเพิ่มช่องทางในการรับชำระราคาด้วยคริปโทเพย์เมนต์ผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะรับชำระตรงผ่าน Wallet ของร้านค้าเอง หรือการใช้รูปแบบความร่วมมือระหว่างร้านค้ากับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
    เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นตัวกลางในการรับชำระราคา เพื่อแลกเปลี่ยนคริปโทเป็นเงินบาท และ cash out ผ่านสถาบันการเงินเพื่อรับเงินดังกล่าว

กรณีในต่างประเทศ
    ในต่างประเทศ การรับชำระเงินด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เริ่มมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2564 เป็นหลัก 
เช่น กรณีของ Rakuten Pay ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบอีเพย์เมนต์ของญี่ปุ่น ได้เปิดระบบให้ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้า/บริการด้วยคริปโทสกุลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BTC หรือ BCH ผ่านแอพพลิเคชั่น Rakuten Pay ที่จุดรับชำระของร้านค้ามากมายทั่วญี่ปุ่น 
    วิธีการ คือ ลูกค้าที่มี Wallet ของ Rakuten (ที่ใช้เก็บคริปโท) สามารถเชื่อมต่อบัญชีกับ Rakuten pay เพื่อแลกคริปโทที่มีเป็นสกุลเงินเยนผ่านแอพพลิเคชั่น R cash และชำระราคาสินค้า/บริการ ผ่านจุดรับชำระที่ร้านค้าได้ทันที 
    สิ่งที่น่าสนใจของกรณี Rakuten คือ การเชื่อมโยงโครงข่ายการชำระราคาทั้งกับร้านค้า ร้านอาหาร และ e-commerce ในญี่ปุ่นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้ออย่าง Familymart ห้าง Daimaru และ Mister Donut 
    นอกจากนี้ กรณีของ Paypal หนึ่งในผู้ให้บริการระบบชำระเงินรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ได้มีการให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลตั้งแต่ปี 2563 โดยมีการเปิดให้บริการเกี่ยวกับคริปโทหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย ถือครอง แลกเปลี่ยน และชำระราคา 

อย่างไรก็ดี Paypal ได้ระบุชัดเจนในเงื่อนไขการให้บริการว่า ผู้ใช้บริการไม่สามารถถ่ายโอนคริปโทให้กับบัญชีอื่นได้ และไม่สามารถถอนคริปโทจาก cryptocurrencies hub ของ Paypal ไปยัง wallet อื่น ๆ ได้ ซึ่งเป็นการจำกัดการให้บริการที่ทำให้การใช้คริปโทของ paypal อยู่ในวงจำกัดเฉพาะระบบของ Paypal เท่านั้น 
    นอกจากนี้ ยังได้มีการระบุเงื่อนไขการให้บริการชัดเจนว่า “คริปโททุกสกุลที่ให้บริการบนเว็บของ Paypal ไม่ใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) ไม่ได้มีการรับรองจากทางการ ไม่ใช่การฝากเงินที่ได้รับการประกันเงินฝากจาก FDIC (สถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ) และไม่ถือเป็นหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่จะได้รับความคุ้มครองจาก SIPC (Securities Investor Protection Corporation)” 
    เงื่อนไขการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อกำหนดของ State disclosures ที่ทำให้ Paypal ต้องระบุข้อเท็จจริงในการให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผู้ใช้บริการได้ทราบอย่างครบถ้วน

คริปโทเพย์เมนต์ : แนวโน้มและกรณีศึกษา | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

การกำกับดูแลในต่างประเทศ : ตัวอย่างในสหรัฐ
    การกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และในบางประเด็นอาจยังไม่ได้มีความชัดเจนมากนักในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีตัวอย่างข้างต้น ผู้เขียนขอเล่าถึงกรณีการกำกับดูแลในสหรัฐที่ค่อนข้างสนับสนุนและผ่อนคลายกฎระเบียบในการกำกับดูแล 
    โดยมีการออกกฎเกณฑ์หลายอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ปิดกั้นการใช้คริปโท เช่น กรณีของ Paypal ที่บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Paxos Trust Company และได้รับใบอนุญาตประเภท BitLicense จาก NYSDFS (New York State Department of Financial Services) ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ Virtual currency 

