ภาพยนตร์ไทยยุคโควิด ทิศทางหลังเปิดประเทศ ชูมรดกวัฒนธรรม โอกาส Soft Power

ภาพยนตร์ไทยยุคโควิด ทิศทางหลังเปิดประเทศ ชูมรดกวัฒนธรรม โอกาส Soft Power

เปิดมุมมอง ภาพยนตร์ไทยยุคโควิด ทิศทางหลังเปิดประเทศ ..มรดกวัฒนธรรม โอกาส Soft Power ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เหลียวหน้าแลหลัง ภาพยนตร์ไทยยุคโควิด กรณีทิศทางหลังเปิดประเทศ ซึ่งต้องใช้มรดกวัฒนธรรม เพื่อโอกาส Soft Power ในการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย

นับตั้งแต่ไทยเริ่มระบาด โควิด-19 ทั่วประเทศ เมื่อต้นปี 2563 ส่งผลให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์ ปิดเมือง ปิดประเทศ หลายระลอก ซึ่งกระทบวงการภาพยนตร์ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

ปีที่แล้ว 2563 หนังไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ประมาน 37 เรื่อง โดยเฉลี่ยไทยผลิตและฉายออกแต่ละปีประมาณ 50-70 เรื่อง และในระบบ Streaming ประมาณ 17 เรื่อง

จากภาพยนตร์ไทย 30 กว่าเรื่องนั้น มีหนังทำเงินประมาณ 5-6 เรื่อง เช่น อีเรียมซิ่ง - ผู้กำกับฯพฤกษ์ เอมะรุจิ ค่ายเอ็ม พิคเจอร์ส โรงหนังเมเจอร์ รายได้ 200 ล้าน , พี่นาค2 - ผู้กำกับฯไมค์ ภณธฤต ค่ายไฟว์สตาร์ รายได้ 101 ล้าน , อ้าย..คนหล่อลวง - ผู้กำกับฯเมษ ธราธร ค่ายจีดีเอช รายได้ 97 ล้าน และ มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ - ผู้กำกับฯเอกชัย ศรีวิชัย ค่ายM39 รายได้ 43 ล้าน เป็นต้น

ปีนี้ 2564 ถึงเดือน พ.ย. มีหนังไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประมาณ 13 เรื่อง เข้าฉายแบบ ระบบ Streaming 3 เรื่อง มีหนังที่น่าจะได้เงินอย่าง ร่างทรง - ผู้กำกับฯบรรจง ปิสัญธนะกูล ค่ายจีดีเอช รายได้ทะลุ 100 ล้าน เป็นต้น

ในช่วงสองปีที่ไทยประสพวิกฤติโรคระบาดเช่นทั่วโลก ทำให้ผู้สร้าง ผู้ผลิต และผู้กำกับภาพยนตร์ไทยประสพปัญหาไปด้วย นอกจากหนังจะเลื่อนฉาย และพับแผนถ่ายทำหนังเพราะปัญหาล็อกดาวน์แล้ว บรรดาหนังไทยที่เข้าโรงส่วนใหญ่เป็นหนังตลกอิงกับท้องถิ่น และใช้ทุนน้อย

น่าสนใจว่า "ทิศทางภาพยนตร์ไทย" หลังจากนี้จะเดินไปอย่างไร ดูจากกรณีค่ายเอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ หรือ M39 ดึงคนดัง อย่าง หม่ำ จ๊กมก เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา ทำหนังตลกท้องถิ่นอีสาน และศิลปินดัง เอกชัย ศรีวิชัย ทำหนังตลกท้องถิ่นปักษ์ใต้ ซึ่งทำหนัง อย่าง มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ และ อีหล่าเอ๋ย ยอดรายได้ทะลุเป้ามาแล้ว (อ้างอิง - ทิศทางใหม่ของ ‘M39’ ในยุค ‘ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์’)

สะท้อนว่า "หนังท้องถิ่นนิยม" ยังขายได้และยังคงเดินหน้า หลังช่วง 4-5 ปีมานี้ หนังลักษณะดังกล่าวถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกันกับ "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์" เบอร์ใหญ่โรงภาพยนตร์ ประกาศเจาะ 77 จังหวัด ผลิตหนังไทยโกยเงินภูธร มองข้ามช็อตไปสู่ปีหน้า 2565 ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจโรงภาพยนตร์ จะเดินหน้าขยายสาขาสู่ต่างจังหวัดให้ครบ 77 จังหวัด และต่อจิ๊กซอว์สู่ระดับ “อำเภอ” เพื่อตอบสนองคอหนังภูธร

ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่อง โร้ดแมปปีหน้าของเมเจอร์ฯ จะมุ่งขยายโรงภาพยนตร์ไปยังต่างจังหวัดทั้งหมด เน้นหัวเมืองหลัก เมืองรอง ไม่มีกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันต่างจังหวัดกำลังสร้างรายได้ให้บริษัทเกินกว่า 60%

เมเจอร์พร้อมลุยผนึกพันธมิตรสร้างภาพยนตร์ไทย เพื่อเอาใจคนท้องถิ่น(Local) หลังจากรัฐคลายล็อกให้ผู้ผลิตออกกอง ทีมงานรวมตัวกันได้ 200 คน ซึ่งเป้าหมายปีหน้าบริษัทจะสร้างหนังไทยป้อนตลาดกว่า 20 เรื่อง

 

นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมหนังไทยมีผู้ผลิตที่แข็งแกร่งมากขึ้น และโอกาสทางการตลาดของคอนเทนท์หนังไทยเปิดกว้างจากการมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ จึงต้องการให้ตั้งกองทุน การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนหนังไทยเสริมแกร่งให้กับ Soft Power ของไทยแข่งขันกับนานาประเทศได้ (อ้างอิง - เมเจอร์ฯ จัดทัพโรงหนังปี 65 เจาะ 77 จังหวัด ผลิตหนังไทยโกยเงินภูธร

สำหรับผู้เขียนเอง มองว่าภาพยนตร์ไทยคือ ศิลปะพาณิชย์สำคัญในการช่วยให้ Soft Power ของเรา ได้เผยแพร่มรดกวัฒนธรรม ทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้

ทว่า จวบจนไตรมาส 3 ของปีนี้แล้ว ภาพยนตร์ไทยกลับไม่ได้รับการผลักดันจากรัฐบาล ดังที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญไตรมาสสาม ปี 2564 (22 พ.ย. 64) ระบุว่า ประเทศไทยทรงอิทธิพลด้านวัฒนธรรมเป็นอันดับที่ 5 ของโลก จาก 165 ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ประเทศไทยพยายามผลักดันและส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ 
1) อาหาร (Food)
2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)
3) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 
4) มวยไทย (Fighting)
5) การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival)

แต่ปรากฎว่า การตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงาน ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายที่ใกล้เคียงกับ Soft Power คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy เป็นแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม ตลอดจนการสั่งสมความรู้ของสังคมและเทคโนโลยีนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นการนำวัฒนธรรมมามีส่วนร่วมในสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Soft Power และจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ และยอมรับในสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้เขียนประเมินจากความคิดเห็นของ "นักวิชาการ" สะท้อนว่า ปัญหาใหญ่ของภาพยนตร์ไทยไม่ไปไหนมาไหนเสียที เพราะบางกระทรวงที่เกี่ยวข้อง บางหน่วยงานรัฐที่อยากมีเอี่ยว ต่างมองเรื่อง "งบประมาณ" จากรัฐบาลที่อาจจะกู้มาให้ดำเนินการ มากกว่า "เนื้องาน" ที่จะต้องเร่งทำเพื่อให้วงการภาพยนตร์ไทยเกิดความคึกคักขึ้น

ขณะที่ ความคิดเห็นของ "คนในวงการภาพยนตร์" สะท้อนว่า ทำไมไม่ตัดปัญหาการไม่ทำงานของหน่วยงานรัฐที่รอแต่งบประมาณ โดยไปสนับสนุนงบให้ภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญการสร้างภาพยนตร์ น่าจะคล่องตัวในการกระจายทุน ให้คนทำหนังกลุ่มต่างๆ ได้รวดเร็วและเกิดชิ้นงานต่อเนื่อง เป็นผลงานของรัฐบาลทันที ไม่ง่ายกว่าหรือ

อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งของคนในวงการภาพยนตร์ไทย จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าให้งบหรือทุน "น้อยเกินไป" ไม่สอดรับกับความเป็นจริงของค่าครองชีพ กลายเป็นภาวะเตี้ยอุ้มค่อม โดยเฉพาะการทำตลาดหนังท้องถิ่น โดยมุ่งใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นทิศทางตอนนี้ที่พอขายหนังได้ แต่มาตรฐานจะดีพอจนเป็น Soft Power ให้ประเทศ กลายเป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุนในระยะยาวหรือไม่ เป็นเรื่องน่าหนักใจยิ่ง.