ฝันที่เป็นจริงหรือความจริงคือฝัน

ฝันที่เป็นจริงหรือความจริงคือฝัน

สองอาทิตย์ก่อนผมเข้าร่วมงานประชุมประจำปี 2564 ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในหัวข้อ “13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย” ซึ่งพูดถึงเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13  ครอบคลุมประเด็นสำคัญของประเทศได้อย่างดี วิเคราะห์และผูกเรื่องต่างๆ เป็น 13 หมุดหมายเพื่อการทำนโยบายได้อย่างน่าสนใจ แต่ที่หลายคนห่วงก็คือหมุดหมายเหล่านี้จะเป็นความฝันหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแผนพัฒนาฯ ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ มีปัญหาเรื่องการขับเคลื่อนและไม่ทำจริงจัง โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่วิกฤติโควิดชี้ให้เห็นว่า ประเทศมีปัญหาโครงสร้างที่ลึกมาก วันนี้จึงขอแสดงความเห็นเรื่องนี้

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นสิ่งที่นักวิชาการรอคอยว่าภาครัฐจะมองทิศทางพัฒนาประเทศต่อไปอย่างไรในโลกหลังโควิดที่จะเป็นโลกใหม่แบบ New Normal ขณะที่วิกฤติโควิดชี้ให้เห็นปัญหาและข้อจำกัดมากมายที่ประเทศมีและต้องแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้าง คำถามคือเราจะก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้อย่างไรให้ไปสู่สังคมที่ดีขึ้น ไปสู่ “เศรษฐกิจสร้างคุณค่า  สังคมเดินหน้ายั่งยืน” ที่เป็นเป้าของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 

ในเรื่องนี้ มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ได้แสดงความเห็นต่อร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เห็นด้วยกับแนวคิดและกรอบของ 13 หมุดหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ที่ร่างแผน 13 นำเสนอ อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ ก็ได้แสดงความห่วงใยในสามเรื่อง 
 

หนึ่ง เป้าหมายของแผนที่ 13 คือ มองไปข้างหน้าเพื่อยกระดับประเทศให้สูงขึ้น แต่น้ำหนักไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขสำคัญที่ประเทศมีขณะนี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน คุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพระบบราชการ การทุจริตคอร์รัปชัน ระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันน้อยลง

จึงมีคำถามว่าเป้าหมายของแผนที่ 13 จะบรรลุได้อย่างสำเร็จหรือไม่ ถ้าปัญหาสำคัญเหล่านี้ไม่มีการแก้ไข หรือไม่ได้รับการแก้ไขก่อน นอกจากนี้แผน 13 ควรเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันและความยืดหยุ่น (Resilence) ให้กับเศรษฐกิจ เพื่อช่วยในการปรับตัวซึ่งร่างของแผนขณะนั้น สาระส่วนนี้ยังขาดไปหรือไม่ชัดเจน 

สอง วิกฤติโควิดชี้ให้เห็นว่า ความสามารถและสมรรถภาพของภาครัฐและระบบราชการมีข้อจำกัดมากในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นปัญหาต่างๆ ที่ประเทศมีมีการแก้ไขอย่างจริงจัง และการแก้ไขปัญหาควรใช้พลังความเข้มแข็งของภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียวเหมือนในอดีต เพราะระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นข้อจำกัดให้ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการคลัง ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิดควรเป็นบทบาทร่วมกันของภาครัฐและเอกชนโดยมีภาคประชาสังคมสนับสนุน 

สาม ได้เสนอให้ภาครัฐทำสองเรื่องขนานกันไปในแผนที่ 13 คือ หนึ่ง ขับเคลื่อนแผนที่ 13 ตามเนื้อหาสาระที่อยู่ในร่าง สอง แก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ประเทศมีอยู่อย่างจริงจัง เพื่อช่วยและ enable ให้เป้าหมายของแผน 13 ประสบความสำเร็จ

โดยในส่วนแรกการขับเคลื่อนแผน 13 ควรเป็นบทบาทของภาคเอกชนที่จะนำการขับเคลื่อนผ่านกลไกตลาดโดยภาครัฐสนับสนุนและให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง รวมทั้งการปฏิรูประบบภาษี กฎหมาย การเปิดเสรีธุรกิจและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุนภาคเอกชน

