โมเดลธุรกิจ Future-ready?

โมเดลธุรกิจ Future-ready?

ปี 2564 คงเป็นเป็นอีกปีที่ยากลำบากของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็น Legacy Business Model

            Legacy Business Model คือธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ บริการ และโมเดลธุรกิจที่เป็นมรดกตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีรายได้ส่วนใหญ่ที่หล่อเลี้ยงบริษัทมาจากฐานลูกค้ากลุ่มเดิม มีช่องทางการขายสินค้าและบริการที่ยังอิงกับฐานลูกค้าเดิม หรือบางธุรกิจอาจมีเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่เคยใช้สร้างความแตกต่างได้ในอดีต แต่ไม่สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงหรือนำมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างได้แล้วในปัจจุบัน     

              เมื่อ Covid Disruption ได้คืบคลานเข้ามา สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศโดยส่วนใหญ่ยังคงเป็น Legacy business ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก การเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต อุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว และ ภาคบริการทั้งหมด ถึงแม้จะมีความพยายามที่จะนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาต่อยอดผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่ แต่ก็ยังคง “ติดกับฐานรายได้เดิมและยังจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเดิมขององค์กรที่มีอยู่

ความท้าทายของทุกธุรกิจจึงอยู่ที่ การแสวงหารูปแบบการบริหารจัดการที่มีไดนามิกเพียงพอที่จะนำไปสู่การปรับองค์กรและโมเดลธุรกิจให้มีความ “Resilience” นั่นคือมีขีดความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้น โดยยังสามารถอยู่รอดและเติบโตได้

            ในการปรับตัวขององค์กรธุรกิจจากวิกฤติครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ McKinsey ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้นำองค์กรกว่า 300 แห่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19  ผลสำรวจพบว่า กว่า 40% ของผู้บริหารองค์กรยอมรับว่า Covid Disruption ทำให้ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรลดลง มีเพียงแค่ส่วนน้อย 20% ที่มองว่าองค์กรยังคงความได้เปรียบ ได้สร้างโอกาสใหม่ๆและมีความสามารถในการแข่งขันที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

            ปัจจัยหลักที่ทำให้องค์กรธุรกิจมองวิกฤติครั้งนี้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญก็คือ องค์กรธุรกิจที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในด้านการสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรม มีแบรนด์ที่แข็งแรง และ มีผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความแตกต่างเฉพาะตัว มักจะปรับตัวได้เร็วและสามารถนำเอาโมเดลธุรกิจใหม่มาใช้ได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนโมเดลการขายและการบริการ สู่รูปแบบที่เป็น “Fully Digital”  การหาพาร์ทเนอร์ใหม่ เช่นกลุ่ม Telco ผนึกกับบริษัทประกันและผู้ให้บริการทางการแพทย์ นำเสนอธุรกิจเทเลเมดิซีน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่จับมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ผันตัวมาให้บริการด้าน Virtual Event และ Virtual Experience อย่างเต็มรูปแบบ หรือในด้านของซัพพลายเชน หลายบริษัทที่เคยโฟกัสผลลัพธ์อยู่ที่ ถูก-เร็ว-ดี ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้โมเดลการบริหารจัดการแบบ ลดเสี่ยง-ยืดหยุ่นสูง

            การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อรองรับอนาคตที่มาก่อนกาล องค์กรธุรกิจจำเป็นจะต้องตั้งเป้าหมายที่เด็ดเดี่ยวมองทะลุขีดจำกัดเดิม และกล้าที่จะเดิมพันกับทางเลือกใหม่ๆ โดยวางแผนรับมือสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในหลายมิติ (Scenario Planning) เพื่อให้แต่ละส่วนขององค์กรสามารถใช้กลยุทธ์เชิงรุกและตัดสินใจกับโมเดลธุรกิจใหม่ได้ทันการณ์ และเหนือสิ่งอื่นใดองค์กรที่จะ Future-ready จำเป็นจะต้องมีผู้นำองค์กรที่มีความสามารถเชิงพลวัต (Dynamic capability) เพื่อทำให้ทุกองคาพยพของธุรกิจพร้อมเดินหน้าและกล้าที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน.