การบ้านผู้นำ 3 ข้อ

การบ้านผู้นำ 3 ข้อ

เป็นเวลาหลายปีที่ “รวิศ หาญอุตสาหะ” ทายาทรุ่นที่ 3 และ CEO บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด พลิกแบรนด์เก่าแก่กว่า 70 ปี ให้กลายเป็นแบรนด์ทันสมัย

             จนปัจจุบันคุณรวิศยังรุกหน้าพาแบรนด์ศรีจันทร์ไปบุกตลาดญี่ปุ่น และยังเป็นบริษัทที่ติดอันดับองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานมากที่สุดอีกด้วย การจะพาธุรกิจไปข้างหน้าได้นั้น เราต้องรู้จักเลือกที่จะ “รักษา” บางอย่าง และเลือกที่จะ “เปลี่ยนแปลง” บางสิ่งให้ถูกต้อง

สิ่งที่คุณรวิศรักษา “ดีเอ็นเอ” ของศรีจันทร์ไว้ตลอดคือคุณภาพของสินค้า จึงมีการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา ยิ่งตลาดเครื่องสำอางเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ลูกค้ามีพฤติกรรมชอบลองของใหม่ตลอด  เราห้ามลูกค้าไม่ให้ลองแบรนด์อื่นไม่ได้ แต่เราสามารถทำเครื่องสำอางที่มีคุณภาพดีจนแม้ว่าลูกค้าจะไปลองแบรนด์อื่นก็ยังกลับมาใช้ศรีจันทร์อยู่

            ส่วนสิ่งที่คุณรวิศเปลี่ยนแปลงก็คือวัฒนธรรมองค์กร เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้เกิดงานที่ดีขึ้น อยากให้เกิดงานแบบไหน ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่บ่มเพาะให้เกิดผลลัพธ์แบบนั้น

            วัฒนธรรมองค์กรที่คุณรวิศบ่มเพาะในบริษัทฯ คือ การเป็น “นักทดลอง” เพราะธุรกิจต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้คนทำงานต้องปรับตัวอยู่เสมอ และต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ให้เร็ว

แน่นอนว่าเมื่ออยากได้สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องทดลอง ต้องยอมให้ล้มเหลวได้ ถ้าอยากได้สิ่งใหม่แต่ใช้วิธีการแบบเดิม ๆ ที่เคยทำก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน

            ล้มเหลวในที่นี้ของคุณรวิศคือล้มเหลวเพื่อเรียนรู้และไปต่อ เป็นการทดลองเพื่อคลำหาทางที่เป็นไปได้มากที่สุด และนำผลการทดลองมาพัฒนาปรับปรุงเพื่อทำสิ่งที่ดีขึ้น แต่ไม่ควรผิดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำซาก พอองค์กรได้ทดลองมากขึ้นก็ได้เรียนรู้มากขึ้น นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นไปด้วย

 

            อีกวัฒนธรรมองค์กรที่คุณรวิศทำให้เกิดขึ้นคือวัฒนธรรมการรับฟีดแบ็กจากลูกค้า คุณรวิศจะเน้นให้ทีมงานได้สื่อสารกับลูกค้าบ่อย ๆ เพื่อนำฟีดแบ็กจากลูกค้ามาปรับปรุง ฟีดแบ็กในที่นี้ได้จากทั้งการพูดคุยสัมผัสกับลูกค้าโดยตรง ไปจนถึงการใช้ Data พฤติกรรมของลูกค้า

ทั้งการรักษาดีเอ็นเอในการพัฒนาคุณภาพสินค้า การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นนักทดลองและขยันรับ       ฟีดแบ็กของลูกค้า กลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้แบรนด์ศรีจันทร์ยังคงอยู่รอดได้ในวิกฤติโควิด-19

