เพราะเหตุใดจึงควรทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

เพราะเหตุใดจึงควรทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว “บ้าน” คงจะเป็นอีกหนึ่งความปรารถนาที่ถูกบรรจุไว้ในแผนการสร้างอนาคตด้วยอย่างแน่นอน แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า บ้าน คือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงมากเช่นกัน

 แล้วถ้าต้องการจะซื้อบ้าน แต่ไม่มีเงินก้อนโตต้องทำอย่างไร แน่นอนว่าวิธีส่วนใหญ่ที่คนทั่วไปต้องพึ่งพาเมื่อต้องการซื้อบ้านสักหลังคือ การขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงิน และเมื่อใดที่การขอสินเชื่อได้รับการอนุมัติ สินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นก็จะกลายเป็นภาระผูกพันของผู้ขอสินเชื่อที่ต้องแบกรับเป็นระยะเวลานานหลายปี ซึ่งผู้ขอสินเชื่อจะมั่นใจได้อย่างว่าตนเองจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้อย่างราบรื่นในระยะเวลาอันยาวนานนั้น

 ในเมื่อชีวิตต่างก็มีความเสี่ยงภัยด้วยกันทั้งนั้น หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับตัวผู้ขอสินเชื่อในช่วงที่กำลังผ่อนชำระหนี้ ภาระหนี้ก้อนนี้จะตกเป็นของคนที่อยู่ข้างหลังทันที และหากบุคคลในครอบครัวที่อยู่ข้างหลังยังมีภาระอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้สินต่อได้ บ้านที่เพียรสร้างหวังให้เป็นทรัพย์สินของครอบครัวอาจถูกยึด เนื่องจากมีมูลค่าและเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ครอบครัวที่เคยอยู่กันพร้อมหน้า อาจต้องดิ้นรนหาที่อยู่ใหม่ ดังนั้น จะดีกว่าไหม ถ้าผู้ขอสินเชื่อมีการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองในอนาคต ด้วยการทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัยควบคู่ไปด้วย

การประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Reducing Term Assurance : MRTA ) เป็นแบบประกันที่มุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองความสามารถในการชำระสินเชื่อบ้านแก่ผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทที่รับประกันภัยจะทำหน้าที่ชำระหนี้ส่วนที่เหลือแก่ธนาคารแทนผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ทั้งในกรณีที่เป็นการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รวมไปถึงกรณีที่ผู้เอาประกันไม่ได้เสียชีวิต แต่ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทำให้ไม่สามารถหารายได้มาผ่อนชำระสินเชื่อได้ ดังนั้น การทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัยจึงเป็นหลักประกันความมั่นใจว่าจะไม่ทิ้งภาระไว้ให้ครอบครัวหรือคนที่อยู่ข้างหลังในการผ่อนค่างวดที่อยู่อาศัย และกรรมสิทธิ์ของบ้านก็จะยังเป็นของครอบครัวต่อไป นอกจากนี้หากยังมีเงินเหลือจากการชำระหนี้กับธนาคารแล้ว เงินในส่วนนี้ยังกลายมาเป็นมรดกให้กับผู้ที่อยู่ข้างหลังได้อีกด้วย

สำหรับรูปแบบของประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นมีด้วยกัน 2 แบบ คือ

1. คุ้มครองแบบลดหลั่น จะให้ความคุ้มครองลดลงตามยอดหนี้คงเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่อ ผู้เอาประกันภัย บริษัทรับประกันภัยจะจ่ายวงเงินความคุ้มครองที่ทยอยลดลงตามภาระหนี้สินที่ลดลงในแต่ละปี

2. คุ้มครองแบบคงที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่อผู้เอาประกันภัย บริษัทรับประกันภัยจะจ่ายวงเงินความคุ้มครองคงที่คือเต็มจำนวนทุนประกันภัยตลอดครบกำหนดสัญญา

ซึ่งอัตราเบี้ยประกันภัยจะขึ้นอยู่กับอายุ เพศ อาชีพ ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงระยะเวลาการคุ้มครอง ส่วนการชำระค่าเบี้ยประกันภัยนั้น เป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียว (Single premium) ซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถนำเบี้ยประกันภัยในส่วนนี้ (คุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป) มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดถึง 100,000 บาท

สำหรับกรณีผู้ขอสินเชื่อที่มีความประสงค์จะปิดบัญชีสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนกำหนด หรือ ต้องการเปลี่ยนธนาคารใหม่ระหว่างการผ่อนชำระเงินกู้ (Refinance) ผู้ขอสินเชื่อสามารถจัดการกับประกันคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ทำไว้ได้ 2 วิธี คือ 1. เวนคืนกรมธรรม์ หรือ 2. ยังคงความคุ้มครองไว้เช่นเดิม(สามารถเปลี่ยนชื่อสถาบันการเงินที่รับรีไฟแนนซ์ได้) เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองต่อไป

อย่างไรก็ตาม การทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น ไม่จำเป็นต้องทำเต็มวงเงินหรือระยะเวลาการกู้เสมอไป ผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกวงเงินคุ้มครองและระยะเวลาคุ้มครองได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงและความจำเป็นของผู้ขอสินเชื่อ