โลกของ Metaverse และโลกของ คริปโตเคอเรนซี เกี่ยวข้องกันอย่างไร

โลกของ Metaverse และโลกของ คริปโตเคอเรนซี เกี่ยวข้องกันอย่างไร

เมื่อคืนวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ตามเวลาประเทศไทย ทาง Facebook ได้จัดงานที่มีชื่อว่า Facebook Connect 2021 เป็นงานแถลงข่าวโปรเจคใหม่ๆ ในปีนี้ ในงานนี้นอกจากประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ตัวบริษัทเองจะเปลี่ยนโฉมหน้าบริษัทอีกด้วย

 เดิมที่เป็นเจ้าของทั้ง Facebook Instagram และ Whatsapp มาทำบริษัทใหม่ที่เน้นทางด้านโลกเสมือนจริงที่มีชื่อว่า “Metaverse” ซึ่งคำนี้เองแม้แต่ราชบัณฑิตสถานก็ยังไม่ได้บรรจุคำศัพท์ภาษาไทยขึ้นมา คำว่า “Metaverse” เราก็อาจจะได้ยินมาจากหนังของสตีเว่น สปีลเบิร์ก อย่าง “Ready Player One” ซึ่งทางสปีลเบิร์กเองเอามาจากหนังสือของเออร์เนสต์ ไคลน์ ที่มีชื่อเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วคำว่า “Metaverse” เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยยุคพ.ศ. 2535 จากหนังสือชื่อดังที่มีชื่อว่า “Snow Clash” ของ นีล สตีเฟนสัน สิ่งที่ Facebook ทำอาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีบริษัทไหนเคยทำมาก่อน Facebook อาจจะตามหลังคนอื่นอยู่ประมาณ 2-3 ก้าวด้วยซ้ำครับ

อุตสาหกรรมนี้เรื่มขึ้นมาจากเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีในช่วงต้นปีนี้ที่ผ่านมา การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ทำให้เกิดระบบทางการเงินรูปแบบใหม่มากมาย เช่น DeFi หรือ Decentralized Finance ที่เป็นการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ได้ใช้ตัวกลางอย่างธนาคาร หรือ สถาบันการเงินเป็นคนกำกับ และ NFT หรือ Non-Fungible Token ที่เป็นการขายรูปภาพ เพลง การ์ดสะสมต่างๆที่เป็นในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนและประมูลกัน ทำให้มูลค่าของสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงระยะเวลาสองสามเดือนที่ผ่านมา และสร้างเศรษฐีหน้าใหม่ๆที่อายุน้อยๆและความสามารถคือการวาดรูปขึ้นมามหาศาล แต่สิ่งที่คล้ายคลึงกับการเรียกว่า Metaverse มากที่สุดคือคำศัพท์ในวงการคริปโตเคอร์เรนซี คือสิ่งที่เรียกว่า “GameFi”
 

GameFi ย่อมาจากคำว่า Gaming และ Finance ซึ่งเหรียญคริปโตเคอเรนซีที่อยู่ในหมวดหมู่ของ GameFi ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดมีอยู่ด้วยกัน 2 เหรียญครับ คือ Axie Infinity (AXS) และ The Sandbox (SAND) ผมขอเริ่มจาก Axie Infinity ก่อนแล้วกันนะครับ Axie Infinity เป็นเกมที่อาจจะไม่เหมือนโลก Metaverse ที่เราเห็นกันตามหนังที่ต้องใช้เครื่อง VR (Virtual Reality) แต่สิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับเกมๆนี้ที่เกมอื่นๆไม่สามารถสู้ได้คือสิ่งที่เรียกว่า Play-2-Earn ซึ่งแปลว่าคุณสามารถเล่นเกมนี้แล้วได้เงินนี้เอง 

เกมส่วนใหญ่ในท้องตลาดในตอนนี้จะเป็น Pay-2-Play หรือต้องจ่ายเงินเพื่อได้เล่น ทั้งการซื้อเกมในคอนโซลต่างๆเช่น เพลย์สเตชั่น 5 กับ นินเทนโด สวิทช์ หรือแม้แต่เกมในมือถือ Smartphones เองก็ยังเป็นเกมที่เราต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อตัวละครบางอย่างในเกม แต่ในคอนเซ็ปต์ของเกม Axie Infinity เราเพียงแค่ลงทุนในตอนแรกเพื่อซื้อตัวละครประมาณ 30,000 ถึง 50,000 บาทต่อสามตัวละคร หลังจากนั้นเราสามารถเล่นเพื่อเก็บขวด Smooth Love Potion (SLP) เพื่อที่เอาไปขายในตลาดก่อนที่จะโอนเป็นเงินสดเข้ามายังบัญชีธนาคารของเรา 

