จัดการวิกฤตด้วยข้อมูล: แดชบอร์ดโควิด-19

จัดการวิกฤตด้วยข้อมูล: แดชบอร์ดโควิด-19

Dashboard เครื่องมือช่วยให้ข้อมูลสำหรับผู้บริหาร ที่จะเข้าใจสถานการณ์ได้ชัดเจนและตัดสินใจได้ดีขึ้น

บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร 

 

        ในปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จากการกลายพันธุ์ของไวรัสที่มีสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็วขึ้น พร้อมกันนั้น ทั่วโลกเริ่มมีความหวังมากขึ้นที่จะออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้จากการค้นพบวัคซีนและการระดมฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน

ในขณะที่สถานการณ์ของประเทศไทย กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ซึ่งเป็นระลอกที่ใหญ่ที่สุดนับจากที่เคยเกิดขึ้นมาในประเทศ จนมีผู้ติดเชื้อถึงระดับเกินหนึ่งหมื่นรายในแต่ละวัน ซึ่งส่งผลให้ระบบสาธารณสุขถึงขีดจำกัดสูงสุดและต้องกลับมานำมาตรการที่เข้มงวดสูงสุดมาใช้

เมื่อมองภาพสถานการณ์ลงไปในระดับพื้นที่ เราจะพบว่า ความเสี่ยงและความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่มีไม่เท่ากัน บางพื้นที่ เช่น ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น มีผู้ติดเชื้อจำนวนสูงมาก แต่บางพื้นที่ มีผู้ติดเชื้อไม่สูงนัก เช่น น่าน แพร่ พะเยา เป็นต้น

 ปัจจัยความเสี่ยงของบางพื้นมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านความหนาแน่นของประชากรและสถานที่เสี่ยง หรือลักษณะของบางจังหวัดที่เป็นเกาะ เช่น ภูเก็ต บางจังหวัดเป็นพื้นที่ติดชายแดน เช่น ตาก เชียงราย นราธิวาส สระแก้ว เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงจากการลักลอบเข้ามาของผู้ติดเชื้อจากนอกประเทศ

หรือบางภูมิภาคและบางจังหวัด มีทรัพยากรทางสาธารณสุขไม่มากพอสำหรับการรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ ดังนั้น การบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดนี้จึงจำเป็นต้องเข้าใจบริบทในเชิงพื้นที่เป็นอย่างดี

เพื่อเข้าใจบริบทรายพื้นที่ได้ดีขึ้น เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ข้อมูลสำหรับผู้บริหารในการจัดการคือการมีข้อมูลสำคัญที่ครบถ้วน ถูกต้องและทันเวลา และเสริมด้วยการจัดทำข้อมูลในรูปแบบของแดชบอร์ดรายพื้นที่ (Dashboard) เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจสถานการณ์ได้ชัดเจนและตัดสินใจได้ดีขึ้น

ในปี 2563 GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้พัฒนา “COVID-19 i-Map Platform” เพื่อแสดงข้อมูลที่จำเป็นในภาพรวมของประเทศที่ช่วยในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด เช่น ข้อมูลผู้ติดเชื้อ ทรัพยากรทางด้านสาธารณสุข เป็นต้น 

ในปีนี้ GISTDA ร่วมกับสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) กำลังพัฒนาแดชบอร์ดข้อมูลต่อยอดจากปีก่อน เพื่อให้มีตัวชี้วัดสำคัญสำหรับช่วยการบริหารจัดการโควิด-19 รายพื้นที่ เช่น ในระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อให้ผู้บริหารในแต่ละพื้นที่มีข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น อันจะนำไปสู่ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุข รับรู้ถึงสถานะความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ และใช้ประกอบการออกมาตรการหรือนโยบายการแก้ไขปัญหาผลกระทบรายพื้นที่บนฐานของข้อมูล