สำหรับในส่วนที่สองที่ต้องแก้ปัญหาโครงสร้าง ได้เสนอให้ยกระดับการแก้ปัญหาโครงสร้างเป็นวาระที่สำคัญของชาติ ระดมความรู้และพลังจากทุกส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มาร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม 

นี่คือความเห็นที่มูลนิธิได้ให้ไป 
 

ในการสัมมนาวันนั้นผมประทับใจกับความเห็นของผู้ร่วมอภิปรายสามท่าน คือ ดร.วิรไท สันติประภพ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ และคุณสมโภชน์ อาหุนัย ซึ่งทั้งหมดเป็นคนรุ่นใหม่และแสดงความเห็นเหมือนเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่อยากให้การทำนโยบายของรัฐเน้นการทำเพื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ประโยชน์และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งสำคัญมาก

โดยเฉพาะที่ ดร.วิรไทพูดถึง “จุดพลิกผัน” (Tipping Point) เจ็ดเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ประเทศถลำลึกไปกับปัญหาเหล่านี้จนสายเกินแก้ ได้แก่ การเติบโตของภาครัฐ ความเหลื่อมล้ำ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความเห็นที่แตกต่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า ระบบการศึกษา เทคโนโลยีและปัญหาคอร์รัปชั่น ทั้งเจ็ดเรื่องนี้ ผมเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขโดยเร็ว โดยยกระดับให้เป็นวาระสำคัญของชาติ 

ในการทำนโยบายเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ ประเด็นที่น่าห่วงสุด คือความรู้สึกว่าเราขาดความรู้สึกเร่งด่วน หรือ Sense of Urgency ที่จะแก้ไขปัญหาสำคัญที่ประเทศมี การทำนโยบายยังเหมือนไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์แบบราชการ ต่อนโยบายหนึ่งไปอีกนโยบายหนึ่งเหมือนโบกี้ขบวนรถไฟ ที่บอกไม่ได้ว่ารถไฟกำลังมุ่งหน้าไปไหน ที่ต้องเร่งด่วนและมี Sense of Urgency ก็เพราะประเทศไทยขณะนี้ไม่เหมือนก่อน แต่ได้เสื่อมถอยลงสู่จุดต่ำอย่างไม่เคยมีมาก่อนในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

หนึ่ง เศรษฐกิจไทยกลายเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำสุดในภูมิภาค  และบางปีก็ขยายตัวต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน
สอง ความเหลื่อมล้ำที่ประเทศเรามีรุนแรงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นไม่กี่ประเทศที่ความยากจนเพิ่มขึ้นแม้เศรษฐกิจจะขยายตัว
สาม คอร์รัปชันเพิ่มขึ้นและรุนแรงต่อเนื่องช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดเป็นคอร์รัปชันในภาครัฐ ล่าสุดปี 2563 ประเทศไทยอยู่อันดับ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลกในดัชนีความโปร่งใส เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากอันดับ 59 ในปี 2548
สี่ สมรรถภาพและประสิทธิภาพของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาวัดจากความสามารถของประเทศในการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดเกือบต่ำสุดในโลก อันดับที่ 119 ใน 120 ประเทศประเมินโดย Nikkei Asia

นี่คือความจริงของประเทศขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนถามผมว่า กลุ่มอีลิท (elites) ของประเทศที่คุมอำนาจเศรษฐกิจ การเมืองและธุรกิจ ขณะนี้รู้สึกอย่างไรกับความเสื่อมถอยของประเทศที่เกิดขึ้น ซึ่งผมให้คำตอบไม่ได้ แต่คำตอบน่าจะมีเพียงสองทาง คือเป็นห่วงและกำลังพยายามทำทุกอย่างที่จะให้ผู้ทำนโยบายคือรัฐบาลแก้ไขปัญหา อีกคำตอบคือรู้ แต่เฉยๆ ไม่เดือดร้อน เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องของพวกเขา 

คนไทยทุกคนคงอยากให้คำตอบเป็นคำตอบแรก เพราะถ้าปัญหามีการแก้ไขจริงจัง แผน 13 ของสภาพัฒน์ก็จะมีโอกาสเป็นจริงได้ ไม่ใช่ความฝันและประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าคำตอบเป็นแบบที่สอง ประเทศก็จะยิ่งเสื่อมลงมากขึ้น และสิ่งที่อยากเห็นก็จะเป็นเพียงความฝัน.