การลงทุนตอนแรก 30,000 ถึง 50,000 บาทอาจจะดูเป็นการลงทุนที่เยอะ แต่พอเราสามารถเก็บขวด SLP มาขาย มันก็ใช้เวลาคืนทุนตรงนั้นเพียง 1-2 เดือนเท่านั้นเอง ก็เลยเกิดเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากมายทั้งในเมืองไทยเอง และ ต่างประเทศต่างพากันมาเล่นเกมนี้เพื่อหารายได้เสริมหรือรายได้หลักให้แก่ตัวเอง

โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างฟิลิปปินส์ที่คนที่มาเล่นเกม Axie Infinity สามารถเก็บเงินจนสามารถซื้อบ้านได้ 2 หลังให้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ในเมืองไทยเองยังมีกลุ่ม community ของคนที่เล่นเกมนี้ มีบางคนอาจจะยังไม่มีเงินเริ่มต้นถึง 30,000 บาทก็สามารถหานายทุนใน community นี้ได้ โดยเมื่อได้ขวด SLP มาก็อาจจะแบ่งกันคนละครึ่งอีกที
 

อีกเกมถัดมาทีดังไม่แพ้กันคือ The Sandbox (SAND) ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกับความเป็น Metaverse มากกว่า Axie Infinity ในเกมนี้เราถึงขนาดกับว่าสามารถซื้อที่ดินจำลองในโลกนี้ได้เลย ซึ่งที่ดินตรงนี้นี่เองบางที่สามารถมีมูลค่าที่สูงกว่าที่ดินจริงๆอีกครับ ล่าสุดพึ่งมีการประมูลจบลงไปเมื่อช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งขนาดที่ดินที่มีการซื้อขายราคาแพงที่สุด ราคาอยู่ที่ผืนละ 5,000,000 SAND หรือประมาณ 110 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งด้วยราคามูลค่าขนาดนี้คนทั่วไปอาจจะคิดว่า นี่เราไม่ได้เข้าไปใช้ชีวิตในนั้น ไม่ได้กินและนอนในนั้น มันจะมีใครที่ไหนเขาเข้าไปซื้อ 

แต่ความจริงคือมันเต็มเร็วมากเลยครับ ภายในไม่กี่ชั่วโมง ราคาของที่ดินก็พุ่งไปอีกหลายเท่าเลย แถมมีบริษัทดังๆ ซีรี่ย์ดังๆ และ ตัวละครต่างๆ ต่างพากันเข้าไปซื้อขายที่ดินใน Sandbox เข้าไปเป็นว่าเล่นทั้ง The Walking Dead Care Bears The Smurfs จนไปถึงบริษัทเกมชื่อดังอย่าง Square Enix และ Atari ก็ต่างพากันเข้าไปลงทุนซื้อที่ดินของ The Sandbox กันอย่างถ้วนหน้า และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมากองทุนของ Softbank ที่นำโดย Masayoshi Son ก็ได้ลงทุนในเกม The Sandbox ด้วยซึ่งมีมูลค่าถึง 93 ล้านดอลลาร์เลย และทำให้ราคาเหรียญของ The Sandbox พุ่งขึ้นกว่า 16% ในวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ความจริงในโลกของ Metaverse สิ่งที่สำคัญที่สุดในโลกนี้ผมมองว่าน่าจะเป็นในส่วนของระบบต่างๆเพื่อทำให้โลกเสมือนจริงอันนี้ไร้ที่ติ ทั้งระบบบล็อกเชนเพื่อทำให้ธุรกรรมทางการเงินในโลก Metaverse ทำงานได้อย่างง่ายดาย ซึ่งประกอบกับการใช้ Web 3.0 ในการใช้อินเตอร์เน็ทเพื่อเชื่อมโยงระหว่างกันและกับระหว่างโลกจริง กับ โลก Metaverse อุปกรณ์ต่างๆทั้งระบบ VR (Virtual Reality) AR (Augmented Reality) และ Smartphones ต่างพากันมีบทบาทในการทำให้โลก Metaverse ให้เกิดขึ้นได้จริง 

แต่ผมมองว่าสิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้คือตัวของ Meta หรือ Facebook เองครับ เพราะตัวของ Facebook นอกจากที่เขาจะมีเครือข่ายของคนทั้งโลกประมาณ 3 พันล้านคน ถ้าเขาขึ้นมาเป็นเจ้าของ Metaverse อันนี้ได้ เขาจะสามารถกุมทั้งโลกออนไลน์ได้เลย สามารถขัดขวางการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลได้ และสามารถมีอำนาจเหนือรัฐบาลของประเทศใหญ่ๆของโลกได้ ซึ่งที่ผ่านมานั้นก็มีประวัติที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับตัวบริษัทอยู่ทั้งเรื่อง Cambridge Analytica 

เรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานอย่าง Facebook Papers ผมเลยมองว่ามันสำคัญมากที่รัฐบาลของประเทศใหญ่ๆควรเข้ามาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเรื่องของความถูกต้อง เรื่องของสิทธิส่วนบุคคล เรื่องของกฎหมายและการดูแลของเงินกับโลกของ Metaverse ของบริษัท Meta ครับ.