Work From Home กับ Insider Trading

Work From Home กับ Insider Trading

การ Work From Home ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกระทำความผิดกฎหมายหลักทรัพย์ที่เรียกว่า Insider Trading มากขึ้น

บทความโดย พิเศษ เสตเสถียร

HIGHLIGHTS     
๐ Work From Home และโอกาสที่จะเกิด Insider Trading 
๐ หน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องกำกับดูแลการทำงานที่บ้านของลูกจ้างที่บ้านให้ดีเพื่อป้องกันข้อมูลของบริษัทรั่วไหล

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 บริษัททั้งหลายต้องให้พนักงานอยู่ทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดแต่ในขณะเดียวกันการ Work From Home ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกระทำความผิดกฎหมายหลักทรัพย์ที่เรียกว่า Insider Trading มากขึ้นเช่นกัน
    พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 242  ได้บัญญัติไว้มีใจความว่า ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น 
(2) เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมและไม่ว่าด้วยวิธีใดโดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้รับข้อมูลอาจนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น

มาตรา 242 เป็นความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ Insider Trading คือ บุคคลวงในบริษัทที่มีโอกาสรู้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ยังไม่เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไป และข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่มีผลกระทบต่อราคาของการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น ผลกำไรขาดทุนของบริษัทการที่บริษัทจะควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นเป็นต้น

ดังนั้น บุคคลวงในที่มีโอกาสรู้ข้อมูลดังกล่าวนี้ เช่น เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท บุคคลเหล่านี้มีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อมูลก่อนนักลงทุนทั่วไปและอาจจะนำข้อมูลนี้ไปซื้อขายหุ้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนก็ได้ กฎหมายก็เลยต้องห้ามมิให้บุคคลเหล่านี้ไปทำการซื้อขายหุ้นเพราะเป็นการเอาเปรียบคนอื่น และได้กำหนดโทษทางอาญาเอาไว้ถ้าฝ่าฝืนด้วย
    นอกจากนี้กฎหมายก็ยังห้ามไม่ให้บุคคลวงในนี้เอาข้อมูลดังกล่าวไปบอกต่อกับคนอื่น ขณะเดียวกันก็ห้ามไม่ให้ใครที่ได้ข้อมูลจากบุคคลพวกนี้ไปทำการซื้อขายหุ้นหาประโยชน์ด้วยเช่นกัน ภาษากฎหมายหลักทรัพย์เรียกบุคคลพวกนี้ว่า Tipper คือผู้ให้ข้อมูล และ Tippee  คือผู้รับข้อมูล
    คดีเกี่ยวกับผู้ให้ข้อมูลและผู้รับข้อมูลนี้มีปรากฏให้เห็นเสมอ เช่น ในปี 2562 มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่งมีผลกำไรเพิ่มขึ้นจากที่ผ่านมามาก คือมีกำไร 109 ล้านบาท ในขณะที่ในไตรมาสก่อนหน้านี้ขาดทุน 30.45 ล้านบาท พี่ชายของผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการก็ไปซื้อหุ้นดักรอเอาไว้ด้วย ก.ล.ต. เชื่อได้ว่าได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าวจากน้องชายเพราะการซื้อหุ้นดังกล่าวผิดไปจากปกติวิสัยของตนในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง จะเห็นได้ว่าคนที่เป็นพี่ชายนี้ไม่ได้เป็นบุคคลวงในคือไม่ได้เป็นผู้บริหารหรือของบริษัท แต่เป็น Tippee ผู้รับข้อมูลมาจากบุคคลวงใน 

อีกคดีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนอีกแห่งหนึ่งได้เตรียมที่จะประกาศทำ tender offer ซื้อหุ้นของบริษัทนั้นที่ราคา 12.25 บาทต่อหุ้นซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ผู้บริหารท่านนั้นได้เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวแก่หลานเขย คุณหลานเขยก็เลยไปซื้อหุ้นคอยไว้เป็นจำนวน 4,088,600 หุ้น เมื่อได้มีการเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อสาธารณะแล้ว คุณหลานเขยก็ได้รับผลประโยชน์จากกำไรในการซื้อหุ้นเป็นเงินจำนวน 7,043,960 บาท
    ทั้ง 2 กรณีนี้เป็นความผิดของผู้ให้และผู้รับข้อมูล จึงถูกลงโทษปรับและริบผลประโยชน์ที่ได้รับมาทั้งหมด และห้ามคนบอกข้อมูลไม่ให้เป็นผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ในยุคปัจจุบันที่ทำงานอยู่กับบ้าน(Work From Home)กันเป็นส่วนมาก โอกาสที่ข้อมูลทำนองนี้จะรั่วไหลไปสู่คนที่ไม่เกี่ยวข้องก็มีมากขึ้น
    เช่น ในสหรัฐอเมริกา บริษัท A จะควบรวมกับบริษัท B ทนายความที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายในการควบรวมดังกล่าวได้ไปปรึกษาเพื่อนซึ่งเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เกี่ยวกับการควบรวมดังกล่าว เพื่อนที่เป็นนักวิเคราะห์ก็เล่าเรื่องการควบรวมนี้ให้เพื่อนซึ่งเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้นซึ่งเป็นเพื่อนร่วมห้องเช่า(roommate)ฟัง พร้อมกับกำชับว่าเรื่องที่เล่าให้ฟังนี้ไม่ให้เอาไปบอกคนอื่นแต่เพื่อนซึ่งเป็นโบรกเกอร์คนนี้ไม่เชื่อฟังเอาไปบอกเพื่อนที่เป็นโบรกเกอร์คนอื่นอีกแล้วทำการซื้อหุ้นของบริษัท A ไว้ด้วยกัน ผลสุดท้าย SEC จับได้และถูกดำเนินคดี Insider Trading กับทุกคนที่ไปซื้อหุ้น
    การ Work From Home จึงมีโอกาสที่จะเกิด Insider Trading มากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องกำกับดูแลการทำงานที่บ้านของลูกจ้างที่บ้านให้ดีเพื่อป้องกันข้อมูลของบริษัทรั่วไหล แต่การกำกับดูแลการทำงานที่บ้านของลูกจ้างนี้ก็อาจจะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือ privacy ของผู้เป็นลูกจ้างได้  นายจ้างมีสิทธิตรวจการทำงานและการสื่อสารเกี่ยวกับงานที่บ้านของลูกจ้างได้ แต่ไม่มีสิทธิไปตรวจอีเมลหรือ Social Media ส่วนตัวของลูกจ้าง เป็นต้น.