ความหยาบคาย ร้ายกว่าที่คิด

ความหยาบคาย ร้ายกว่าที่คิด

ความหยาบคายบนโซเชียลมีเดีย ดูจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสังคมไทย สาเหตุสำคัญคือบนโลกเสมือนนี้ไม่มีเส้นแบ่งหรือกติกาที่ต้องระมัดระวัง

บทความโดย...วิทยา  ด่านธำรงกูล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คนไม่พอใจหยาบคายใส่รัฐบาล นางงามหยาบคายใส่คนเคยรู้จัก คนไข้หยาบคายใส่หมอ คนขายของหยาบคายใส่ลูกค้า แล้วคนอื่นที่หยาบคายก็ออกมาหยาบคายใส่คนที่หยาบคายอีกที แชร์กันไปเป็นที่สับสนอลหม่าน หรือนี่จะเป็นความปกติใหม่ ที่คนไม่สนใจว่าตัวเองจะถูกมองอย่างไรเมื่อหยาบคายแบบสุดๆ

ความหยาบคายบนไซเบอร์นับวันจะมากขึ้น สาเหตุสำคัญคือบนโลกเสมือนนี้ไม่มีเส้นแบ่งหรือกติกาที่ต้องระมัดระวังเหมือนในชีวิตจริง ปกติคนเราสื่อสารกันจะคำนึงว่าเราอยู่ท่ามกลางคนกลุ่มไหน และในสถานที่ใด ถ้าเราอยู่ในผับ การสื่อสารย่อมไม่เหมือนในที่ประชุมบริษัท หรือถ้าเราอยู่กับพ่อแม่ เราย่อมสื่อสารไม่เหมือนอยู่กับเพื่อน

ผู้คนและสถานที่จึงเป็นสิ่งกำกับพฤติกรรมในการแสดงออกของคน แต่ในโลกไซเบอร์ไม่มีบริบทเหล่านี้เป็นเครื่องกำกับ การสื่อสารที่เกินเลยจึงเกิดขึ้นเสมอ คนจำนวนมากยังเข้าใจไปด้วยว่าพื้นที่บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ของตัวเอง เมื่อฉันเป็นเจ้าของ ฉันจึงมีสิทธิ์อาละวาดฟาดใครๆ ได้เต็มที่

นักเขียนชื่อดัง Danny Wallace (2018) เขียนหนังสือเรื่อง “ความจริงเหลือเชื่อที่ทำให้คนหยาบคาย” บอกว่ายุคนี้คนเราชอบแสดงความเห็นกับทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ที่ และทุกๆ เวลา แล้วถ้าจะให้คนสนใจความเห็นของตัวเองก็ต้องทำให้กระแทกใจมากๆ จึงต้องแสดงความเห็นให้รุนแรงให้หยาบคายแบบสุดขั้ว ไม่งั้นโลกไม่จำ ความหยาบคายส่วนหนึ่งจึงมาจากความพยายามที่จะเรียกร้องความสนใจในท่ามกลางข้อความหรือข่าวสารที่มากมายบนโลกออนไลน์นั่นเอง

งานวิจัยระบุว่าความหยาบคายมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “สามเหลี่ยมแห่งความมืด” (Dark Triad) อันเป็นปัจจัยนำไปสู่พฤติกรรมด้านลบของมนุษย์ สามเหลี่ยมที่ว่านี้ประกอบด้วย ความหลงตัวเอง ความไร้เมตตา และการเห็นคนอื่นเป็นเหยื่อ การเชือดเฉือนด้วยความหยาบคายมีพื้นฐานบนสามสิ่งนี้ ยิ่งมีด้านมืดทั้งสามมากเท่าไรก็จะยิ่งหยาบคายมากเท่านั้น

