SME ต่างกับ Start Up อย่างไร

SME ต่างกับ Start Up อย่างไร

ถึงแม้ว่าประเทศไทย จะมี Start Up รายแรกที่ประสบความสำเร็จจนได้ถูกขนานนามว่าเป็น Unicorn แล้ว...

เรายังไม่ต้องพูดกันว่าประเทศเพื่อนบ้านเขามีกันไปกี่ Unicorn แล้ว  แต่สังคมไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ ก็ยังคงแยกไม่ออกระหว่าง Start Up และ SME

Start Up และ SME เริ่มต้นจากความเหมือน ก็คือการเป็น Entrepreneur หรือ การเป็นเถ้าแก่ ที่เป็นเจ้าของกิจการ แทนที่จะเป็นลูกจ้าง พนักงาน ข้าราชการ ฯลฯ

และความเหมือน ก็สิ้นสุดลงที่จุดนี้ทันที!

แต่เนื่องจาก SME ได้เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจและสังคมไทยไทย โดยประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 3 ล้าน SME ซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจอยู่ที่ราว 35% ของGDP และ การจ้างงานอยู่ที่ 70% ของแรงงานในประเทศ และเป็นประมาณ 99% ของธุรกิจที่มีอยู่ในประเทศ หรือเปรียบเทียบได้ว่า ทุกประชากรไทย 22 คน จะมีอยู่ 1 SME

คนไทยจำนวนไม่น้อย จึงมีความคุ้นเคยกับ SME และได้เข้าใจไปว่า Start Up ก็คือชื่อเรียกใหม่ ของ SME

แต่แน่นอนครับ ตามนิยามของ Start Up ที่ใช้กันในระดับสากล ประเทศไทย ไม่ได้มี อยู่ 3 ล้าน Startup และจำนวนของ Start Up ในประเทศไทย อยู่ที่หลักร้อยถึงหลักพันเท่านั้น

ความแตกต่างตามนิยามที่ใช้โดยทั่วไปในระดับสากลมีดังนี้

Start Up มุ่งเน้นการเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นอันดับแรก เพื่อพัฒนาเข้าสู่การเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมและธุรกิจระดับUnicornภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือปี โดยไม่ได้มุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไร แต่มุ่งเน้นที่การนำเสนอสิ่งใหม่ ที่Disruptอุตสาหกรรมเดิม หรือเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาเลย และเป็นผู้นำในตลาดระดับประเทศหรือทวีปหรือโลก นับจากวันแรกที่เริ่มต้นธุรกิจ

SME มุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไรของธุรกิจเป็นอันดับแรก เพื่อประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนและปลอดภัย ด้วยการให้บริการอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำของอุตสาหกรรม แต่ประกอบธุรกิจด้วยหาช่องวางในตลาดท้องถิ่นที่มีความคุ้นเคยหรือมีข้อได้เปรียบ

ดังนั้น ความแตกต่างที่สำคัญที่สุด ก็คือ Start Up จะต้องมีสิ่งใหม่ ที่สามารถ Disrupt อุตสาหกรรมได้ ในขณะที่ SME สามารถอยู่รอดได้ ด้วยการอาศัยช่องว่างในตลาดท้องถิ่นเท่านั้น และ Start Up ที่ประสบความสำเร็จ ก็จะเติบโตสู่การเป็นขนาดของธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ในเวลาไม่กี่เดือนหรือปี และก็จะหลุดจากขนาดของ SME ตามกฎหมายไทยในทันที ซึ่งได้นิยามไว้ว่ารายได้ไม่เกิน500ล้านบาท

นอกเหนือจากนี้ SME ส่วนมาก โดยเฉพาะในประเทศไทย จะใช้เงินทุนของเจ้าของ หรืออาจมีการกู้ยืม แต่ท้ายที่สุดการเป็นเจ้าของส่วนใหญ่ก็จะยังอยู่ในชื่อของผู้ก่อตั้ง จึงเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์ในการสืบทอดต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

แต่ Start Up เกือบทั้งหมด จะใช้เงินทุนของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น  Angel Investor, Venture Capital หรือนักลงทุนอื่นๆ เพราะหากสิ่งใหม่ที่่ผู้ก่อตั้งนำเสนอ เป็นแนวคิดที่สามารถ Disrup tอุตสาหกรรมได้ และทีมงานมีความรู้ความสามารถพอก็จะมีนักลงทุนมาช่วยลงทุนให้เอง

ในแง่มุมหนึ่ง ผู้ที่จะทำ SME ได้ อาจมีข้อได้เปรียบหากมีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ผู้ที่จะทำ Start Up ขอเพียงมีไอเดียใหม่ กับ ความรู้ความสามารถ ก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องแหล่งทุน จึงเป็นเวทีแข่งขันที่มีความเท่าเทียม

นอกเหนือจากนี้อีกเช่นกัน ในขณะที่ SME ส่วนมากไม่ต้องการที่จะขายกิจการ แต่ต้องการที่จะสืบทอดธุรกิจสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ Start Up พร้อมที่จะขายทุกเมื่อ รวมทั้ งAngel Investor, Venture Capital หรือนักลงทุนอื่นๆ ที่มาช่วยสนับสนุน ก็พร้อมที่จะขายได้ทุกเมื่อเช่นกัน เมื่อ Start Up ประสบความสำเร็จ และผู้ก่อตั้งรวมทั้งนักลงทุนต่างได้กำไรเป็น 10 เท่า 100 เท่า หรือ 1,000 เท่า โดยเฉพาะเมื่อก้าวสู่ขั้นของการเป็น Unicorn ผู้ก่อตั้งและนักลงทุนเหล่านี้ ก็จะนำกำไรที่ได้ไปลงทุนใน Start Up แห่งใหม่ทันที

ซึ่งการขายของ Start Up ในวงการเรียกว่าการ Exit ถือเป็นความสำเร็จอันสูงสุดของคนที่ทำ Start Up

กลไกในการสนับสนุนจึงต้องมีความแตกต่าง ระหว่าง Start Up และ SMEซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดนโยบายสนับสนุนการ Exit ของธุรกิจ Start Up เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้าน ที่มี Unicorn ไปก่อนหน้าเราแล้ว

ไม่ว่า SME หรือ Start Up ล้วนมีความเสี่ยง แต่ Start Up มีความเสี่ยงสูงกว่าอย่างแน่นอน แต่ก็มีผลตอบแทนที่สูงกว่ามากถ้าประสบความสำเร็จ จึงไม่สามารถพูดได้ว่า SME หรือว่า Start Upจะดีกว่า ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับต้นทุน และเป้าหมายในชีวิตของแต่ละคน รวมทั้งความกล้าและความพร้อมในการเผชิญความเสี่ยงด้วย

อย่างไรก็ดี ความสำคัญของ Start Up โดยเฉพาะการจำนวนของ Unicorn ในประเทศ ไม่ได้บ่งชี้ถึงความโก้หรู เพื่อตามกระแสตามเทรนด์ของชาวโลก แต่ Start Up ที่เติบโตขึ้่นมาเป็น Unicorn ย่อมเป็นการ Disrupt อุตสาหกรรมเดิม และ เป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือที่เรียกในอีกภาษาหนึ่งว่า S-Curve ที่จะเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคตข้างหน้า และจะทดแทนอุตสาหกรรมเดิมของประเทศ ที่จำนวนหนึ่งก็เริ่มเข้าสู่ Sunset แล้ว

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ธุรกิจจำนวนมาก ที่เป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ในระดับประเทศ แต่ในระดับโลก ก็ได้เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจ Start Up ที่ได้ Disrupt อุตสาหกรรมเดิมมาก่อน