คริปโทเทรนด์ : ทิศทางกำกับดูแลในต่างประเทศ

คริปโทเทรนด์ : ทิศทางกำกับดูแลในต่างประเทศ

ผู้เขียนขอเล่าถึงเทรนด์กฎหมาย และทิศทางกำกับดูแลธุรกรรมด้านคริปโทเคอร์เรนซี (คริปโท) ในต่างประเทศ โดยขอลำดับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปิดและแบน : บทเรียนจาก Binance ถึงทางการจีน

        ผลจากการยกระดับการกำกับดูแลจาก Regulators ในหลายประเทศเพื่อควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโท ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโท (Cryptocurrency Exchange) ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น Binance ที่ถูกทางการในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา ญี่ปุ่น และอังกฤษ ออกคำสั่งระงับการให้บริการ และคำสั่งตักเตือนการทำธุรกรรมที่อาจไม่สอดคล้องกับกฎหมาย

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของมาเลเซีย หรือ SC ก็มีคำสั่งห้าม Binance และบริษัทในเครือดำเนินธุรกิจภายในประเทศ รวมถึงปิดการใช้งานบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ให้บริการในประเทศ เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

นอกจากกรณีของ Binance ในข้างต้นแล้ว หากพิจารณาถึงตัวอย่างของนโยบายการแบนคริปโทอย่างเต็มรูปแบบ คงหนีไม่พ้นทางการจีน ที่ได้ยกระดับการกำกับดูแลและควบคุมธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทอย่างเข้มงวด

ไม่ว่าจะเป็นการห้ามขุดและทำเหมืองคริปโทอย่างเด็ดขาด โดยหลายเขตการปกครองได้มีคำสั่งห้ามบริษัทผลิตไฟฟ้าจ่ายไฟให้แก่เหมืองขุดต่าง ๆ  นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังสั่งการให้ธนาคาร สถาบันการเงิน และแพลตฟอร์มชำระเงิน (เช่น Alipay) ห้ามข้องเกี่ยวกับคริปโทและให้ช่วยตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับคริปโทด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ทางการจีนยังได้ตามบล็อกแอคเคาน์ใน Weibo (โซเชียลมีเดียในจีนคล้าย Fb) ที่มีการนำเสนอข้อมูลของคริปโทสกุลต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักของการทำนโยบายสุดโต่งในลักษณะนี้ นั้นเป็นเพราะทางการจีนอยู่ในระหว่างทดลองใช้และพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง

ในระหว่างทดลองดิจิทัลหยวนนี้ ยังได้เชิญชวนให้ Ant และ Tencent เข้ามาช่วยพัฒนาระบบชำระเงินร่วมกัน โดยทางการจีนยังไม่ได้ประกาศแน่ชัดว่าการทดลองครั้งนี้จะให้ทั้งสองบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมในการทำ e-CNY wallet หรือไม่ (ซึ่งหากมีโอกาสผู้เขียนจะหยิบยกประเด็นนี้มาเล่าในตอนต่อ ๆ ไป)

 

        เมื่อสิงคโปร์เริ่มผ่อนคลาย

        ในขณะที่บางประเทศเริ่มแบนคริปโทแบบเต็มรูปแบบตามที่ได้กล่าวในข้างต้น ทิศทางการกำกับดูแลในบางประเทศเริ่มผ่อนคลาย และยอมรับในบางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโท เช่น สิงคโปร์
          กล่าวคือ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2563 กฎหมายบริการชำระเงิน หรือ Payment Services Act (PSA) ฉบับใหม่ได้มีผลบังคับใช้ ภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบชำระเงินหลากหลายรูปแบบ

โดยให้รวมถึงการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโทและการดำเนินการของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Virtual Asset Service Providers (VASPs) เป็นการให้บริการทางการเงินประเภทหนึ่งตามกฎหมายที่ต้องได้รับอนุญาตจาก MAS ก่อนเริ่มดำเนินการ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟองเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอย่างเข้มงวดด้วย

ภายใต้หลักการของกฎหมาย PSA การให้บริการ “Digital payment token service” หรือ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขาย แลกเปลี่ยน และชำระราคาด้วยโทเคนดิจิทัล ถือเป็นการให้บริการประเภทหนึ่งภายใต้กฎหมาย
ที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกระทำได้หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ล่าสุด (ส.ค. 64) MAS ได้อนุมัติในหลักการให้บริษัท Independent Reserve หรือ แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโท สามารถให้บริการ Digital payment token service เป็นรายแรกในสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวอยู่ในกระบวนการทำ Due digilence เพื่อให้ได้ใบอนุญาตตามกฎหมาย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า นี่คือ ก้าวแรกที่สำคัญของสิงคโปร์ในการยอมรับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ

       

        เมื่อเยอรมันให้กองทุนบางประเภทลงทุนในคริปโทได้

        เยอรมนีได้ออกกฎหมายอนุญาตให้กองทุนประเภท Spezialfunds หรือ กองทุนประเภทพิเศษ สามารถถือครองและลงทุนในคริปโทสกุลต่าง ๆ ได้ ในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งกองทุนประเภทพิเศษนี้ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสองประการ ประการแรกต้องมีนโนบายการลงทุนที่ชัดเจน และประการที่สอง ต้องเป็นกองที่ผู้ลงทุนสถาบัน (เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือบริษัทประกัน) เท่านั้นที่เข้าลงทุนได้  

               

        เมื่อเอลซัลวาเดอร์รับบิทคอยน์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

        เมื่อเดือน มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา เอลซัลวาเดอร์ ได้ประกาศให้บิทคอยน์สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับบิทคอยน์ให้สามารถใช้ชำระราคาสินค้าและบริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งร้านค้าและผู้ให้บริการสามารถกำหนดราคาสินค้า/บริการเป็นสกุลบิทคอย์ได้

ประชาชนยังสามารถใช้บิทคอยน์ในลักษณะของการเป็นสกุลเงินทางเลือกเพื่อชำระค่าบริการต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงสามารถนำมาชำระค่าภาษีอากร และสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการโอนเงินระหว่างประเทศได้อีกด้วย

ท้ายที่สุด สิ่งที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมด เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์และทิศทางการกำกับดูแลที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า Regulators ในแต่ละประเทศย่อมมีเหตุผลและมุมมองที่แตกต่างในการกำหนดนโยบาย

อย่างไรก็ดี โจทย์ที่สำคัญ คือ การหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการผลักดันและก้าวให้ทันนวัตกรรมทางการเงินที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับระบบและผู้บริโภคในอนาคต-

 บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน