ดัชนีความสำเร็จโอลิมปิก ชี้อดีต-อนาคตด้านความมั่นคงมหาอำนาจ

ดัชนีความสำเร็จโอลิมปิก ชี้อดีต-อนาคตด้านความมั่นคงมหาอำนาจ

กีฬาระดับระหว่างประเทศนั้นมิใช่เพื่อสร้างความสามัคคีหรอก แต่เป็นสงครามที่ไม่มีคนตายต่างหาก...

ในขณะที่ประเทศระดับกลางและล่างเข้าร่วมมหกรรมระดับโอลิมปิกนั้นเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ในระดับโลกเพื่อผลประโยชน์ด้านอื่นต่อไป  ประเทศที่เป็นปรปักษ์กันก็อาศัยชั้นเชิงความสำเร็จในการกีฬาเบียดข่มอีกฝ่ายหนึ่งและกระตุ้นความฮึกเหิมของชนในชาติ  กีฬาเป็นเครื่องมือที่ได้ผลดีในเรื่องนี้พอ ๆ กับการสะท้อนความจริงว่าสถานการณ์ประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร  ซึ่งก็สอดคล้องกับมิติความสำเร็จอื่นด้วยเช่นกัน และเมื่อพิจารณาเช่นนี้ เราอาจอนุมานได้ว่า บางทีสงครามจริงอาจเกิดเร็วกว่าที่คาดก็ได้

            ก่อนเริ่มเกมโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น ก.ค.64  ผู้สนใจด้านความมั่นคงโลกจับตามองการแข่งขัน 2 คู่  คู่แรกเป็นศัตรูกันมายาวนานระหว่างเจ้าภาพญี่ปุ่นกับจีน 

ทุกคนทราบดีว่านับตั้งแต่เริ่มสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมาจีนเหนือข่มญี่ปุ่นแทบทุกด้าน สวนทางกับที่ญี่ปุ่นตกอยู่ในยุคเศร้าซึมด้วยฟองสบู่แตก กระนั้นก็ตาม ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ไม่ยอมแพ้ มีความอดกลั้นสูง และยังคงรักษาขีดความสามารถระดับท้อปของโลกเอาไว้แทบทุกด้าน

  เมื่อเทียบความสำเร็จในสหัสวรรษที่ผ่านมาแล้ว ญี่ปุ่นเหนือกว่ามาจีนโดยตลอดอย่างน้อยก็ 4 ศตวรรษก่อนหน้านี้  ครั้งก่อนที่ญี่ปุ่นจัดโอลิมปิกคือปี 1964  ทัพนักกีฬาเจ้าภาพเป็นรองแค่สหรัฐ ฯ กับโซเวียตมหาอำนาจในเวลานั้น ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ยังเป็นวุ้นในการกีฬา ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเลยด้วยซ้ำ 

แล้วคราวนี้ซามูไรจะยอมให้มังกรมาคำรามเหนือหัวได้อย่างไร   ขณะที่จีนคอมมิวนิสต์ก็ต้องการล้างอายญี่ปุ่น เอาชนะหยันเย้ยบนแผ่นดินอริราชศัตรูให้จงได้  ผลออกมาก็คือ ญี่ปุ่นได้นำตารางเหรียญทองอยู่ถึง 1สัปดาห์ แต่สุดท้ายก็พ่ายจีนขาดลอย

            คู่ที่น่าจับตามองกว่าคืออเมริกากับจีน  เพราะประกาศความเป็นคู่แข่งกันในทุกด้าน ทั้งยังร้อนแรงขึ้นทุกปีทั้งการท้าทาย วาทะ และสงครามที่ตอนนี้ยังเป็นแค่ด้านการค้ากับไซเบอร์  แม้ว่าโลกยุคดิจิทัลจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก  แต่อเมริกาต้องการแสดงให้เห็นว่าตนยังเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกที่จีนไม่ทางตามทันได้ในเวลาอันใกล้   อเมริกาประสบความสำเร็จในโลกกีฬาได้ก็เพราะความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์  เงินทุนและจิตวิญญาณแห่งเสรีชนที่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของปัจเจกชน  ขณะที่จีนต้องการแสดงให้เห็นว่าจีนมีความสามารถพอในการแซงหน้าสหรัฐ ฯ ด้วยความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเงินทุนเช่นกัน ผสานอุดมการณ์ความรักชาติโดยรวมมากกว่าตัวเอง  ผลออกมาคือ จีนนำตารางเหรียญทองอยู่ 1 สัปดาห์จนถึงคืนสุดท้ายก่อนพ่ายสหรัฐ ฯ หวุดหวิดเหรียญเดียว       

