ซื้อของออนไลน์ สุขหรือเสพติด? | พสุ เดชะรินทร์

ซื้อของออนไลน์ สุขหรือเสพติด? | พสุ เดชะรินทร์

การซื้อของออนไลน์ได้เติบโตอย่างมาก เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีประสบการณ์ซื้อของจากออนไลน์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ผ่านแอพ ผ่านสื่อออนไลน์ ผ่าน Marketplace ต่างๆ อีกทั้งโควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้การช้อปออนไลน์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยมากขึ้น

นอกเหนือจากความง่าย ความสะดวกในซื้อของจากออนไลน์แล้ว การช้อปออนไลน์ยังนำความสุขสู่ผู้ซื้อเช่นเดียวกับการชอปปิงในรูปแบบเดิมด้วย มีงานวิจัยที่ระบุว่าความเศร้าหรือความทุกข์ของคนจะเกิดเนื่องมาจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้

แต่การได้ไปชอปปิงนั้นคือ การได้แสดงออกและรู้สึกถึงการควบคุมในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่าจะซื้อสินค้าอะไรบ้างและเป็นการนำความสุขกลับสู่ชีวิตอีกครั้ง สำหรับหลายๆ คนแล้วการซื้อของคือความสุข และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ซื้อของที่ราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงการได้ซื้อของที่ต้องใช้ความพยายามและหายาก

ความสุขจากการได้ซื้อของนั้น ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากการได้เป็นเจ้าของสินค้าที่ซื้อมา (หลายท่านซื้อมาแล้วก็ยังคงวางสินค้าไว้ในถุงเป็นสัปดาห์) แต่เป็นความสุขที่ได้จากกระบวนการในการเลือกและตัดสินใจซื้อสินค้า ยิ่งสำหรับการซื้อของออนไลน์แล้ว เพียงแค่การได้กดเข้าไปเลือกดูสินค้าต่างๆ ก็จะทำให้มีความสุขแล้ว เนื่องจากสมองจะหลั่งสาร Dopamine ที่ทำให้รู้สึกดี
    สารความสุข Dopamine นี้ก็จะยิ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้คนค้นหาสิ่งที่เรามีความสุขยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งคือการเข้าไปซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งมีข้อเสนอเลยว่าเพียงแค่กดของใส่ตะกร้า แล้วสุดท้ายค่อยลบตะกร้านั้นทิ้งไปก็ทำให้เกิดความรู้สึกมีสุขขึ้นมาได้
    นอกจากนี้ การช้อปออนไลน์ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งสาร Dopamine ในอีกทางหนึ่งนั้นคือ การรอสินค้าที่สั่งมา ซึ่งกระบวนการรอนั้นทำให้เกิดความตื่นเต้นและความคาดหวัง และจะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นเมื่อสินค้ามาถึง แล้วพบว่าเป็นสินค้าตามที่ต้องการหรือเหนือกว่าที่คาดหวัง

แต่ก็เช่นเดียวกับการซื้อของตามปกติที่เมื่อได้สินค้ามาแล้ว ความสุขดังกล่าวก็อาจจะหมดไป แล้วก็ปล่อยให้สินค้ายังคงอยู่ในกล่องต่อไปเรื่อยๆ

นอกจากความสุขที่กระตุ้นไปสู่ความต้องการในการซื้อของออนไลน์แล้ว ทางฝั่งผู้ค้าและแพลตฟอร์มต่างๆ ก็พยายามสรรหาวิธีการต่างๆ นานา มากระตุ้นให้ซื้อของผ่านทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น

แนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาปรับใช้คือเรื่องของ Cue-Reactivity ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นเต้นจากการได้เห็นสินค้าบางอย่าง (ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความต้องการ) แล้วกระตุ้นให้เกิดความต้องการขึ้น

เทคโนโลยีปัจจุบัน สามารถดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาใช้ในการเลือกสินค้าที่สามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจและทำให้เกิดการกดเข้าไปดูและสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวได้
    การซื้อของออนไลน์มีข้อดีมากมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวังไว้ด้วย ความง่ายในการเข้าถึงบนมือถือทำให้หลายคนมีปัญหาในการควบคุมตนเองในการเข้าไปดู เลือกและกดซื้อ ยิ่งผู้ที่มีความเบื่อ ความเหงา ความเครียด หรือ กำลังเศร้า การได้เข้าไปเลือกและซื้อของออนไลน์ก็นำไปสู่ความสุข และเป็นหนทางบำบัดความเบื่อ เหงา เครียด เศร้า ได้ 
    ข้อควรระวังคือการช้อปออนไลน์ควรจะทำในระดับที่เหมาะสม นอกจากการนำไปสู่การเสียเงินโดยอาจจะไม่จำเป็นแล้ว ยังสามารถนำไปสู่การเสพติดการซื้อของออนไลน์ได้อีกด้วย
    สิ่งที่ต้องเฝ้าสังเกตตนเองคือ ผู้ที่มีอาการเสพติดกับการช้อปออนไลน์นั้นมักจะมีความรู้สึกผิดหรือรู้สึกไม่ดีภายหลังจากสั่งซื้อสินค้าไป โดยอาจจะรู้สึกว่าเสียเงินโดยไม่จำเป็น หรือซื้อของที่ไม่จำเป็น ดังนั้น เพื่อให้กลับมารู้สึกดีและมีความสุขอีกครั้ง จึงแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปกดสั่งซื้อใหม่อีกครั้ง แต่เมื่อซื้อเสร็จก็จะรู้สึกแย่ใหม่ แล้วก็กดเข้าไปซื้อใหม่ เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ
    ดังนั้น เช่นเดียวกับทุกๆ กิจกรรม การช้อปออนไลน์ก็ควรจะทำด้วยความมีสติ ถ้าถึงขั้นเสพติดนั้นนอกเหนือจากเสียเงินแล้ว โอกาสเป็นหนี้ มีปัญหากับคนรอบข้าง และทำให้เวลาที่จะใช้กับการทำงาน เรียน หรือกิจกรรมอื่นๆ ทางสังคมหายไปด้วย.