แต่ความหยาบคายบนไซเบอร์ยังมีอีกปัจจัยที่เป็นตัวเร่งคือ การขาดการเผชิญหน้า ปราศจากการสบตากัน (eye contact) ทำให้คนขาดความยับยั้งชั่งใจ ความละอาย และพร้อมจะส่งความหยาบคายออกไปแบบไม่ยั้ง สื่อสังคมออนไลน์ได้กลายเป็นเชื้อไฟให้ผู้คนกล้าพูดกับใครๆ ด้วยท่วงทำนองที่ไม่มีทางกล้าพูดหากเผชิญหน้ากันตรงๆ

            ความหยาบคายบนโซเชียลมีเดีย เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า SMSCF (Social Media Self-Control Failure) เป็นศัพท์บัญญัติใหม่ (Du, Koningsbruggen, & Krekhof ,2018) ที่ใช้อธิบายกลุ่มพฤติกรรมทั้งหลายที่เบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมหรือเป้าหมายที่ควรจะเป็นอันมีสาเหตุมาจากการติดการใช้โซเชียลมีเดีย เช่นมัวแต่ติดความบันเทิงจนลืมทำงาน ลืมเรียนหนังสือ รวมถึงลืมวิธีการสื่อสารแบบที่ถูกที่ควร ความหยาบคายจึงนับเป็นหนึ่งในพฤติกรรม SMSCF ด้วย

นักจิตวิทยาเห็นว่าความหยาบคายส่งผลต่อทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเสมอ นอกจากจะทำให้เกิดความเครียดแล้ว ความหยาบคายยังเหมือนสารพิษที่ทำลายระบบประสาท (neurotoxin) ส่งผลต่อสมองทั้งเรื่องความจำ สมาธิ และการตัดสินใจ ความหยาบคายจึงกระทบวิธีคิด การกระทำ และความรู้สึกของคน ทั้งยังนำไปสู่การนิยมความรุนแรง การต่อต้านสังคมและสิ่งที่อยู่รอบตัวอีกด้วย

ความหยาบคายส่งผลกระทบไปถึงคนอื่นๆ รอบข้างเสมอ Dishion & Tipsord (2011) วิจัยพบว่าความหยาบคายสามารถแพร่กระจายในเครือข่ายสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไม่ต่างกับเชื้อโรค คนที่ได้รับความหยาบคายมีแนวโน้มจะหยาบคายด้วย (บางครั้งหยาบคายยิ่งกว่า) และส่งต่อความหยาบคายในแวดวงของตัวเองต่อไปอีก

ดูง่ายๆ คนที่เข้ามาคอมเมนต์โพสต์ที่หยาบคายมากๆ ในสื่อโซเชียลมักจะคอมเมนต์อย่างรุนแรงและหยาบคายไม่แพ้กัน หากเป็นในที่ทำงาน พนักงานที่พบกับความหยาบคายจากใครก็ตาม มีแนวโน้มที่จะหยาบคายต่อไปถึงเพื่อนร่วมงานอื่นๆ รอบตัวด้วย แม้ว่าโดยปกติพนักงานคนนั้นจะไม่ใช่คนที่มีพฤติกรรมอยู่ในข่าย SMSCF ก็ตาม จากนั้นความหยาบคายก็จะถูกส่งจากเพื่อนไปสู่เพื่อนของเพื่อนต่อๆ ไปราวกับเชื้อโรคหรือคลื่นที่กระจายเป็นวงบนผิวน้ำต่อเนื่องกันไปยามเมื่อโยนก้อนหินลงน้ำ

เมื่อเห็นถึงเหตุและผลร้ายของความหยาบคายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างนี้ วิธีแก้ไขง่ายๆ คือพยายามอยู่ห่างๆ โซเชียลมีเดียไว้ หรือหากเห็นโพสต์ที่หยาบคายก็ข้ามไปเสีย อย่าไปอ่านให้ต้องพลอยเครียดหรือสะสมความรุนแรงไว้ในตัวที่จะส่งผลต่อคนรอบข้างต่อไปด้วย

ความหยาบคายไม่ช่วยอะไร ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สังคมควรหลีกเลี่ยงและร่วมกันออกมา call out ด้วยเหมือนกัน.