วัคซีนต้านโควิดจากจีน-เครื่องมือขยาย'ซอฟต์พาวเวอร์'

วัคซีนต้านโควิดจากจีน-เครื่องมือขยาย'ซอฟต์พาวเวอร์'

วัคซีนต้านโควิดจากจีน-เครื่องมือขยาย'ซอฟต์พาวเวอร์' โดยผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อาจจะสร้างแรงกดดันแก่ประเทศที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19ให้สนับสนุนรัฐบาลจีน

ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศอยู่ในกลุ่มแรกๆที่จะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 จากจีน ท่ามกลางคำถามมากมายในกลุ่มนักวิเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเจตนาที่แท้จริงของทางการปักกิ่ง ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่านี่อาจเป็นความพยายามของทางการจีนที่จะขยายอำนาจอ่อนและอิทธิพลในประเทศกลุ่มนี้

“ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลจีนจะใช้ประโยชน์จากวัคซีนต้านโควิด-19 แม้ว่าขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า จีนจะได้ประโยชน์ทางการเมืองจากวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาและนำมาแจกจ่ายแก่ประเทศต่างๆ เพราะต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของผู้ได้รับการฉีดวัคซีนและการเข้าถึงวัคซีน”จาคอบ มาร์เดลล์ จากเมอร์เคเตอร์ อินสติติว ฟอร์ ไชนา สตัดดี้ กล่าว

จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ตลอดจนกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ปัจจุบัน วัคซีน 4 ตัวของจีนได้เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในหลายประเทศ และขณะนี้วัคซีนทั้งหมดค่อนข้างมีความปลอดภัย

เมื่อเดือนต.ค. “วัง เหวินปิน” โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่าจีนจะแบ่งปันวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ให้ทั่วโลกในราคาที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผล

“วัคซีนของหลายประเทศยังอยู่ระหว่างการพัฒนา จึงยังไม่แน่นอนว่าพวกเขาจะกำหนดราคาอย่างไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนสำหรับจีน นั่นคือเราจะส่งมอบวัคซีนให้นานาประเทศในฐานะสินค้าสาธารณะระดับโลก ด้วยราคาที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผล” โฆษกกระทรวงต่างประเทศ กล่าว

ถ้อยแถลงของวัง มีขึ้นหลังมีรายงานข่าวจากสื่อบางฉบับว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ที่จีนเป็นผู้ผลิตจะมีราคาแพงกว่าวัคซีนของสหรัฐ และประเทศในยุโรป

โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ระบุว่า คำอ้างข้างต้นไม่มีมูลความจริง เนื่องจากจีนได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้วัคซีนเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้และมีราคาย่อมเยาสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และจะดำเนินการตามพันธกิจดังกล่าว

วัง ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า จีนกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และจะแบ่งปันให้เป็นสินค้าสาธารณประโยชน์ในระดับโลกเมื่อวัคซีนพร้อมใช้งาน และจีนจะส่งมอบวัคซีนโดยให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาก่อน ผ่านวิธีการหลากหลาย ซึ่งรวมถึงการบริจาคและการสนับสนุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อาจจะสร้างแรงกดดันแก่ประเทศที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19ให้สนับสนุนรัฐบาลจีนทั้งในด้านการค้าและผลประโยชน์ทางการเมือง

“ผมไม่คิดว่าความช่วยเหลือเรื่องวัคซีนของจีนเป็นความช่วยเหลือด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน ในทางตรงกันข้าม จีนต้องการแสวงหาประโยชน์จากความช่วยเหลือนี้ โดยเฉพาะการขยายผลประโยชน์ทางการค้าและขยายผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ในประเทศเหล่านี้”อิโมเจน เพจ-จาร์เรตต์ จากดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต(อีไอยู) กล่าว

นักวิเคราะห์รายนี้ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า วัคซีนต้านโควิด-19อาจช่วยขยายอิทธิพลและอำนาจอ่อนของรัฐบาลปักกิ่ง รวมทั้งช่วยบรรเทาความขัดแย้งกับประเทศต่างๆที่ตำหนิจีนว่าเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19

ฉง จา เอียน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มีความเห็นว่า จีนอาจจะเรียกร้องขอความร่วมมือในเรื่องต่างๆเป็นการแลกเปลี่ยนกับการให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่อาจจะรวมถึงหลักปฏิบัติในการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะต่างๆในทะเลจีนใต้ รวมทั้งการยอมรับผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีที่ผลิตโดยบริษัทจีนมากขึ้น

“มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น มีความทับซ้อนกันอยู่มากระหว่างผลประโยชน์ของจีนและความกังวลของประเทศต่างๆเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความทะเยอะทะยานของจีนที่จะก้าวแซงหน้าสหรัฐในเวทีโลก” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว

เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา จีนประกาศให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉินได้ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีวัคซีนต้นแบบ 4 ตัวที่จีนอนุมติให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินกับบุคลากรที่จำเป็น หรือกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่าง ๆ แม้ว่าการทดสอบทางคลินิกเพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม

วัคซีนโควิด-19 ของจีนทั้ง 4 ตัวที่นำมาใช้ในวงจำกัดอยู่ในช่วงการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์เฟส 3 ประกอบด้วย วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนฟาร์ม( Sinopharm )ที่พัฒนาร่วมกับสถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพอู่ฮั่น( Wuhan Institute of Biological Products) วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนฟาร์มที่พัฒนาร่วมกับสถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Products)

วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแคนซิโน ไบโอโลจิกส์( CanSino Biologics) ที่ใช้อย่างจำกัดในกองทัพจีน วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแว็ก ไบโอเทค( Sinovac Biotech) ถูกนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน และเบื้องต้นยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉินนี้