การสร้างภาพยนตร์ สร้างแรงจูงใจ สร้างหนุ่มสาวโรงงานยุคใหม่

การสร้างภาพยนตร์ สร้างแรงจูงใจ สร้างหนุ่มสาวโรงงานยุคใหม่

เปิดมุมมอง สะท้อนนโยบาย "นายกฯ" ..การสร้างภาพยนตร์ สร้างแรงจูงใจ สร้างหนุ่มสาวโรงงานยุคใหม่ แง่มุมนักวิชาการและผู้กำกับภาพยนตร์

พลันได้ยินไอเดีย "ลุงตู่" พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 กรณีการผ่อนคลายการล็อคดาวน์โควิด-19 เรื่องแก้ปัญหาแรงงาน สั่งการให้ดูว่าคนว่างงานนั้นจะทำอย่างไร จบแล้วไม่มีงานทำ 

หลายคนไม่อยากทำโรงงาน วันนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ช่วยกันทำว่าโรงงานปัจจุบันเป็นสภาพไหนแล้ว วันนี้มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ มีความทันสมัยมากขึ้น หลายคนยังมองโรงงานสภาพเดิมอยู่ 

ขณะนี้กำลังจะทำให้ทำหนังสั้นออกมาให้ดู เพื่อให้คนไทยทุกคนมาทำงานในโรงงาน ไม่เช่นนั้นก็ต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านอยู่อย่างนั้น

วันนี้ก็ขาดแรงงานมากพอสมควร คนไทยไม่ยอมทำ โทษเขาไม่ได้ แต่วันนี้จะต้องทำให้เขาเห็นว่า แรงงานไม่ใช่แรงงานที่เหมือนเดิมแล้ว รายได้มากเป็นหมื่นและมากกว่าแรงงานขั้นต่ำ (อ้างอิง - นายกฯจ่อออกหนังสั้นจูงใจคนไทยทำงานโรงงาน)

ก่อนอื่น ผู้เขียนเข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีไปลงพื้นที่น้ำท่วม ในต่างจังหวัดภาคอีสาน จึงเสนอไอเดียแก้ปัญหาแรงงาน ซึ่งอย่างที่ทราบว่า ก่อนหน้านี้พี่น้องประชาชนที่ทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ต่างกลับมารักษาตัวจากโควิดระบาด และบางรายก็กลับมาบ้านเกิดเพราะตกงานหรือไม่มีงานทำ

พี่น้องแรงงานเหล่านั้น อาจยังไม่กลับไปในระบบบริษัทหรือโรงงาน ทำให้ระบบการผลิตในอุตสาหกรรมมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเคยมีปัญหามาก่อนหน้านี้แล้ว ยังพบภาวะเช่นนี้อาจทำให้กลายวิกฤติ ส่งผลให้ทุนต่างชาติย้ายโรงงานไปยังประเทศอื่น สูญเสียการจ้างงานและมูลค้าทางเศรษฐกิจ

ว่ากันตามจริง! จะใช้สื่อของรัฐในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ตกงานหรือกำลังหางานให้สนใจการทำงานในโรงงานก็มีให้เห็นมาทุกรัฐบาล

ทว่า กรณีนายกฯประกาศจะใช้สื่ออย่าง "ภาพยนตร์" ในประเภทหนังสั้นในการจูงใจนั้น น่าคิดเหมือนกัน

อย่างที่ทราบว่า ยุคสมัยนี้แพลตฟอร์ม "โซเชียลมีเดีย" ทรงอิทธิพลอย่างสูง ทำให้คอนเทนต์ประเภทคลิปวีดีโอ ขนาดยาวและสั้น กลายเป็นชิ้นงานที่สร้างการรับรู้และกลายเป็นไวรัล ซึ่งถ้าคอนเทนต์นั้นหลากหลายและต่อเนื่อง จะตอกย้ำเป้าหมายและสามารถชักจูงใจก็เป็นได้

ผู้เขียนคิดว่าท่านนายกฯคงมีทีมงานช่วยคิดช่วยเสนอไอเดียมาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงพูดเรียกคะแนนนิยมระหว่างลงพื้นที่พบปะประชาชน

โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ได้ค้านแนวคิดท่านนายกฯ ที่อยากให้แรงงานกลับสู่ระบบ แต่อยากให้มันดีกว่านี้

จึงสอบถามนักวิชาการและนักวิจัยด้านการภาพยตร์ในเรื่องนี้

อาจารย์นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์เกี่ยวกับ Soft Power แห่งมหาวิทยาลัยเก่าแก่ย่านปทุมวัน มองว่า นโยบายดึงคนไทยกลับไปทำงานโรงงาน แล้วใช้หนังเป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ เรื่องนี้คงต้องแบ่งเป็นสองเรื่อง คือเรื่องนโยบายกับ เรื่องหนัง

หากแง่ของหนัง มองว่านายกฯอาจไม่เข้าใจ เหมือนสั่งการมาเป็นครั้งๆ ไป จริงๆ ถ้าจะทำหนังเพื่อจูงใจ มันควรทำเป็นวาระแห่งชาติเหมือนเกาหลีใต้ ไม่ใช่มาจูงใจเป็นเรื่องๆ มีประเด็นอะไรที่อยากปรับก็นำมาใส่ ทำหนังให้ต่อเนื่อง เป็นระบบ สร้าง national character 

การที่คนไทยไม่ทำงานโรงงานมันอาจมีสาเหตุมากกว่านั้น จำต้องใช้ความเข้าใจด้านสังคม ประชากร มันไม่น่าใช่ปัญหาแค่ว่าคนชอบไม่ชอบแล้วใช้หนังสร้างแรงจูงใจ แล้วมีทีท่าสงวนงาน คนต่างด้าว ต่างชาติพันธุ์กลายเป็นด้อยค่า กระทบความรู้สึกแรงงานเพื่อนบ้าน

ขณะที่ อาจารย์และผู้กำกับภาพยนตร์ แห่งมหาวิทยาลัยที่ราบสูงเมืองตักสิลา มองเรื่องนี้ว่า หากจะกระตุ้นให้คนทำงานโรงงาน ไม่จำเป็นต้องใช้สื่อหนังสั้นมากระตุ้นก็ได้ หากเงินดี สวัสดิการดี สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ คนเขาก็ทำแล้ว ดังนั้น ไม่ต้องใช้หนังมาเปลี่ยน "ภาพจำ" ของหนุ่มสาวโรงงานก็ได้ เพราะถ้าเงินดี งานดี คนทำอยู่แล้ว มันอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรมากกว่า

เหนืออื่นใด ผู้เขียนอยากจะพูดถึงภาพยนตร์ที่สื่อถึงหนุ่มสาวโรงงานที่เข้าพอเข้ายุคเข้าสมัย อย่าง ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ กำกับฯโดย เมษ ธราธร ค่ายจีทีเอช เมื่อปี 2557 นำแสดงโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และ ปรีชญา พงษ์ธนานิกร

การสร้างภาพยนตร์ สร้างแรงจูงใจ สร้างหนุ่มสาวโรงงานยุคใหม่

ภาพยนตร์เรื่องนี้ "ประกอบสร้าง" เส้นเรื่องให้หนุ่มโรงงานอยากเรียนภาษาอังกฤษเพราะอกหักมาพบติวเตอร์สาว จากเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง กลายเป็นหนังทำเงินไปกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งจะพูดกันง่ายๆ หนังได้สร้างภาพมุมมองใหม่เกี่ยวกับหนุ่มโรงงานให้ดูเฟรนลี่ขึ้นจากภาพจำเดิมๆ เกี่ยวกับแรงงานใช้แรงและทำงานหนัก

ดังนั้น ถ้าท่านนายกฯ "ประยุทธ์" จะสนับสนุนนโยบายด้านการสร้างภาพยนตร์สร้างความจูงใจให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่ระดับมัธยมที่ไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือกลุ่มผู้ตกงานที่โยกย้ายกลับต่างจังหวัด ให้กลับมาทำงานในระบบโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ทีมงานท่านนายกฯคงต้องศึกษาวิธีเล่าเรื่องของภาพยนตร์ ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ ไว้บ้างก็ดีเผื่องานจะสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย

ขณะเดียวกัน ผู้เขียนเพียรหวังว่า ท่านนายกฯจะรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการด้านภาพยนตร์ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเอง มองว่า การใช้สื่อภาพยนตร์ควรใช้ตามหลัก Soft Power สร้างประโยชน์บนเงื่อนไขในเอื้อพี่น้องแรงงาน ให้อยู่ในระบบอย่างยั่งยืนด้วย

....

ข่าวที่เกี่ยวข้อง