ความสำเร็จของทีมกีฬาจีนในมหกรรมโอลิมปิก 2020 ผ่านไปสร้างความตื่นตะลึงให้แก่คนทั้งโลก แม้ว่าจะแพ้ในวันสุดท้าย แต่ก็ทำให้ตระหนักได้ว่าขีดความสามารถด้านกีฬาของจีนประชิดอเมริกามากแล้ว และด้านการทหารเล่าจะเป็นอย่างนี้ไหม  

ความสำเร็จนี้เป็นสิ่งยืนยันว่าจีนที่เป็นประเทศแรกที่โดนไวรัส COVID-19 โจมตี แต่กลับฟื้นตัวได้เร็วกว่าใครด้วยผลกระทบน้อยกว่าที่คาด จึงมีขีดความสามารถถึงขั้นเกือบโค่นอเมริกาได้  แล้วอาวุธกับกำลังพลของจีนที่กำลังแสดงแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้เล่าจะถึงระดับใด 

ที่แน่ ๆคือความสำเร็จของนักกีฬาจีนเพิ่มความฮึกเหิมแก่ลัทธิรักชาติในหมู่คนจีนอีกมาก  รัฐบาลปักกิ่งอาจกล้าท้าทายรัฐบาลวอชิงตันและพันธมิตรมากขึ้น จนอาจข้ามเส้นแห่งความประนีประนอมไปในอนาคตข้างหน้า

ทัพนักกีฬาอเมริกันค่อนข้างล้มเหลวในโอลิมปิกอย่างไม่น่าเชื่อ ประเภทที่นอนมาก็ได้แค่ที่ 2 ขณะที่หลายประเภทไม่มีลุ้นอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้  เป็นความน่าแปลกใจที่คนดูกีฬาโลกไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน 

การที่เมืองลุงแซมประสบปัญหาโควิดหนักมากในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความเสื่อมถอยด้านกีฬาหรืออาจรวมทั้งด้านอื่น ๆ  เพราะทั้งประเทศอ่อนเปลี้ยกันไปหมด ทุกภาคส่วนต้องระดมกันไปแก้ปัญหาโรคระบาดก่อน นอกจากนี้ ความแตกแยกของสังคมในเวลา 4 ปีที่ Donald Trump อยู่ในอำนาจ น่าจะสร้างความร้าวลึกต่อทุกรากฐานของสหรัฐ ฯ ชนิดที่ว่าต้องใช้เวลาซ่อมสร้างกันอีกยาวนาน 

ความด้อยลงไปของมหาอำนาจน่าจะนำไปสู่การลิงโลดรุ่งเรืองของศัตรู  ขณะที่อเมริกาควรจะต้องเลือกที่จะรบหน่วงเวลา รอคอยการฟื้นตัวและรวบรวมกำลังให้ดีก่อนจะกล้าเปิดยุทธการใหม่

ญี่ปุ่นที่เผชิญกับทศวรรษแห่งความรันทดอย่างอดทนตลอดมา อาจเสียกำลังใจไปบ้างที่ไม่ได้เป็นจ้าวเหรียญทองโอลิมปิกบนแผ่นดินตนเองและยังเอาชนะจีนไม่ได้  แต่ก็นับได้ว่าญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการชี้ให้โลกเห็นแนวทางที่ญี่ปุ่นในการแผ้วถาง เช่น รักษ์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีไฮเทค       พลัง Soft Power ที่ญี่ปุ่นมีไม่เพียงแต่จะดึงดูดพันธมิตรทั่วโลก ยังจะกระตุ้นความหวังและกำลังใจคนในชาติด้วย  ญี่ปุ่นกำลังต้องการความร่วมมือเช่นนี้มากเมื่อต้องก้าวเข้าสู่ยุคที่อาจต้องเผชิญหน้ากับจีนด้วยกำลัง

สำหรับชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงไม่ต้องกล่าวถึงความสำเร็จ  ก็สอดคล้องกับสภาพสังคมติดเชื้อโควิดงอมแงมและเศรษฐกิจยอบแยบ   อนาคตของอาเซียนที่พยายามสลัดเฉดของมหาอำนาจออกไปจึงน่าจะยังเป็นเพียงความหวังและวาทกรรม ตราบเท่าที่ยังต้องควานหาความภาคภูมิใจของตนเองในด้านต่าง ๆ อยู่.