"หัวลำโพง" กับธรรมาภิบาลนโยบายสาธารณะ | บัณฑิต นิจถาวร

"หัวลำโพง" กับธรรมาภิบาลนโยบายสาธารณะ | บัณฑิต นิจถาวร

ข่าวการหยุดใช้สถานีรถไฟหัวลำโพงที่จะเริ่มในเดือนธันวาคม สร้างความไม่สบายใจให้กับคนจำนวนมาก เพราะไม่ชัดเจนว่าอนาคตอะไรจะเกิดขึ้นกับสถานีรถไฟหัวลำโพง จะยังอยู่หรือไม่

หัวลำโพงคือสัญลักษณ์ของความเป็นประเทศ ที่คนไทยภูมิใจและอยากให้เป็นสาธารณสมบัติของชาติ ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจเกี่ยวกับหัวลำโพงจึงเป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญ เพราะกระทบความรู้สึกคนทั้งประเทศ รวมทั้งมีคำถามมากมายในเรื่อง อำนาจตามกฎหมาย ธรรมาภิบาลของการทำนโยบายสาธารณะ และวิธีแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐที่สร้างผลกระทบต่อสังคม นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
    การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่การดำเนินงานมีผลขาดทุนก่อให้เกิดหนี้สินจำนวนมาก ระยะหลังมีข่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหาโดยเอาพื้นที่ของการรถไฟไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ มีการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อการนี้ และล่าสุดจะปิดการให้บริการของสถานีรถไฟหัวลำโพงเพื่อปูทางไปสู่การใช้พื้นที่

การตัดสินใจดังกล่าวเป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีได้ทั้งถูกและผิด มีทั้งผลดีและผลเสีย จึงจำเป็นที่กระบวนการทำนโยบายต้องรอบคอบ ระมัดระวัง มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และมีธรรมาภิบาลในทุกขั้นตอนของการทำนโยบาย นั้นคือ การมีส่วนร่วม การรับผิดรับชอบในเรื่องที่ตัดสินใจ ความโปร่งใส การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความเป็นธรรม นี่คือห้าประเด็นธรรมาภิบาลของการทำนโยบายสาธารณะที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 

การมีส่วนร่วม หมายถึง มีขั้นตอนรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และให้โอกาสผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ เช่น ร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งกรณีหัวลำโพง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญคือ พนักงานการรถไฟ ชุมชนในพื้นที่หัวลำโพง และ ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการของสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นประจำ 

ความรับผิดรับชอบในการตัดสินใจ หมายถึง การสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า การตัดสินใจมองประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล บนข้อมูลที่ถูกต้อง มีการวิเคราะห์ผลดีผลเสียของการตัดสินใจเป็นอย่างดี มีระบบบริหารความเสี่ยงที่จะรองรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น

ความโปร่งใส หมายถึง การเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการที่ใช้ในการตัดสินใจ ทั้งข้อมูลการเงิน ฐานะการเงินของหน่วยงานรัฐ ประมาณการการเงิน แผนชัดเจนว่าโครงการจะทำอะไร หน้าตาของโครงการเมื่อเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร จะใช้พื้นที่อย่างไร ข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจว่าทำโดยคณะกรรมการชุดไหน มีใครบ้างเป็นกรรมการ และใช้อำนาจอะไร 

การปฏิบัติตามกฎหมาย คือ การสร้างความเชื่อมั่นว่า หน่วยงานรัฐมีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำโครงการ และถ้าอำนาจที่มีเป็นการตีความโดยหน่วยงานเองว่ามีอำนาจ การตีความก็ควรมีการตรวจเช็คยืนยันและรับรองการตีความโดยหน่วยงานกฎหมายภายนอก เช่น สำนักงานรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง และสำนักงานกฤษฎีกา 

"หัวลำโพง" กับธรรมาภิบาลนโยบายสาธารณะ | บัณฑิต นิจถาวร

ความเป็นธรรม หมายถึง การตัดสินใจให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจ และหน่วยงานมีวิธีแก้ไข ชดเชย หรือ ดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ผู้โดยสารรถไฟที่เข้าไม่ถึงใจกลางเมืองมีความเดือดร้อน 