โดยได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายคริปโท การทำธุรกิจ custodian service และยังรวมไปถึงการออกบัตรเดบิตที่สามารถชำระด้วยคริปโทได้ 
    นอกจากนี้ สหรัฐยังได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งธนาคารสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Anchorage Digital Bank ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในการให้บริการดังกล่าว 
    สิ่งที่น่าสนใจในบริการของ Anchorage คือ การให้สินเชื่อในวงเงิน USD โดยใช้ Ethereum หรือคริปโทบางสกุล เป็น Backed loans ได้ (ทำผ่านความร่วมมือกับ BankProv) ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุด Anchorage ได้ลิสต์ Defi Token เช่น Token Uni ของ Uniswap เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ใช้บริการสามารถลงทุนและซื้อขายเหรียญเหล่านี้ผ่าน Custodian service ที่ดำเนินการโดย Anchorage ได้ 
    หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการยกระดับการดำเนินการในลักษณะการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับโปรโตคอล Defi ที่นอกเหนือไปจากสินทรัพย์ดิจิทัล

คริปโทเพย์เมนต์ : แนวโน้มและกรณีศึกษา | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์   

คุณสมบัติของ “เงิน” และ “สินทรัพย์ดิจิทัล”
    โดยหลักการ คุณสมบัติของเงินมีหลายประการ เช่น 
1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นและได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปในการแลกเปลี่ยนสินค้า/บริการ 
2) สามารถเป็นหน่วยวัดมูลค่าได้ (Unit of Account) หมายถึง สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดมูลค่าหรือสามารถระบุราคาของสินค้า/บริการได้ 
3) เก็บรักษามูลค่าได้ (Store of Value) หมายถึง สามารถเป็นสิ่งที่รักษามูลค่าได้ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจในการซื้อ หรือ purchasing power ของผู้ถือครอง

    ดังนั้น หากปรับคุณสมบัติของ “เงิน” เข้ากับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ อาจวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ให้บริการมีความพยายามในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโท ให้มีลักษณะคล้ายกับการใช้เงิน (fiat) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการนำไปใช้โดยไม่ต้องเทียบเคียงกับ fiat currency สกุลใดสกุลหนึ่ง อันจะเป็นปัจจัยให้รูปแบบการให้บริการในอนาคตมีความซับซ้อนและหลายหลาย
           นอกจากนี้ หากพิจารณาจากคุณสมบัติของเงิน พบว่า คริปโทสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า/บริการ และยังสามารถเป็นหน่วยวัดมูลค่าที่ทำหน้าที่ระบุราคาของสินค้า/บริการได้ 
    ข้อบกพร่องที่ยังพบอยู่ในปัจจุบันสำหรับคริปโทส่วนใหญ่คือ “การเก็บรักษามูลค่าให้คงที่” ซึ่งบางสกุลมีลักษณะของการเป็น Blank coin หรือคริปโทประเภทที่ไม่มี underlying asset รองรับ ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของสกุลดังกล่าวผันผวนได้ง่าย และทำลายคุณสมบัติในการรักษามูลค่า
    ท้ายที่สุด เมื่อพิจารณามูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก (Market Cap.) ที่มีมากกว่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์  ผู้เขียนเชื่อว่าแนวโน้มในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระราคาสินค้า/บริการจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
    อย่างไรก็ดี เมื่อกลับมาพิจารณาในมุมกฎหมายและการกำกับดูแล พบว่า กฎหมายในหลายประเทศอาจยังไปไม่ถึง หรือยังไม่รองรับการให้บริการทางการเงินผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล และ รูปแบบการดำเนินการแบบ Defi  
    ดังนั้น อาจถึงเวลาที่หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกที่ต้องติดตามและพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด. 

คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง