ความรู้ คือ หนทาง

ความรู้ คือ หนทาง

ความกลัวแพ้ กลัวความล้มเหลว เป็นปราการสำคัญทำให้เรามองไม่เห็นความสำเร็จในชีวิต

ประโยคหนึ่งที่เรามักได้ยินเสมอเมื่อมีสินค้าใหม่ประสบความสำเร็จในตลาด นั่นคือ “ฉันก็เคยคิดแล้ว” ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการอะไร ก็มักจะมีเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องคอยบอกว่าตัวเองเคยคิดแบบนี้เอาไว้ตั้งนานแล้ว จึงเสียดายมากที่ไม่ได้ทำ ไม่เช่นนั้นคงประสบความสำเร็จไปแล้ว

สิ่งที่เรามักจะมองข้ามไปจึงไม่ใช่เรื่องของการคิด หรือจินตนาการ แต่เป็นเรื่องของการลงมือทำ เพราะการมีความรู้ มีความคิด หรือมีจินตนาการที่เป็นเลิศ แต่หากไม่ได้เริ่มลงมือทำสักทีก็คงไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เลย

ปัญหาดังกล่าวมักจะเกิดกับคนเก่งที่มีสติปัญญาสูงกว่าคนปกติทั่วไป อาจเป็นเพราะยิ่งรู้ ก็ยิ่งมองเห็นความเสี่ยงและปัญหาที่เกิดขึ้นจนไม่กล้าเริ่มลงมือทำจริง ๆ หรืออีกด้านหนึ่งคือ ยิ่งรู้เยอะ ก็ยิ่งไม่รู้ว่าจะทำอะไรเพราะน่าทำไปเสียหมดทุกอย่าง

ตรงกันข้ามกับคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้มีสติปัญญาเป็นเลิศ ไม่ได้เรียนหนังสือเก่งนัก แต่กล้าลองผิดลองถูก คนกลุ่มนี้กลับมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าเพราะจะเริ่มลงมือทำทันทีเมื่อรู้และมองเห็นโอกาสที่มาถึง แม้ว่าจะทำไปแล้วต้องล้มลุกคลุกคลาน อาจโดนคนรอบข้างดูถูกบ้าง แต่เขาก็เชื่อว่าการลงมือทำนี่แหละที่จะเป็นตัวพิสูจน์ผลงานของเขา

ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่เป็น “กับดัก” ทางความคิดของคนที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ก็คือความเชื่อว่าต้องเรียนรู้ให้พร้อมที่สุดก่อนที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง ซึ่งในมุมหนึ่งก็ดูเหมือนจะถูกต้องเพราะยิ่งเตรียมตัวให้มากที่ไรก็ยิ่งพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ได้มากขึ้นเท่านั้น

แต่ในโลกของความเป็นจริงแล้ว “ความพร้อมที่สุด” ไม่มีอยู่จริง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่าเรียนรู้ได้พร้อมเต็มที่แล้ว สภาพแวดล้อมก็ย่อมเปลี่ยนไปทำให้เราต้องหาวิธีใหม่ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เหมือนกับการอ่านหนังสือใหม่ๆ เพิ่มพูนความรู้ตลอดเวลา หรือจะเป็นติดตามเพจให้ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นการให้ความรู้พื้นฐานที่ดีและสร้างกำลังใจในการทำงานได้บ้าง แต่จะไม่ดีแน่ถ้ามัวแต่อ่านอย่างเดียวแล้วไม่คิดว่าจะลงมือทำ เพราะต้องการมั่นใจว่าตัวเองต้องพร้อมที่สุดเท่านั้น เพราะจะเป็นวันที่ไม่เคยมีทางมาถึง

ความไม่กล้าที่จะเริ่มลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เป็นความกลัวที่ถือเป็นธรรมชาติประการหนึ่งของมนุษย์ หากยังจำกันได้ตอนที่เรายังเป็นเด็ก เราก็อยากเล่นเกมหรือกีฬาที่มั่นใจว่าตัวเองจะเอาชนะได้เท่านั้น เราจึงมักเลือกที่จะเล่นกับคนอ่อนแอกว่าเสมอ

เมื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ ความกลัวนี้ก็ติดตัวมาเป็นสัญชาตญาณที่ไม่กล้ายอมรับความพ่ายแพ้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจต้องการปัญหาและความล้มเหลว เพื่อได้เรียนรู้และเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จในท้ายที่สุด

ความกลัวแพ้ กลัวความล้มเหลว จึงเป็นปราการสำคัญที่ทำให้เรามองไม่เห็นความสำเร็จในชีวิต เพราะจะไม่มีทางได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง การเลือกก้าวเดินไปข้างหน้าทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมเต็มที่จึงเป็นเหมือนการเดินเข้าป่า ที่ต้องออกแรงถางหญ้า ตัดกิ่งไม้ต่าง ๆ ด้วยตัวเองเพราะมองไม่เห็นทาง

แน่นอนว่าต้องเจออุปสรรคมากมาย บางครั้งอาจต้องถอยออกมาแล้วหาเส้นทางอื่น แต่เราก็จะได้เรียนรู้ว่าควรจะเลือกเส้นทางแบบใด เป็นการเพิ่มความเชี่ยวชาญที่ทำให้เราไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อยๆ โดยไม่รู้ตัว หนทางที่เราบุกเบิกเอาไว้ก็จะทำให้เพื่อนร่วมงานและลูกน้องเดินตามมาได้โดยสะดวก และในที่สุดก็จะเป็นทางเดินหรืออาจกลายเป็นถนนหนทางได้ในอนาคตโดยที่ทุกคนจะรู้ว่าเราเป็นผู้ริเริ่มเส้นทางสายนี้