            ในช่วงโควิด-19 เครื่องสำอางกลายเป็นสิ่งของไม่จำเป็นทันที เพราะผู้คนทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ไปเจอผู้คนกันเท่าไร ทำให้แบรนด์ศรีจันทร์โดนผลกระทบเต็ม ๆ แต่สิ่งที่คุณรวิศทำคือการบริหารกระแสเงินสดไว้ดีพอที่จะยืนระยะได้ในวิกฤติ

            คุณรวิศให้ข้อคิดไว้ดีมากว่า “ขาดทุนยังไม่เท่ากับไม่มีกระแสเงินสด” ซึ่งจริงมาก ๆ การบริหารกระแสเงินสดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์เพราะกระแสเงินสดเชื่อมโยงกับทุกสิ่งในธุรกิจ

            นอกจากนั้น เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน บวกกับกำลังซื้อลดลง แบรนด์ศรีจันทร์เองก็ไม่ได้ฝืนไปสวนกระแสให้ผู้บริโภคต้องมาเร่งซื้อเครื่องสำอางเพราะมันผิดธรรมชาติลูกค้า สิ่งที่คุณรวิศทำในเวลานั้นคือ ทำให้   แบรนด์ศรีจันทร์ยังคงอยู่ในใจลูกค้าได้ แม้ในช่วงที่ลูกค้าจะแต่งหน้าน้อยลงก็ตาม เช่น การส่งของขวัญเป็นเครื่องสำอางไปให้ลูกค้า 15,000 คน เซ็นการ์ดด้วยมือทุกใบ เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงความคิดถึงและไม่ลืม     แบรนด์

            ในทางกลับกัน คุณรวิศใช้โอกาสในช่วงที่ทุกอย่างช้าลงในการปรับองค์กรให้มีระบบยิ่งขึ้น ปรับโครงสร้างการขาย e-commerce เอา Data มาใช้เพื่อเตรียมสินค้าตามแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค ทำระบบ Intelligent Warehouse ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อองค์กรให้พร้อมเพื่อรอจังหวะที่สถานการณ์ดีขึ้น เพราะถึงตอนนั้นโลกคงเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมในแบบที่ไม่มีใครรู้ แต่องค์กรจะอยู่ในจุดที่พร้อมจะวิ่งไปข้างหน้าได้          

           คุณรวิศบอกว่า ช่วงที่กำลังจะออกจากวิกฤตินี่แหละคือช่องแคบเล็ก ๆ ที่จะเปลี่ยนธุรกิจไปเลย จะแซงก็แซงกันตรงนี้ว่าใครเตรียมตัวมาพร้อมแค่ไหน นอกจากคิดเพื่อเอาตัวรอดในวิกฤติได้แล้ว ต้องสร้างองค์กรให้แข็งแรงพร้อมที่จะวิ่งผ่านช่องแคบที่เล็กที่สุดในช่วงกำลังจะออกจากวิกฤติ ซึ่งคงมีแต่แบรนด์ที่แข็งแรงจริงๆ เท่านั้นที่จะวิ่งฝ่าเข้าไปได้ ซึ่งทั้งการรักษาคุณภาพให้ดีขึ้น การเป็นนักทดลองที่เรียนรู้ตลอดเวลา และการพยายามทำความเข้าใจลูกค้าอยู่เสมอ น่าจะเป็นสามสิ่งที่เป็นรากฐานองค์กรที่สำคัญทั้งในการเอาตัวรอดจากวิกฤติ และเตรียมพร้อมหลังวิกฤตินี้

       การบ้านที่อยากฝากไว้ให้ผู้นำองค์กรทุกท่านที่กำลังอ่านก็คือ

             ข้อแรก ลองกลับไปดูว่ามีอะไรบ้างที่องค์กรของคุณต้อง “รักษา”

            ข้อที่สอง มีอะไรบ้างต้อง “เปลี่ยนแปลง”

            ข้อที่สาม นอกจากทำเพื่อความอยู่รอดในวันนี้แล้ว องค์กรของคุณได้วางรากฐานความพร้อมไว้อย่างไร เพื่อรองรับโลกหลังวิกฤติ.