เปลี่ยน กระทรวงวัฒนธรรม เป็น กระทรวง Soft Power ดีไหม? | วิทยา ด่านธำรงกูล

เปลี่ยน กระทรวงวัฒนธรรม เป็น กระทรวง Soft Power ดีไหม? | วิทยา ด่านธำรงกูล

กระทรวงวัฒนธรรม ต้องปรับวิสัยทัศน์มอง Soft Power คืออุตสาหกรรมแห่งวัฒนธรรม และทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นรูปธรรมที่ส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศ และสร้างอิทธิพลต่อคนทั่วโลก

เรื่อง Soft Power กลายเป็นกระแสอีกครั้ง หลังจากเคยพูดมาก่อนหน้านี้เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว ตอนนั้นฮือฮากันว่าจะขับเคลื่อนให้ไทยไปสู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในซอฟต์ พาวเวอร์ เชื่อว่าคราวนี้เมื่อกระแสแผ่วลงแล้วคงกลับไปเหมือนเดิมอีกคือลืมๆ กันไป ก็รัฐบาลมีงานอื่นอีกตั้งเยอะ ซอฟต์ พาวเวอร์อาจรอได้ 

    เป็นที่รู้กันว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศมหาอำนาจในทางนี้ สร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาลเพียงใด ภาพยนตร์ที่ฮิตระเบิดอย่างสตาร์ วอร์ส หรือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ที่สร้างต่อกันหลายภาคนั้นสร้างรายได้ทั้งจากตัวภาพยนตร์ สินค้า และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีมูลค่ามากกว่าจีดีพีทั้งปีของบางประเทศด้วยซ้ำไป รัฐบาลเกาหลีเคยเปรียบเทียบว่าภาพยนตร์เรื่องจูราสสิค ปาร์ค ภาคแรกทำรายได้ทั่วโลกในปี 1994 เทียบเท่าที่เกาหลีจะต้องผลิตและส่งออกรถยนต์ฮุนไดถึง 1.5 ล้านคันเลยทีเดียว ซอฟต์ พาวเวอร์จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้จริงๆ
    
    แม้จะพูดกันมายาวนาน แต่การขับเคลื่อนซอฟต์ พาวเวอร์ที่ไม่ได้ทำกันอย่างจริงจังและมียุทธศาสตร์ ทำให้เรื่องนี้ไม่ไปไหนสักที ในขณะที่เรามีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลโรงงานผลิตสินค้าส่งออก ก็ต้องมองให้ขาดว่านี่คืออุตสาหกรรมแห่งวัฒนธรรม (Cultural Industry) ที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องทำงานอย่างมีแผน เพื่อทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นรูปธรรมที่ส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศ และสร้างอิทธิพลต่อคนทั่วโลกได้ 

    กระทรวงวัฒนธรรมกับงบประมาณปีละ 7,000 กว่าล้าน ไม่มีทางที่จะขับเคลื่อนอะไรได้หากหวังจะสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารต้องมองออกไปให้ไกลกว่ากิจกรรมประจำที่ออกจะน่าเบื่อ ที่ส่วนใหญ่หนักไปทางงานอนุรักษ์ การประกาศเกียรติคุณ การจัดอีเว้นท์ งานที่เรียกว่าการสร้างสรรค์อย่างแท้จริงเพื่อหวังจะออกไปยึดพื้นที่บนเวทีโลกนั้น มีน้อยยิ่งกว่าน้อย

กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลี มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง K-pop โดยเฉพาะ รัฐบาลเกาหลีมองว่าอุตสาหกรรม K-pop เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้อง ไม่ต่างจากที่รัฐบาลอเมริกันปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์หรืออุตสาหกรรมทางการเงิน ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลเกาหลีทุ่มงบประมาณอย่างจริงจัง ทำตั้งแต่การสร้างคอนเสิร์ตฮอลล์ขนาดใหญ่ สนับสนุนการคิดค้นเทคโนโลยีหลากหลายที่เชื่อมโยงสู่ความบันเทิง ไปจนกระทั่งปรับปรุงกฏหมายด้านลิขสิทธิ์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของศิลปินทั้งหลาย

    จึงไม่น่าสงสัยว่าผลแห่งการลงทุนลงแรงของรัฐบาลเกาหลีตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้วัฒนธรรม K-pop หรือ วัฒนธรรมเกาหลี ออกไปอาละวาดอยู่ทุกมุมโลกอย่างไม่น่าเชื่อ ปีที่แล้ว BTS บอยแบนด์เกาหลีกวาดรางวัลและสร้างสถิติความนิยมอย่างถล่มทลายทั่วโลก ส่วนภาพยนตร์ Parasite ก็ไปกวาดรางวัลออสการ์มาเป็นผลสำเร็จ มาปีนี้ Squid Game สามารถสร้างสถิติใหม่ให้กับ Netflix อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่นับในวงการวิดีโอเกม อีสปอร์ต และสารพัดความบันเทิง รวมไปถึงหนังสือ กีฬา ภาษา การศึกษา และอื่นๆ 

    การจะทำให้ซอฟต์ พาวเวอร์ทำงานได้ ต้องผนึกกำลังทั้งฟากผู้ประกอบการ ศิลปินหรืออินฟลูเอนเซอร์ (ซึ่งแน่นอนว่าต้องพยายามสร้างขึ้นมา) วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว ผู้คน รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เป็นเนื้อเดียวเพื่อตอกย้ำจุดยืนหรือภาพจำระยะยาวให้เกิดในใจของผู้คนทั่วโลก  เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาและแรง ผลักดันอย่างมาก รัฐบาลต้องเป็นผู้สนับสนุนการสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของการสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ ย้ำว่าต้องเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่เป็นผู้ดำเนินการเสียเอง เพื่อปลุกซอฟต์ พาวเวอร์ที่อาจจะมีอยู่แล้วหากแต่หลับไหล ให้กลายเป็นแอคทีฟ ซอฟต์ พาวเวอร์ ที่จับต้องได้ในรูปแบบต่างๆ 
 

กระทรวงวัฒนธรรมอาจจะเป็นหัวหอกในการผนึกความร่วมมือดังกล่าวข้างต้น ผ่อนปรนข้อจำกัดในการจัดทำคอนเทนต์ประเภทต่างๆ (ไม่ใช่แค่ดู Squid Game ก็บอกว่ารุนแรงรับไม่ได้เสียแล้ว) ควรสนับสนุนสถาบันการแสดง การสร้างศิลปิน สนับสนุนทั้งด้านการเงิน และการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ๆ นั่นหมายถึงว่า กระทรวงนี้ต้องทำงานกว้างขึ้น และร่วมกับอีกหลายกระทรวง เช่น กระทรวงศึกษา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และจะต้องพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดในการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันที่จะประกาศซอฟต์ พาวเวอร์ของไทย ไม่ใช่หน่วยงานมากๆ มาร่วมกัน กลับทำให้งานไม่เดินเหมือนที่ผ่านๆ มา 

    บทเรียนของ K-Pop มีอยู่แล้ว ไม่ยากหากจะทำให้ T-pop เกิด อยู่ที่ว่าจะทำจริงจังหรือแค่ฮือฮาเป็นพักๆ ซอฟต์ พาวเวอร์นั้นพูดแต่ปากไม่ได้ เงินต้องถึง นโยบายต้องชัด ภาคเอกชนอยากจะทำจนตัวสั่น ภาครัฐนั่นเองที่ยังคลำทางไม่เจอ อย่าปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปกว่านี้หากคิดจะทำ อย่าปล่อยให้กระทรวงวัฒนธรรมกลายเป็นกระทรวงโนเนม ล้าสมัย ไร้เกรด ไม่ต่างจากกรมเล็กๆ หนึ่งกรม ที่ดูน่าสงสารและไร้พาวเวอร์ใดๆ.