มิติความคิด ที่เปลี่ยนแปลง หลังบทเรียนโรคระบาดครั้งใหญ่

มิติความคิด ที่เปลี่ยนแปลง หลังบทเรียนโรคระบาดครั้งใหญ่

บทเรียนที่ได้จากโรคระบาดในแต่ละครั้ง จึงทำให้เราต้องคิดหาวิธีปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก จนหลายคนเชื่อว่าจะเป็นการ “รีเซ็ต” คือ ลบล้างความคิดแบบเดิมและเริ่มต้นใหม่หมด

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในวันนี้ดูเหมือนจะมีสัญญาณที่ดีมากขึ้น ด้วยจำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลง ทำให้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้วิกฤติได้มากขึ้น แต่เราก็ยังอยู่ในจุดที่ประมาทไม่ได้เลยเพราะเราเคยรู้สึกแบบนี้มาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วก่อนที่จะกลับมาระบาดหนักในครั้งนี้จนมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น

บทเรียนที่ได้จากการระบาดในแต่ละครั้งจึงทำให้เราต้องคิดหาวิธีปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ซึ่งภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศไทยของเรา แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก จนหลายๆ คนเชื่อว่าจะเป็นการ “รีเซ็ต” คือลบล้างความคิดแบบเดิมและเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

เพราะผลพวงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เพียงเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงวิถีการทำงาน การเรียนการสอน การพัฒนาอุตสาหกรรมและสังคม ฯลฯ 

การคิดถึงอดีตที่เราเคยใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีไม่มีข้อจำกัดใดๆ อาจไม่หวนคืนมาอีกแล้ว เรื่องสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การคิดไปข้างหน้าในมิติต่าง ๆ ที่โควิด-19 ได้เปลี่ยนเราไปทีนิดๆ

เริ่มจากข้อแรกคือพรมแดนของประเทศต่างๆ บนโลกใบนี้ลดความสำคัญลงอย่างมหาศาล แต่เดิมที่เหตุการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นอย่างไรก็คงไม่มีผลอะไรกับชีวิตเรามากนัก ยิ่งประเทศห่างไกลก็ยิ่งลดความสำคัญลงไปมาก
 

แต่ในวันนี้เราเห็นแล้วว่าผลกระทบทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นเชื่อมโยงกันหมาด และความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงนั้นก็แทบจะเกิดขึ้นในทันทีทันใด และยิ่งมีภาวะการระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าพรมแดนของแต่ละประเทศนั้นแทบจะไม่มีความหมายใดๆ เลย

การระบาดในระลอกแรกกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนแต่ละประเทศปิดพรมแดนหรือควบคุมการเดินทางอย่างเข้มงวด แต่แทบจะไม่มีผลใดๆ เพราะการระบาดยังคงดำเนินต่อไป รวมถึงมีการแพร่ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งยังคงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม

พรมแดนที่แบ่งแยกประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน หรือประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ล้วนไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้เลยแม้แต่น้อย โควิด-19 จึงทำให้เราเห็นได้ชัดเจนขึ้นมากว่าโลกของเรานั้นล้วนเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง

การคิดว่าประเทศของเรารับมือกับโควิด-19 ได้ดีที่สุด มีวัคซีนดีและมีมาตรการเข้มข้น ก็อาจไร้ความหมายในทันทีหากประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายล้อมมีปัญหา เพราะคนของแต่ละประเทศล้วนเชื่อมโยงกันเหมือนใยแมงมุม

ข้อที่สอง เราได้เห็นคุณค่าของชีวิตในแบบที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน นั่นคือการเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน ฯลฯ แต่เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของวิถีชีวิตแบบเดิม
 

อาจเป็นเพราะภาวะก่อนโควิด-19 เราต้องเจอกับชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อหน่าย เช่นการเดินทางที่ต้องผจญกับรถติด การประชุมที่ยืดเยื้อและกดดัน จนอาจทำให้เราเกลียดวิถีชีวิตแบบนี้ จนอยากนอนอยู่เฉยๆ ที่บ้าน ไม่ต้องออกไปพบเจอผู้คนหลีกหนีความวุ่นวาย

แต่เมื่อต้องใช้ชีวิตในภาวะการณ์ควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ต้องทำงานที่บ้านตามนโยบายรัฐบาล ห้ามออกนอกบ้านในตอนกลางคืนเพราะติดเคอร์ฟิว หลายคนกลับรู้สึกโดดเดี่ยว และโหยหาความรู้สึกเดิมๆ ที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้

คุณค่าของชีวิตจึงเปลี่ยนไป และเพราะการระบาดในครั้งนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่มองข้ามมาโดยตลอด ซึ่งในอนาคตเมื่อสถานการณ์คลี่คลายเราก็น่าจะเข้าใจตัวเองและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเพิ่มมากขึ้น