ตั้งหลักอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แห่งยุคนิวนอร์ม

ตั้งหลักอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แห่งยุคนิวนอร์ม

คงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสม ที่เราจะถูกบังคับให้ต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่สำหรับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

เพราะสิ่งที่ได้ถูกกำหนดมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น S-Curve เดิมหรือ S-Curve ใหม่ หรือสิ่งที่เป็นรากฐานเดิมที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ก็มีหลายส่วนที่ได้ถูก Disrupt จากสถานการณ์โควิด อย่างที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะฟื้นคืนกลับมาได้อย่างไร โดยเฉพาะในระยะสั้น หรือ ระยะกลาง

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มนี้ ก็ยังคงมีอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีโอกาสที่จะขับเคลื่อนไปได้มากที่สุด แม้ในสถานการณ์ของการ Work From Home เพราะดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีข้อแม้ของระยะทางและสถานที่ เมื่อสินค้า บริการ และการสื่อสาร ได้ถูกแปลงสภาพเป็นดิจิทัลทั้งหมด

ดังจะเห็นได้จากบางกลุ่มของอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีการใช้งานสูงขึ้นในช่วงของการ Work From Home ไม่ว่าจะเป็น วีดีโอสตรีมมิ่ง อีคอมเมิร์ซ เกมส์ ฯลฯ

ในระยะสั้น หรือ ระยะกลาง อุตสาหกรรมดิจิทัล ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ สำหรับการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ หรือ การประกอบธุรกิจ ในช่วงที่มีการ Lock Down ซึ่งในส่วนของ Demand มีความต้องการบริการด้านดิจิทัลอย่างแน่นอน

แต่ในส่วนของ Supply จะเห็นว่า การใช้บริการด้านดิจิทัลเป็นจำนวนมาก เป็นการนำเข้าบริการมาจากต่างประเทศ และเป็นการมองข้ามอุตสาหกรรมดิจิทัลภายในประเทศ ที่ยังมีไม่ความพร้อมในการแข่งขันในการให้บริการแม้กระทั่งภายในประเทศของตัวเอง

และเมื่อนำมาคำนวณเป็น GDP จะเห็นได้ชัดว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้ กลับเป็นผลลบต่อ GDP หรือเป็นการเสียดุลการค้า

ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะในขณะที่เป็นอุตสาหกรรมที่สินค้าและบริการมี Demand ที่สูงใน ระยะสั้น และ ระยะกลาง โดยส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด แต่ในด้าน Supply กลับต้องเป็นการนำเข้าบริการจากต่างประเทศ เพราะอุตสาหกรรมดิจิทัลภายในประเทศ ยังขาดความสามารถในการแข่งขัน

จากตัวชี้วัดที่มีการเชื่อถือในระดับสากล อาทิเช่นของ IMD ในขณะนี้ประเทศไทย ยังคงตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ทักษะของบุคลากรในด้านดิจิทัลและกระทั่งภาษาอังกฤษ ความสามารถในการคิดค้นทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถสร้างประโยชน์ได้ หรือ กฎระเบียบที่มีความทันสมัยและส่งเสริมการประกอบธุรกิจในด้านดิจิทัล

สิ่งเหล่านี้ ยังสะท้อนออกมาเป็นจำนวนของสตาร์ทอัพ และ ยูนิคอร์น ที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งเงินลงทุนของต่างประเทศที่เข้าลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่ยังคงยังคงตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอีกเช่นกัน

และก็ยังคงสะท้อนออกมาเป็นปัญหาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ีไม่สามารถสรรหาบุคลากรได้จึงต้องไป Import ชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงกว่าเข้ามา หรือกระทั่งการที่ธุรกิจของไทยจำนวนมากยังคงเป็นการซื้อมาหรือรับสิทธิมาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาขายในประเทศไทย แทนที่จะเป็นการพัฒนาสินค้าและบริการด้านดิจิทัลของตัวเอง ฯลฯ หรือกระทั่งการที่ธุรกิจสตาร์ทอัพของไทย ได้ถูกร้องขอโดยนักลงทุนต่างประเทศ ในย้ายไปจดจัดตั้งนิติบุคคลที่สิงคโปร์ ฯลฯ

สัญญานเตือนที่สำคัญ 10 ปีก่อนหน้านี้ เราอาจยังสามารถเปรียบเทียบตัวเองได้กับ มาเลเซีย หรือกระทั่ง สิงค์โปร์ แต่ทุกวันนี้ เราได้ตกลงมาอยู่ในกลุ่มประเทศระดับกลางของอาเซียน และกำลังลุ้นว่าจะไม่สามารถตามหลัง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม ได้ทัน อย่างโดยบริบูรณ์ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ขณะที่ ในนานาอารยประเทศ S-Curve ที่ส่งผลสู่การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจมากที่สุด คืออุตสาหกรรมดิจิทัล ดังจะเห็นได้จากมูลค่าของธุรกิจดิจิทัลในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศต่างๆ แต่เรื่องราวดังกล่าว ยังคงไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งธุรกิจที่มีมูลค่าสูงในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย จำนวนไม่น้อยกลับเป็นอุตสาหกรรมจากยุคเดิม ก่อนที่จะมีการกำหนด เป็น S-Curve เดิม หรือ S-Curve ใหม่ ซึ่งในบางประเทศอุตสาหกรรมจากยุคเดิมเหล่านี้ ก็เริ่มเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดินไปแล้ว

ทั้งนี้ยังคงต้องขึ้นอยู่กับว่า ประเทศไทยจะตั้งหลักเพื่อที่จะนำพาดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมหลักของชาติ เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศด้วยหรือไม่ ซึ่งในเวลานี้ อาจเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะการ Lock Down และ Work From Home ได้สร้าง Demand ด้านดิจิทัลขึ้นมาอย่างมหาศาล และได้ปรับเปลี่ยนคนไทยจำนวนมากให้กลายมาเป็น User--จึงเหลือแต่การสร้างโอกาสให้ Supply หรือผู้ผลิตและผู้ให้บริการภายในประเทศ สร้างความแข็งแกร่งขึ้นมา