    นี่คือห้าประเด็นสำคัญด้านธรรมาภิบาลของการทำนโยบายสาธารณะ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญและดำเนินการในประเด็นเหล่านี้ เพื่อความชัดเจน ความถูกต้องในการทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก 

กรณี “หัวลำโพง” ให้ข้อคิดสำคัญหลายเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับการรักษาสาธารณสมบัติของชาติ และการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐที่สร้างผลกระทบข้างเคียงต่อส่วนรวม 

เรื่องแรก การป้องกันสาธารณสมบัติของชาติไม่ให้ถูกรื้อถอน ทำลาย ดัดแปลง หรือ ปรับปรุงอย่างไม่ถูกต้อง เป็นหน้าที่ร่วมกันของคนในสังคมที่ต้องช่วยกัน เพื่อรักษาและจรรโลงไว้ซึ่งสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศ ล่าสุดมีข่าวว่ากรมศิลปากรจะขอขึ้นทะเบียนสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นโบราณสถาน ซึ่งในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่บริหารหรือเป็นเจ้าของสถานที่

"หัวลำโพง" กับธรรมาภิบาลนโยบายสาธารณะ | บัณฑิต นิจถาวร

เรื่องนี้ ประชาชนทุกคนควรสนับสนุน ช่วยกันเข้าชื่อให้สถานีหัวลำโพงเป็นโบราณสถานของประเทศอย่างเป็นทางการ อย่าลืมว่า มติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นการตัดสินใจที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันของฝ่ายบริหาร และเปลี่ยนแปลงได้ 

นอกจากนี้ เราต้องนึกถึงการจัดตั้งองค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชนที่จะมีหน้าที่ดูแล ปกป้อง ซ่อมแซมและรักษาไว้ซึ่งโบราณสถานของประเทศ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นและศึกษาประวัติศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้โดยสมัครใจ คล้ายกรณีสิงคโปร์ที่จัดตั้ง National Heritage Broad หรือคณะกรรมการมรดกชาติ ขึ้นมาทำหน้าที่ 

สอง การแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่มีผลดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง ต้องแก้ที่การดำเนินงาน ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา ไม่ใช่เอาทรัพย์สินที่หน่วยงานมีไปหารายได้มาล้างหนี้ เพราะถ้าการบริหารจัดการไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้น การขาดทุนก็จะมีต่อไปไม่จบสิ้น ประชาชนก็ไม่ได้บริการที่ดี แต่ทรัพย์สินที่มีได้ถูกขายหรือแปลงสภาพไปแล้วและเรียกกลับคืนมาไม่ได้ ดังนั้น ปัญหาอยู่ตรงไหนต้องแก้ตรงนั้น 

"หัวลำโพง" กับธรรมาภิบาลนโยบายสาธารณะ | บัณฑิต นิจถาวร

ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ การรถไฟของอังกฤษที่มีปัญหา รัฐบาลสมัยนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาโดยการเปิดเสรีให้ภาคเอกชนเข้ามาแข่งขันประกอบธุรกิจรถไฟ บนโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ผลคือ ธุรกิจรถไฟกลับมาได้ ประชาชนได้ประโยชน์จากการให้บริการที่ดีขึ้น และ สถานีรถไฟเก่าแก่เป็นร้อยๆ ปีกลางกรุงลอนดอนทั้งหมด เช่น สถานี Euston สถานี Paddington สถานี Waterloo ก็อยู่เป็นศักดิ์ศรีและความสง่างามของประเทศต่อไป ไม่ได้ถูกแปลงสภาพหรือถูกนำไปให้เอกชนเช่าพื้นที่หาประโยชน์ 

ท้ายสุดที่ต้องระวังมากสำหรับบ้านเราคือ มีความเสี่ยงที่การแก้ปัญหาไม่ตรงจุดของหน่วยงานรัฐ จะสร้างแรงจูงใจหรือเป็นตัวอย่างให้ข้าราชการไม่สนใจทำหน้าที่หลักขององค์กรให้ถูกต้อง คือการให้บริการประชาชนและไม่ขาดทุน แต่มุ่งจะเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แทนซึ่งไม่ใช่งานขององค์กรหรือระบบราชการ

นี่คือประเด็นที่ต้องช่วยกันคิดและป้องกัน.