‘ค่าธรรมเนียมน้ำฝน’ ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเจิ่งนองได้หรือไม่

‘ค่าธรรมเนียมน้ำฝน’ ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเจิ่งนองได้หรือไม่

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝน เพื่อบริหารจัดการระบบการจัดการน้ำท่วมเจิ่งนอง และเพื่อควบคุมมวลน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน จะเป็นทางออกของปัญหาน้ำท่วมหรือไม่

บทความโดย
กฤษรัตน์ ศรีสว่าง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
ชัยยุทธ ถาวรานุรักษ์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

ผู้เขียนได้ประสบกับข้อความ “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” ในบทเพลงและงานเขียนต่าง ๆ เมื่อได้รับฟังและพิจารณาอ่านงานเขียนเหล่านั้นทำให้เห็นภาพของสถานการณ์น้ำท่วม ความแห้งแล้งและผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าว และเมื่อพินิจพิจารณาร่วมกับสภาพภูมิประเทศและบ้านเมืองของประเทศไทยที่มีความแตกต่างระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทแล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพสถานการณ์น้ำท่วม ความแห้งแล้งและผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าวที่มีความแตกต่างกันอีกด้วย    

ในช่วงเวลานี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบกับภาวะฝนตกหนักด้วยอิทธิพลของปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เมื่อมีฝนตกในระดับที่หนักเกินกว่าที่สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราจะช่วยหยุดยั้งผลกระทบที่เกิดจากน้ำฝนได้ สภาพการณ์ “น้ำท่วม” “เขื่อนแตก (พัง)” “มวลน้ำรอการระบาย” หรือ “บ้านเรือนข้าวของเครื่องใช้สูญหายไปกับน้ำ” จึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเกิดสถานการณ์ที่ประชาชนจำต้องยอมรับกับ “สภาพ” ที่ว่านั้น    

หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่รับผิดชอบมิได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ไขปัญหาข้างต้น เพียงแต่ต้องเริ่มจากการวางแผนจนกระทั่งการปฏิบัติตามแผนให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ตามศาสตร์ของการบริหารจัดการ แต่เมื่อย้อนดูธรรมชาติของน้ำฝนและสภาพแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทแล้วพบว่า ในพื้นที่ชนบทที่มีป่าเขาลำเนาไพรซึ่งมีจำนวนหลังคาเรือนและสิ่งปลูกสร้างไม่มาก แม้จะมีภาวะฝนตกหนักก็ตามแต่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะช่วยซึมซับน้ำฝนเอาไว้ส่วนหนึ่ง จนน้ำฝนส่วนเกินไม่อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชน
 

สำหรับในพื้นที่เมืองซึ่งมีอาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมากกว่าพื้นที่สีเขียว เมื่อมีภาวะฝนตกหนัก น้ำฝนจะชะล้างสิ่งต่าง ๆ จากพื้นดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควัน สสารอันตรายและมลพิษทั้งหลายกลายเป็น “มวลน้ำที่มีส่วนผสมของมลพิษ” ไหลลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่าจนไม่สามารถระบายน้ำได้ทันท่วงทีรวมถึงการมีปริมาณน้ำในระดับที่เกินขีดความสามารถของระบบระบายน้ำจนเกิดสถานการณ์น้ำท่วมเจิ่งนองในเขตเมืองในที่สุด อีกทั้งยังเป็นสถานการณ์ที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในขณะนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บางประเทศอาทิเช่น เยอรมนี อิตาลี หรือมลรัฐแมริแลนด์และมลรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐอเมริกามีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝน (Stormwater fee) หรืออาจเรียกแบบไม่เป็นทางการว่า “ภาษีน้ำฝน” (Rain tax) โดยกำหนดหลักการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของทรัพย์สินที่มีส่วนทำให้เกิดสภาพน้ำท่วมเจิ่งนอง (Stormwater runoff) 

ค่าธรรมเนียมน้ำฝนคำนวณจากจำนวนพื้นที่ที่ส่งผลกระทบทางลบต่อการระบายน้ำ เช่น ที่จอดรถ โรงเก็บรถ ทางเดิน คอนกรีต หรือหลังคาของอาคาร เป็นต้น และกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจำนวนพื้นที่ การติดตั้งอุปกรณ์กักน้ำ (Water retention devices) และช่วงเวลาของการจัดเก็บภาษี

ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนมีความแตกต่างจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำเสีย (Sewage fee) เนื่องจากค่าธรรมเนียมน้ำเสียเป็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากบ้านเรือนและอาคารสิ่งปลูกสร้างเพื่อไปสู่ระบบการจัดการบำบัดน้ำเสียของชุมชนหรือเมืองก่อนที่ปล่อยน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดสู่สิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งแตกต่างจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนที่มุ่งจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของทรัพย์สินที่มีส่วนทำให้เกิดสภาพน้ำท่วมเจิ่งนอง อย่างไรก็ตาม ในทางหลักการอาจมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนควบคู่กับค่าธรรมเนียมน้ำเสียได้เช่นกัน

นอกจากนี้รายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการระบบการจัดการน้ำท่วมเจิ่งนอง (Stormwater management system) ซึ่งเป็นระบบที่จัดให้มีขึ้นเพื่อเป้าหมายบริหารจัดการทั้งด้านคุณภาพและปริมาณของน้ำท่วมเจิ่งนอง โดยนำเงินรายได้ไปสนับสนุนการบังคับใช้มาตรการเชิงโครงสร้างและมาตรการเครื่องมือควบคุม เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่จอดรถซึ่งขวางทางไหลของน้ำไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก การสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดใหญ่ หรือการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดมวลน้ำที่มีส่วนผสมของมลพิษ เป็นต้น

ดังนั้น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนจึงมีเป้าหมายการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อบริหารจัดการระบบการจัดการน้ำท่วมเจิ่งนอง และเพื่อควบคุม ป้องกันรวมถึงฟื้นฟูมวลน้ำที่มีส่วนผสมของมลพิษไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน แต่มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนจะเป็นทางออกของปัญหาน้ำท่วมหรือไม่นั้น ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาน้ำท่วมคงมิอาจแก้ไขได้ด้วยมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนเพียงมาตรการเดียว แต่มาตรการเช่นว่าสามารถช่วยอำนวยรายได้บางส่วนให้แก่รัฐเพื่อนำรายได้ไปใช้จ่ายหรือสนับสนุนการจัดให้มีระบบการจัดการน้ำท่วมเจิ่งนองได้

สำหรับบริบทของประเทศไทยแล้ว การจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นใหม่โดยเฉพาะการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนยังคงประสบกับอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น แรงสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองที่มีส่วนร่วมในฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคธุรกิจและประชาชน

อีกทั้งหลายฝ่ายยังคงมีความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการบริหารงานจัดเก็บภาษีรวมถึงการบริหารจัดการระบบการจัดการน้ำท่วมเจิ่งนองของหน่วยงานรัฐ และเมื่อนำสภาพระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดมาพิจารณาร่วมด้วยแล้ว การจัดเก็บค่าธรรมเนียมชนิดใหม่ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

อย่างไรก็ตาม การเหลียวมองและศึกษาบทเรียนของบางประเทศต่อการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำท่วมเจิ่งนองและการควบคุม ป้องกันรวมถึงฟื้นฟูมวลน้ำที่มีส่วนผสมของมลพิษยังคงเป็นแนวทางที่ควรดำเนินการเพื่อทบทวน “สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้” และจัดให้มี “สิ่งที่ควรจะเป็นให้เกิดขึ้นให้ได้”.