แนวคิดหลักในการสร้างแดชบอร์ดข้อมูลนี้คือการสร้างดัชนีชี้วัดรวม (composite index) ขึ้นมาตัวหนึ่งซึ่งเรียกว่าดัชนีชี้วัดความปลอดภัยต่อการติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19 Safety Index) สำหรับบ่งชี้ระดับความปลอดภัยและความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ในระดับอำเภอและจังหวัด

ดัชนีชี้วัดความปลอดภัยจะประกอบไปด้วย 4 มิติ คือ 1. มิติสถานการณ์การติดเชื้อ (Hazard) 2. มิติศักยภาพ/ความเพียงพอของระบบสาธารณสุข (Healthcare Capacity) 3. มิติความหนาแน่นของประชากรและพื้นที่เสี่ยง (Density) และ 4. มิติการจัดสรรวัคซีน (Vaccine)

แต่ละมิติจะประกอบสร้างขึ้นจากข้อมูลและตัวชี้วัดที่สำคัญที่ได้จากการทบทวนทฤษฎีทางระบาดวิทยาและการหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ โดยมีรายละเอียด คือ

มิติสถานการณ์การติดเชื้อ (Hazard) ประกอบด้วยข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษา ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยใหม่ 14 วันล่าสุด อัตราการพบเชื้อจากการสุ่มตรวจ และอัตราการแพร่ระบาด  มิติศักยภาพ/ความเพียงพอของระบบสาธารณสุข  (Healthcare Capacity) ประกอบด้วย จำนวนคงเหลือของเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม จำนวนคงเหลือของยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโควิด-19 และจำนวนคงเหลือของเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยวิกฤต

มิติความหนาแน่นของประชากรและพื้นที่เสี่ยง (Density) ประกอบด้วย จำนวนกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ เช่น เด็ก ผู้มีโรคประจำตัว ผู้พิการ ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง คนยากจน แรงงานต่างด้าว เป็นต้น

ข้อมูลแนวโน้มการเดินทางของคนภายในจังหวัด (Mobility) ข้อมูลความหนาแน่นของพื้นที่เสี่ยงแต่ละจังหวัด เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร โรงเรียน เป็นต้น และข้อมูลความหนาแน่นของประชากร และมิติการจัดสรรวัคซีน (Vaccine) ได้แก่ สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีน

ทั้งนี้ ผู้บริหารที่ใช้แดชบอร์ดจะสามารถตรวจดูดัชนีความปลอดภัยภาพรวมของแต่ละพื้นที่และข้อมูลในแต่ละมิติเพื่อประเมินความเสี่ยงในระดับพื้นที่ได้ โดยจัดระดับความปลอดภัยเป็น 4 ระดับ ตั้งแต่พื้นที่มีความปลอดภัยต่ำมากจนไปถึงมีความปลอดภัยสูงสุด

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแดชบอร์ดดังกล่าวยังพบข้อจำกัดในด้านข้อมูลอยู่บ้างที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาแดชบอร์ดได้ครบถ้วนสมบูรณ์และทันเวลาที่สุด เช่น ในมิติศักยภาพของระบบสาธารณสุข ยังต้องการข้อมูลที่ลงลึกในหลายด้าน เช่น จำนวนเตียงคงเหลือในระดับเขียว เหลือง แดงในแต่ละโรงพยาบาล เพื่อให้เห็นภาพว่าผู้ป่วยหนักต้องเข้า ICU ส่งไปที่ไหนที่ว่างอยู่บ้างหรือการมีอยู่ของเครื่องช่วยหายใจแยกตามประเภทของเครื่อง รวมถึงข้อมูลจำนวนบุคลากรทางการแพทยและผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาระบบข้อมูลที่เชื่อมต่อกันในอนาคต

ในยุคของ Big Data นี้ การบริหารสถานการณ์ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องทันต่อเวลา (near real time) เป็นเรื่องที่สำคัญ และแดชบอร์ดจะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจสถานการณ์และตัดสินใจได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด.